นวัตกรรมการเรียนรู้


การเรียนรู้

เยี่ยมสถานการศึกษา- ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท เรียนรู้ผ่านนวัตกรรม-ครูพันธุ์ใหม่

โดย คม ชัด ลึก วัน อังคาร ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551 14:18 น.
 
  ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท เป็นโรงเรียนเล็กๆ ใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น เดิมครูส่วนมากเปิดตำรา เอกสารสอนอย่างโรงเรียนอื่นๆ แต่เมื่อ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)

นำโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาในชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการเรียนแบบเปิด (Open Approach) เข้ามา การเรียนการสอนเน้นสร้างกระบวนการคิดให้แก่เด็ก ภายใต้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป”

คำบอกเล่าของ อ.อุกฤษฏ์ ชำนาญไพร ผู้อำนวยการ ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท ถึงการเรียนการสอนของครู ก่อนเข้าเป็น 1 ใน 4 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการของศูนย์

อ.อุกฤษฏ์ เล่าว่า ครูส่วนมากเข้าใจว่าเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสอนเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยมองว่า สิ่งที่ครูป้อนให้แก่เด็กนั้น ทำให้เด็กได้เข้าถึงกระบวนการคิดของวิชานั้นๆ มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ครูตั้งคำถาม โจทย์ ที่มีคำตอบ สูตรอยู่แล้ว และให้เด็กคิดตาม ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้ใช้ความคิดของตัวเอง เมื่อเด็กได้คำตอบ ก็มองว่าเด็กเก่ง

ในความเป็นจริง “เด็กมีอิสระ มีความคิด ที่สามารถหาคำตอบ ได้โดยวิธีของเขาเอง” ผอ.ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท เล่าต่อว่า โครงการวิจัยของ ผศ.ดร.ไมตรี กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างวัฒนธรรมการสอนแบบใหม่ให้ครู คำนึงถึงการสอนในชั้นเรียน ไม่ใช่เพียงการพูดหน้าชั้น และให้เด็กกลับไปท่องจำสูตรแบบนกแก้วนกขุนทอง

“การเปลี่ยนแปลงการสอนครูพันธุ์เก่า ให้ยอมรับการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก และเสียสละเวลาร่วมกันในการทำแผนการสอนไม่ใช่เรื่องง่าย การที่ให้ครูปรับเปลี่ยนนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเป็นสื่อการสอน จึงต้องเริ่มโดยทำให้ครูเห็นว่า นวัตกรรมการสอนแบบใหม่ ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของเด็กได้จริง และครูสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กคิดได้”

นอกจาก “ผู้บริหาร ร.ร. และครู” ที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ตำราเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน

อ.อุกฤษฏ์ เล่าต่อไปว่า ตำราเรียนที่ใช้ เป็นการผสมผสานควบคู่ระหว่างตำราเรียนจากประเทศญี่ปุ่น และไทย เพราะเด็กต้องมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาของ ศธ. เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่า ส่วนนวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง “แพทเทิร์น บล็อก” ที่ ผศ.ดร.ไมตรีนำเข้ามาใช้ในงานวิจัย เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาทั้งเด็กและครู ให้เกิดกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท” สร้างมาตั้งแต่ปี 2453 บนเส้นทางถนนแจ้งสนิท ห่างจาก อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพียง 59 กิโลเมตร แต่ “โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้” ไม่ถูกกลืนไปตามสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป ยังคงตลบอบอวลไปด้วยวิถีชีวิต ผสมผสานกับความร่มรื่นของต้นไม้ ใบหญ้า เสียงเล็กๆ เจี๊ยวจ๊าว บนอาคารไม้ 3-4 หลัง ดูแล้วช่างเป็นโรงเรียนที่น่าอยู่ และหายากยิ่งในเมืองกรุง

โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เด็กไม่หลงลืมวิถีชีวิต บรรพบุรุษของตนเอง

รวมทั้งจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะเด็กต้องได้รับการดูแลที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี อบอุ่น ดั่งบ้านของเขา ทำให้พวกเขามีความสุข พร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ครูถ่ายทอดให้” อ.อุกฤษฏ์ เล่า

การเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างครูกับเด็ก เป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางด้านวิชาภาษาไทย อังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ได้อย่างดีเยี่ยม ดูได้จากการเรียนรู้ของเด็กทั้งหมด 580 คน ระดับปฐมวัย 146 คน ประถมศึกษา 434 คน ภายในชั้นเรียน 19 ห้องเรียน ที่พร้อมไปด้วยความรู้ทั้งทางด้านวิชาการ กิจกรรมสร้างสรรค์ และวิถีชีวิตของชุมชนตนเอง

“การปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้บริหาร ครูทุกคนต้องร่วมกันปรับวิธีการเรียน เปลี่ยนวิธีสอน โดยร่วมกันจัดทำแผนการสอน เพื่อบูรณาการทุกวิชาเข้าด้วยกัน เพราะการปั้นให้เด็กเก่ง และเป็นคนดีได้ ครูทุกคน ผู้บริหาร และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่ภายในสาขาวิชาที่สอน จนขยายไปถึงระดับโรงเรียน ไม่ใช่ทำงานแบบตัวใครตัวมัน มุ่งแต่หารายได้ ยศ ตำแหน่งให้แก่ตนเอง เพราะเด็กจะดีได้ ต้องมาจากครูทุกคนในโรงเรียนที่ช่วยกันสนับสนุน เพิ่มเติมความรู้ ปลูกฝังความเป็นคนดี”

“เด็กเล็ก” เปรียบเสมือนผ้าขาว ที่พ่อแม่ ครู ต้องคอยช่วยกันแต่งแต้ม เติมสีสันและแนะแนวเส้นทางเดินของชีวิตให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่พวกเขาตั้งไว้ โดยที่ไม่ได้ไปทำลายความคิด จินตนาการ หรือความฝันของเขา

"น้องเดียร" ด.ญ.ศิริรัตน์ ลุนจันทร์ อายุ 11 ชั้น ป.5 เล่าด้วยแววตาเปี่ยมสุขว่า ก่อนที่โครงงานวิจัยของ ผศ.ดร.ไมตรี จะเข้ามานั้น เธอเรียนตามตำราเอกสารที่ครูนำมาสอน โดยเฉพาะวิชาเลข มีแต่โจทย์ให้ทำ หาคำตอบตามวิธีคิดที่ครูบอก แต่เมื่อได้เรียนคณิตศาสตร์ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ สื่อการเรียนการสอน และหนังสือเรียนจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์สนุกมากขึ้น มีอิสระในการคิด ไม่ยึดติดกับวิธีที่ครูบอกอย่างเดียว

คณิตศาสตร์” กลายเป็นวิชาที่สนุกที่สุดสำหรับ น้องเดียร์ แต่ใช่เฉพาะการเรียนผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้นที่ทำให้ “น้องเดียร์” กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ เพราะทุกๆ กระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านจริยธรรม วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และความรัก ความอบอุ่นที่ครูมอบให้ ล้วนทำให้เธอและเพื่อนๆ ไม่เคยย่างกรายเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี

วัฒนธรรมการสอนแบบใหม่ ผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ สื่อการสอน ที่ครูทุกคนต้องร่วมกันวางแผน โดยมีนักวิจัย เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำ ทุกอย่างที่ ครู ร.ร.ชุมชนบ้านชนบท และนักวิจัยร่วมกันทำ เพื่อบ่มเพาะต้นกล้า ให้เจริญงอกงาม ต้านลู่ลม เป็นต้นไม้เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความร่มรื่นแก่ประเทศชาติอย่างไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงเรียน โทร.0-4328-6244 หรือ http://school.obec.go.th.chonabot


ชุลีพร อร่ามเนตร รายงาน

หมายเลขบันทึก: 238092เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2009 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท