ทำไมต้องประกันคุณภาพการศึกษา (ตอน ๒)


เพราะมันเป็นกฎหมาย ใครจะฝ่าฝืนไม่ทำไม่ได้

ติดตาม  ตอน ๑ ได้ที่  "Click"

ดิฉันให้เหตุผลแก่บุคลากรของคณะฯ ที่ถามดิฉันว่า "ทำไมต้องประกันคุณภาพการศึกษา? " อย่างง่ายที่สุด ว่า "เพราะมันเป็นกฎหมาย ใครจะฝ่าฝืนไม่ทำไม่ได้  และกฎหมายฉบับดังกล่าวก็คือ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั่นเอง  ข้อใหญ่ใจความในนั้น  กำหนดให้สถานศึกษาต้องดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง  เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก โดย สมศ. ทุกๆ 5 ปี "  เหมือนเด็กไร้เดียงสาที่ว่าง่ายจริงๆ บุคลากรของดิฉัน เข้าใจโดยดุษฎี ต่างร้อง อ๋อ.... แล้วว่า...เข้าใจแล้วค๊ะ...เข้าใจแล้ว... 

ที่จริง ยังมีเหตุผลลึกซึ้งกว่านั้นมาก แต่ต้องค่อยๆ ขยายความตามหลังว่า  แล้วทำไมจึงต้องตรากฎหมายฉบับนี้ ออกมาบังคับด้วย ? 

เหตุก็เพราะ...ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในหลายประการ ที่รุมเร้าผู้บริหารประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบ  ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้น ก็จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง  กล่าวคือ

 

 

๑)   ปัจจุบัน  มีความตื่นตัวในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ  ทำให้มีการแข่งขันกันในเชิงคุณภาพของการจัดการศึกษา และคุณภาพของบัณฑิตในวงการอุดมศึกษาทั้งภายในประเทศและนอกประเทศมากขึ้น  ประกอบกับ

๒)  การเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ ที่ครอบคลุมแม้กระทั่งการให้บริการทางการศึกษา อีกทั้งยังมีระบบการสื่อสารที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน  ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้เป็นสากล เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น  หรือแม้แต่กับคนในชาติเองด้วย

๓)  ความคาดหวังของสังคมต่อสถาบันอุดมศึกษา  ในอันที่จะเป็นคลังสมองของชาติ ช่วยแก้ปัญหาด้านต่างๆ ในชาติในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีความจําเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้แก่สังคมว่า สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ผลิตผลงานวิจัย และให้บริการวิชาการตลอดจนทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ

๔)  สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น  สถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้ข้อมูลสาธารณะ (public information) ที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา ผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง รัฐบาล และประชาชนทั่วไป

๕)  ภาวะสังคมที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  ก่อให้เกิดภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรต่างๆ ลดน้อยลง  สังคมจึงต้องการระบบอุดมศึกษาที่มีความโปร่งใส (transparency) มีความรับผิดชอบ และตรวจสอบได (accountability) เพื่อความชอบธรรมในการจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน

          วันนี้เป็นวันสงกรานต์  นับเป็นฤกษ์งามยามดี  เรามาช่วยกันประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อลูกหลาน เหลนโหลน ของพวกเรากันเถอะค่ะ ช่วยๆกันคนละไม่คนละมือ  ผลที่ดีย่อมก่อเกิด  และกระทบถึงเราท่านอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 23744เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2006 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เพียงแต่ว่าอย่าให้บุคลากรเห็นเป็นภาระที่ต้องทำเพิ่มจากกิจกรรมประจำวันก็แล้วกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท