ทำไมต้องประกันคุณภาพการศึกษา (ตอน ๓)


กำเนิด สมศ.มาจากกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๘๑ กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ เป็นผลให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๒

ติดตาม  ตอน ๒ ได้ที่  "Click"
ติดตาม  ตอน ๑ ได้ที่  "Click"


 

เมื่อมีความจำเป็นต้องประกันคุณภาพการศึกษา  ก็ต้องหาเจ้าภาพ ใครหล่ะ ที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องนี้

สำหรับการประกันคุณภาพภายใน ก็เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา เช่น กรณีของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา  หน่วยงานต้นสังกัดก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา : สกอ. (ชื่อเดิมคือ ทบวงมหาวิทยาลัย) และมหาวิทยาลัยนั้นๆ

สำหรับการประกันคุณภาพภายนอก  หน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา : สมศ.

          นิยามของการประกันคุณภาพภายใน  คือ

      และ นิยามของการประกันคุณภาพภายนอก  คือ

       

          สมัยที่ดิฉัน ต้องเข้ามารับหน้าที่เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ  พร้อมรับผิดชอบงานประกันคุณภาพของคณะสหเวชศาสตร์ด้วย  ตอนนั้น ประมาณ ปี 44 - 45 - 46 ดิฉัน เริ่มงานด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของคณะฯ ก่อน

          สิ่งที่ทำเป็นประจำอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นคอลัมนิสต์เขียนข่าวลงสารสหเวชสัมพันธ์ ในคอลัมน์ประกันคุณภาพ ใช้นามปากกาว่า อิ๊กคิวซี  มีอยู่ฉบับนึง ที่ดิฉันเขียนแนะนำ สมศ. ให้บุคลากรรู้จัก  จั่วหัวเรื่องว่า "สมศ.กับการเลื่อนนัด"  (ช่วงนั้น สมศ. กำลังจะมาตรวจติดตาม มน. ครั้งแรก)  ดิฉันเล่าไว้ในข่าวว่า

 "สมศ. กับการเลื่อนนัด"

โดย  อิ๊กคิวซี

          สวัสดีค่ะ  ทั้งแควนประจำและแควนขาจรทั้งหลาย  อิ๊กคิวซีเหมาเอาเองนะคะว่ามีแควนๆคอยติดตาม  แม้ว่าอาจไม่มีเลยสักเพียงผู้เดียว  อิ๊กคิวซีก็คงต้องพล่ามต่อไปอยู่ดีแหละคะ  อย่างน้อยก็จนกว่าท่านบกกอสารสหเวชสัมพันธ์จะบอกให้เลิกได้แล้ว  ระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่นี้ก็หวังเพียงว่า  ข้อความบางตอนในคอลัมน์จะพอผ่านๆตา  สักคำ สักประโยคไปยังท่านบ้าง ก็นับเป็นพระเดชพระคุณแล้ว  เพราะการสื่อสารเป็นช่องทางสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ทางหนึ่ง  โดยเฉพาะยาขมหม้อใหญ่อย่างเรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษา”เนี่ย  อิ๊กคิวซีทราบคะว่า จนป่านนี้ หลายๆท่านก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้เรื่องอยู่ดี  ดังนั้น โปรดชายตาเหลียวมองคอลัมน์ “อิ๊กคิวซี ” สักกะนิ๊ด   เผื่อเรื่องประกันคุณภาพจะกลายเป็น  โจ๊กที่เคี้ยวง่ายๆ  ไม่ระคายท้องท่านอีกต่อไป


          พูดถึงความไม่เข้าใจ  คงต้องแถลงไขเรื่อง “สมศ” กันสักยก  เพราะหลายฉบับที่ผ่านมา   อิ๊กคิวพูดถึง สมศ  โดยไม่เคยแนะนำ สมศ ให้ท่านทั้งหลายรู้จักเสียก่อน  ช่างเสียมารยาทจริงๆ

          ก่อนอื่นขอบอกชื่อเต็มของ สมศ. นะคะ    สมศ. ย่อมาจาก  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เป็น องค์กรมหาชน  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ กำเนิด สมศ.  มาจากกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๘๑ กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  เป็นผลให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๒

          ใน พรบ.การศึกษาฯ หมวด ๖ ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา ๔๙ ได้กำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรียกโดยย่อว่า "สมศ." มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๗ ตอนที่ ๙๙ก เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓


          วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง  เพื่อพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา  เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน   นอกจากนี้ต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่ง ภายในหกปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ใช้บังคับ (ภายในปี พ.ศ.๒๕๔๘)

          การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพภายนอก จำเป็นต้องเป็นองค์การมหาชนนั้น ก็เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะมีความเป็นอิสระและมีอำนาจตัดสินใจได้ทั้งในด้านการบริหาร การจัดการ และการเงินของสำนักงาน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานให้ลุล่วงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารตามสายการบังคับบัญชาของระบบราชการ

          นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาทำให้มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ปราศจากแรงกดดันที่จะทำให้ผลการประเมินภายนอกเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง อันจะก่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & Balance) อย่างแท้จริง และจะทำให้การประเมินคุณภาพภายนอก เป็นบริการสาธารณะที่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่นั้นได้ "ให้" สิ่งที่ผู้เรียน สังคม และรัฐต้องการด้วยคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพเพียงใด

          สมศ. นับเป็นเด็กที่โตเร็วมาก  พออายุเพียง 1 ปี  (28 ธันวาคม 2544) ก็สามารถ ร่างมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ได้ 8 มาตรฐาน  28 ตัวบ่งชี้  และ ณ ขณะนี้  เพียงขวบครึ่ง (17 เมษายน 2545)  ก็สามารถร่าง คู่มือความหมายของมาตรฐานและตัวบ่งชี้สมรรถนะสำคัญ (KPI : Key performance index) ออกเผยแพร่แล้ว

          ไม่เพียงเท่านั้น  สมศ.ยังมีจดหมายถามไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ถึงเวลาที่พร้อมรับการประเมินภายนอกจาก สมศ. เปรียบประหนึ่งโตเป็นสาวแล้วรอเลือกคู่ที่ถูกใจ  บรรดาหนุ่มๆ  พอได้ยินเสียงร้องเรียก ต่างพากันมาสมัครพร้อม จ่อคิวรับการประเมินเป็นทิวแถว อ๋อ!  แน่หละ  หนึ่งในนั้นย่อมต้องมีชายชาติทหารลูกพระนเรศวร  เข้าขอประลองเพื่อพิสูจน์ฝีมือด้วย  โดยท่านอธิการ มน. ของเราตอบรับให้ สมศ. มาประเมินมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ในเดือน มิถุนายน 2545 อันแสนจะใกล้เข้ามานี้แล้ว

          พรรณนามาถึงนี้  ก็ด้วยเหตุที่อยากจะเรียนให้ทราบถึงที่มาที่ไปของการเลื่อนนัด  จำได้มั้ยคะว่า  คณะสหเวชฯของเรา ได้เคยนัดแนะกับท่านกรรมการประเมินคุณภาพภายในชุดที่แล้วให้มาประเมินเราอีกในปีนี้ ในวันที่ 8 – 9 – 10 ตุลาคม 2545  แต่ด้วยเหตุที่ทุกคณะในมหาวิทยาลัยต้องพร้อมรับการตรวจสอบจาก สมศ. กำหนดนัดกับท่านกรรมการประเมินคุณภาพภายใน จึงถูกเลื่อนขึ้นเป็น วันที่ 17 –18 – 19  กรกฎาคม 2545

   
โอ  โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวันรึปล่าวน้อ!  ถ้าท่านเคยชมภาพยนตร์การ์ตูนที่อิ๊กคิวเล่นเป็นพระเอก  โดยใช้นามแฝงว่า อิ๊กคิวซัง  ละก็  จะรู้เลยว่า  ทำไม อิ๊กคิว ถึงชอบร้องว่า จะรีบไปไหน  จะรีบไปไหน………….

 

หมายเลขบันทึก: 23774เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท