บทเรียนจากอรุณี


เราอาจจะทำไม่ได้ดีจริงๆอย่างที่ควรทำ

อรุณี ผู้ถูกละเลยโดยไม่ตั้งใจ

 

       หลายครั้งแล้วที่ อรุณี ต้องถูกส่งมาโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง เนื่องจากการพยายามฆ่าตัวตายโดยการกินยาฆ่าแมลง  พี่พรรณีหัวหน้าตึกยังจำได้ว่า ครั้งแรก อรุณี ดื่มแลนเนทมาค่อนข้างมาก ดีแต่ว่า ญาตินำส่งรพ.ได้อย่างรวดเร็ว ทุกคนที่รพ.ต้องพยายามล้างท้องเธอค่อนคืน ท่ามกลางความไม่พร้อมของการปฏิบัติงานยามค่ำคืนที่ห้องฉุกเฉิน  แต่เธอจึงรอดชีวิตได้อย่างปาฎิหารย์  กรณีของอรุณี ก็ได้รับการนำไปทบทวนกระบวนการคุณภาพจากทีมดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นความพร้อมของห้องฉุกเฉิน อย่างเต็มที่


       แต่แล้ว เกือบทุกเดือน อรุณีก็กลายเป็นขาประจำของห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล  ถ้าไม่กินยานอนหลับทีละมากๆ ก็ดื่มยาแลนเนท หรือพยายามทำร้ายตัวเองด้วยสารพัดวิธี  แต่ทั้งญาติและเจ้าหน้าที่รพ.ก็เริ่มรู้สึกว่า อรุณีทำไป เพื่อเรียกร้องความสนใจมากกว่าที่ จะอยากตายจริง

 

       ไม่เป็นอะไรมากนะ อรุณี คราวนี้กลืนแลนเนทลงท้องนิดเดียวใช่ไหม  คงไม่ต้องล้างท้องมากเหมือนทุกทีนะ  นอนรพ.สักคืนเดียวพรุ่งนี้ก็กลับได้อย่างทุกทีนั่นแหละ  พี่พยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน บอกกับอรุณีและญาติที่มาส่ง ท่ามกลางความรู้สึกเบื่อหน่ายของทุกๆคน  การให้บริการกับอรุณีเดี๋ยวนี้ก็ไม่เป็นปัญหาของห้องฉุกเฉินและตึกผู้ป่วยในอีกแล้ว 


            แม้พยาบาลและแพทย์ที่ให้การดูแลอรุณี จะเห็นแววตาที่หม่นหมองของอรุณี  แต่ทุกสิ่งที่สัมผัสได้ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องแสนธรรมดาของผู้ป่วยที่มารับบริการซึ่งบุคลากรทุกคนรู้เห็นเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ  อรุณีก็จะถูกส่งจากห้องฉุกเฉิน ไปนอนที่หอผู้ป่วยใน  มีพยาบาลให้คำปรึกษาไปคุยด้วยเกือบทุกครั้ง ทุกครั้งก็จะได้รับข้อมูลว่า อรุณี มีความคิดน้อยใจว่า พ่อของเธอไม่รักเธอ ขออะไรก็ไม่เคยได้ อยากได้อะไรก็ไม่ได้รับการตอบสนอง  ยิ่งไม่ได้เธอก็ยิ่งประชดด้วยการขอนั่นขอนี่และลงเอยด้วยการทำร้ายตัวเองแทบจะทุกครั้ง   พยาบาลให้คำปรึกษาได้แต่ระบุปัญหาว่าสาเหตุของการทำร้ายตนเองคือ ปัญหาภายในครอบครัว” “กระทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ มิได้พยายามฆ่าตัวตายจริง  บันทึกสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแก่ผู้ป่วยคือ การให้คำปรึกษา” (เหมือนทุกครั้ง??) “แจ้งญาติให้ความเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วย  ระมัดระวังจัดเก็บยาและสิ่งของที่เป็นอันตรายให้พ้นมือและการเข้าถึงของผู้ป่วย  ซึ่งก็เป็นบันทึกเดิมๆที่ทีมดูแลผู้ป่วยจะเห็นอยู่ทุกๆครั้ง และไม่มีใครให้ความสนใจมากไปกว่าการบันทึกการปฏิบัติงานตามหน้าที่


           รายงานแพทย์เวร  ผู้ป่วยดื่มกรัมมอกโซน ปริมาณประมาณครึ่งแก้ว ประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนถูกนำส่งรพ. ผู้ป่วย รู้สึกตัวพอพูดคุยรู้เรื่อง  สัญญาณชีพปกติ หายใจไม่สะดวก และมีแผลไหม้ในปากและคอค่อนข้างมาก  ได้ให้สารน้ำทางหลอดเลือดไว้แล้ว ........  วันนี้ห้องฉุกเฉินวุ่นวายกว่าทุกวัน  แต่ก็ไม่เกินความสามารถของทีมงานที่มีความพร้อมมากพออยู่แล้ว  ลึกๆในใจของทุกคนก็รู้สึกดีว่า แม้อรุณีจะรอดจากห้องฉุกเฉินในวันนี้ได้  แต่การดื่มสารพิษร้ายแรงชนิดนี้คงทำให้อรุณีต้องเสียชีวิตจากอวัยวะภายในล้มเหลวในที่สุดในเวลาไม่กี่วันข้างหน้า


         พี่ช่วยหนูด้วย หนูไม่อยากตาย....พ่อจ๋า..หนูขอโทษ หนูรักพ่อ...  เสียงเพ้อแผ่วเบา ที่เปล่งออกจากปากอย่างยากเย็นจากอรุณี ซึ่งสติและความรับรู้กำลังแย่ลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้พยาบาลหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว เมื่อเข้ามาให้การดูแล  ในใจอยากให้อรุณีอาการดีขึ้นทั้งๆที่ต่างก็รู้ว่าช่างเป็นความหวังที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับอรุณี  ในขณะที่อีกหลายคนนึกตำหนิพ่อของอรุณีอยู่ลึกๆที่ไม่เข้าใจความรู้สึกและการกระทำประชดประชันของลูกสาวหลายต่อหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องความรักจากพ่อ  จนนำพาสู่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าที่กำลังจะถึงวาระสุดท้ายในครั้งนี้


            ไม่มีใครไม่รักลูกตัวเองหรอกครับคุณหมอ   ครอบครัวเรากำลังลำบากเหลือเกินครับ  เรามีหนี้สินจากกิจการที่ล้มละลายมากมาย    ผมไม่สามารถให้สิ่งที่ลูกสาวร้องขอครั้งแล้วครั้งเล่า     ผมไม่กล้าบอกกับลูกว่า ทำไมแกจึงไม่ได้สิ่งที่อยากได้  ทุกวันนี้ผมต้องทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ครอบครัวมีอาหารกินในแต่ละวัน  แต่ก็ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมลูกถึงเรียกร้องมากขึ้นทุกวันและต้องทำร้ายตัวเอง  ผมเสียใจมากครับที่ไม่ทราบเลยว่าตัวเองเป็นต้นเหตุ  เป็นเหมือนคนไม่รักลูก จนมองข้ามความใส่ใจต่อความรู้สึกของลูก จนต้องเกิดเหตุการณ์อย่างนี้  พ่อของอรุณีสารภาพด้วยน้ำตาคลอ กับคุณหมอและทีมงานที่มาแจ้งถึงอาการระยะสุดท้ายและโอกาสรอดที่ริบหรี่ของอรุณี 


            ในวันรุ่งขึ้น อรุณีก็จากไป  แต่ความค้างคาใจยังคงวนเวียนอยู่ในใจของทีมดูแลผู้ป่วยทุกคน จนต้องหยิบยกเรื่องนี้มาทบทวนกันอีกครั้ง


           เราคงพลาดอะไรไปเยอะเลยครับในกรณีของอรุณีคุณหมอเริ่มเปิดประเด็น  เรามัวแต่คิดว่าเราเอาปัญหาการดูแลที่ห้องฉุกเฉินเพื่อการปรับปรุงความพร้อมของการให้บริการฉุกเฉินจนได้คุณภาพแล้ว  แถมเราก็คุยกันค่อนข้างมากกับการบริการที่หอผู้ป่วยในในเวลาที่ผ่านมา


          แต่เราก็มีความพร้อมในห้องฉุกเฉินแล้วจริงๆนี่คะ แม้แต่กรณีที่ช่วยเหลืออรุณีครั้งสุดท้าย ทุกอย่างก็สมบูรณ์นี่คะ ”  พยาบาลห้องฉุกเฉินให้ความเห็น


         หนูเห็นด้วยนะคะ เพราะหลังอรุณีเสียชีวิต  กลุ่มพยาบาลได้ทบทวนการบริการทางการพยาบาลทั้งที่ห้องฉุกเฉินและที่หอผู้ป่วยใน ก็ไม่พบปัญหาความเสี่ยงของการให้บริการเลยนี่คะ น้องพยาบาลหอผู้ป่วยในให้ความเห็นเพิ่มเติม


         พี่ว่า คุณหมอคงไม่ได้คิดประเด็นนั้นนะคะ พี่หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลรีบตัดบท  และให้ความเห็น เมื่อเห็นสีหน้าของน้องๆไม่สู้ดีนัก


         “ ใช่ครับพี่ ผมไม่ได้เจตนาจะว่าน้องที่ห้องฉุกเฉินหรือหอผู้ป่วยว่าทำอะไรบกพร่อง  แต่ ผมคิดทบทวนการทำงานของพวกเราในภาพรวมว่า ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับ ประเด็นความเสี่ยง และความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับบริการอย่างดีมากขึ้นมาก  แต่ในความเห็นของผมเอง  ผมรู้สึกว่า  สิ่งที่เราทำยังตอบคำถามการบริการแบบที่เราเรียกกันว่า มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง  ไม่ได้ตรงประเด็นเท่าที่ควรครับ   บางทีดูเหมือนเราให้ความสำคัญกับการทบทวนเพื่อปรับปรุงคุณภาพ คล้ายกับเพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานและองค์กร โดยมี ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นผลพลอยได้


            คุณหมอ หยุดถอนหายใจสั้นๆ  คล้ายกับสารภาพอะไรบางอย่างอยู่ในใจ


           เรื่องอรุณี ทำให้ผมต้องมาทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองว่า  ผมรู้สึกเสมอมาว่า เราทำได้ดีครบถ้วนตามวิชาการและมาตรฐานที่ห้องฉุกเฉิน  และยังดูแลเขาเต็มที่หอผู้ป่วยใน หลายต่อหลายครั้งที่อรุณีมาพึ่งพาเรา  ผมเริ่มเห็นว่า  เราอาจจะทำไม่ได้ดีจริงๆอย่างที่ควรทำ   เราคงมองข้ามประเด็นสำคัญๆไปหลายประเด็น


          เราไม่เคยให้ความสำคัญกับรากเหง้าของปัญหาของอรุณี  ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่นำสู่ความน้อยเนื้อต่ำใจของอรุณี และทำให้ทำร้ายตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า


           น้องพยาบาลจากหอผู้ป่วยใน ยกมือขอแสดงความคิดเห็น


          แต่คุณหมอคะ เราจะเข้าไปจัดการปัญหาครอบครัวของผู้ป่วย ได้หรือคะ ที่ผ่านมาหนูทราบว่าพี่ฝ่ายงานจิตเวชก็พยายามให้คำปรึกษาตามขั้นตอนการทำงานทุกครั้งแล้วนี่คะ ใช่ไหมคะพี่   พูดพลางเหลียวไปขอความเห็นจาก พี่พยาบาลให้คำปรึกษาที่มานั่งประชุมอยู่ด้วย


         ได้ยินคุณหมอพูดอย่างนี้แล้ว เห็นด้วยอย่างมากค่ะ  ทำให้ต้องทบทวนตัวเองมากๆเลยเหมือนกัน พยาบาลให้คำปรึกษาแทรกขึ้นมา   ขอสารภาพเลยค่ะว่า ตัวเองรู้สึกเบื่อเหมือนกันเมื่อ ทีมดูแลผู้ป่วยเรียกให้มาคุยกับอรุณีก่อนจำหน่ายตั้งหลายครั้ง  ทีมดูแลผู้ป่วยก็ดูแลด้านอาการโรคไป หนูก็จะถูกเรียกมาทีหลังเหมือนมาทำให้ครบกระบวนการ แต่ก็พบว่าเป็นปัญหาเดิมๆวนเวียนไปมาไม่รู้จบ   แถมไปคุยกับอรุณีทีไรก็ไม่เคยได้พบคุณพ่อของน้องเขา  ตัวเองก็เลยพาลมีอคติต่อ คุณพ่อของอรุณี มากขึ้น   แต่ในวันสุดท้ายก่อนอรุณีเสียชีวิต ได้ฟังความจริงที่คุณพ่อเขาเล่าให้พวกเราฟัง ถึงเรื่องที่เกิดจริงในครอบครัว และความไม่เข้าใจต่างๆที่เขามีต่อพฤติกรรมของลูกสาว   หนูพูดไม่ออกเลยค่ะ หนูรู้สึกว่า เราเข้าไม่ถึงบริบทที่จำเป็นต้องรู้ของผู้ป่วยและครอบครัวที่จะมีผลต่อแนวทางการรักษา  อีกทั้งเราทำหน้าที่ที่จะต้องทำให้คุณพ่อไม่เข้าใจเรื่องต่างๆที่เขาควรเข้าใจ  ได้ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อรุณีมาครั้งแรกๆ  


            ยอมรับเลยค่ะ  ว่าไม่ได้พยายามมากพอจริงๆ แม้ว่าการจัดการกับปัญหาครอบครัวของผู้ป่วยจะเป็นเรื่องใหญ่  แต่มานึกได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้าหนูจะพยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจกับคุณพ่อของอรุณีในสิ่งที่น้องเขาแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ   และสร้างโอกาสให้ อรุณีและคุณพ่อได้มีโอกาสปรับทุกข์ พูดความจริงต่อกัน  มากกว่าสิ่งที่บอกผ่านอรุณีและญาติไปทุกครั้งซึ่งถ้าเขาทำได้อย่างที่เราแนะ อรุณีคงไม่กลับมานอนรพ.เราเกือบสิบครั้ง  


           “ ได้ยินพี่พูดอย่างนี้แล้วตาสว่างเลยค่ะ  ทำงานอยู่ห้องฉุกเฉิน หนูก็เห็นแต่เหตุฉุกเฉินตลอด  ทำอะไรก็เอาสถานการณ์อาการและโรคเป็นตัวตั้งตลอด  แทบจะเห็นญาติเป็นเพียงคนให้ข้อมูลที่อยากรู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น พยาบาลห้องฉุกเฉินสะท้อนความรู้สึกออกมาบ้าง


           “ พวกหนูก็เหมือนกันค่ะพยาบาลหอผู้ป่วยในให้ความเห็นบ้าง เรามีตั้งเวลาเยอะแยะมากมาย  ทุกครั้งที่อรุณีมานอนป่วยที่รพ.  ที่จะพูดคุยทักทาย ให้กำลังใจ  เสริมพลังอำนาจให้เข้มแข็งที่จะต่อสู้กับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ  แต่เรากลับลืมกันไป  มัวเอาแต่ความสมบูรณ์ของหน้าที่บริการตามที่ได้รับมอบหมายในแต่ละเวร  พาลไปมองว่าหน้าที่คุยให้คำปรึกษาพี่ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษารับหน้าที่รับผิดชอบไปแล้ว


           พี่หัวหน้าพยาบาลสังเกตเห็นบรรยากาศหม่นหมอง จึงกล่าวขึ้นว่า  พี่เห็นด้วยมากๆเลยในสิ่งที่คุณหมอ และน้องๆสะท้อนความรู้สึกออกมา  แต่น้องอย่าตำหนิตัวเองเลย เราทุกคนก็คงพลาดอะไรๆที่สำคัญสำหรับชีวิตของอรุณีไปครั้งแล้วครั้งเล่า  พี่ว่าเราทุกคนละเลยการมองอรุณีอย่างที่อรุณีเป็น  เพิกเฉยต่อการทำความเข้าใจปัญหาอรุณีและของครอบครัวเขาอย่างลึกซึ้งถึงจิตใจและปัญหาทั้งตัวของผู้ที่มาพึ่งพาเรา   เราจึงมองเห็นแต่เพียงโรคและอาการที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า  และมองข้าม ความเสี่ยงสำคัญอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ได้ด้อยความสำคัญไปกว่า ความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงในการให้บริการที่เราทบทวนกันอยู่ทุกวันเลย   นั่นคือ ความเสี่ยงของการที่เราละเลยต่อปัญหาในมิติองค์รวมของผู้ป่วยและครอบครัว  ที่จะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและญาติทั้งที่รพ.และที่บ้าน  และการชักนำกลับมาป่วยซ้ำซากด้วยโรคที่เราป้องกันได้  ” 


         พี่พยาบาลหยุดคิดนิดหนึ่ง  ก่อนกล่าวต่อว่า


         ถ้าเราช่วยกันทำให้ทีมดูแลผู้ป่วย มาร่วมกันอย่างจริงจังในการทบทวนประจำวัน โดยไม่ลืมเอาที่มาที่ไปวิถีชีวิต อารมณ์ จิตใจ ของผู้ป่วย ญาติและครอบครัว มาใช้เป็นบรรทัดฐาน เพื่อการเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดในการบริการแก่ผู้ป่วยเท่าที่เราจะมีให้ได้   เราคงสามารถพูดได้ว่า ดูแลโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง อย่างแท้จริง


        ทุกคนผงกหัว อย่างเห็นด้วย เริ่มมีรอยยิ้มปรากฎบนใบหน้า  คุณหมอกล่าวปิดท้ายว่า


        ครับ ผมขอบคุณทุกคนที่เสนอความคิดเห็น และพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  มันช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมอย่างมาก ว่าคนเป็นหมอก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการดูแลผู้ป่วยในส่วนที่มากกว่าความรู้ทางวิชาการทางการแพทย์ได้อีกมาก  ถ้าเราใช้บรรยกาศของการร่วมมอง  โดยช่วยกันเอาบทเรียนที่ได้จากเรื่องของอรุณี มาใช้ในการทบทวนและพัฒนาการทำงานของทีมดูแลผู้ป่วย ให้เป็นสหสาขาวิชาชีพ ที่แท้จริง  น่าจะทำให้การดูแลผู้ป่วยของพวกเราเป็นไปอย่างมีคุณภาพโดยครอบคลุมมิติองค์รวม และการเพิ่มพลังอำนาจแก่ผู้ป่วย ญาติแม้แต่พวกเรากันเอง ในอนาคตนะครับ


              ค่ะคุณหมอ  เราเอาด้วยค่ะ ทุกคนกล่าวขึ้นเกือบจะพร้อมๆกัน ด้วยรอยยิ้มและประกายแห่งความกระตือรือล้น


             ในวันนั้น แม้การประชุมจะเริ่มต้นด้วยความเศร้า แต่ก็ลุล่วง และจบลงด้วยบรรยากาศที่คลี่คลาย  ทุกคนได้มีโอกาสที่จะพิจารณาลึกลงไปถึงจิตใจความรู้สึกของตนเอง นำสู่คำสัญญาที่มีพลังอย่างหนักแน่นที่จะร่วมกัน  ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมเพื่อการมุ่งสู่เป้าหมาย การบริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง  ด้วยศักยภาพของทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่แท้จริง

 

อุทิศแก่อรุณีผู้จากไป บทเรียนจากน้องคงจะช่วยผู้คนได้อีกมากมายนะครับ

วราวุธ


 

คำสำคัญ (Tags): #ีhumanized health care
หมายเลขบันทึก: 238953เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2009 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท