"ลูกกตัญญู" นิกรือซง โต๊ะลือบาจิ เด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552


เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็น "เยาวชนแห่งชาติ"

 

          สวัสดีค่ะ สมาชิก gotoknow ทุกท่าน  ห่างหายไปหลายวัน วันนี้เลยมีเรื่องดีๆ ของเด็กคนหนึ่งที่มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่  สถาบันการศึกษาที่เธอจบมา และกำลังเรียน ตลอดจนผู้ที่ให้ทุนการศึกษาแก่เธอ  เป็นเด็กดีมากจนได้รับรางวัล "เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552" ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์เธอ จึงได้รู้ว่า กระทรวงศึกษาเลือกคนไม่ผิดค่ะ  ไปอ่านประวัติเธอกันนะคะ

นางสาวนิกรือซง โต๊ะลือบาจิ  นิสิตชั้นปีที่ 1  สาขาวิชาฟิสิกส์  คณะวิทยาศาสตร์  วิทยาเขตพัทลุง  ได้รับคัดเลือกให้เป็นเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552  จากกระทรวงศึกษาธิการ   ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552   ตึกสันติไมตรี  ทำเนียบรัฐบาล  เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552

            นางสาวนิกรือซง เป็นบุตรของนายอุเซ็ง  นางมอตีเย๊าะ  โต๊ะลือบาจิ   มีสมาชิกในครอบครัว 8 คน  อาชีพค้าขายไอศกรีมกะทิตักแบบโบราณเร่ขายตามตลาดนัด  โรงเรียน หมู่บ้าน  และในงานเทศกาลรื่นเริง เช่นวันเด็ก วันปีใหม่ วันรายอ ฯลฯ   รายได้ต่อวันไม่แน่นอนเพราะถ้าอากาศดีฝนไม่ตกจะขายได้ประมาณวันละ 200 บาท  รายได้เท่ากับรายจ่ายและจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตร และค่าอาหารของครอบครัว   จึงไม่ค่อยมีเงินเหลือเพื่อเก็บออมมากนักต้องพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดแต่ครอบครัวก็ไม่มีหนี้สินเพราะพ่อสอนเสมอว่าอย่าสร้างหนี้ให้กับตนเอง การมีหนี้จะทำให้ชีวิตไม่มีความสุข  อดดีกว่าเป็นหนี้    ดังนั้นหลังเลิกเรียนลูกๆ ทุกคนจะไปช่วยพ่อและแม่ขายไอศกรีมเป็นประจำเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว  และตั้งใจว่าจะพยายามเรียนหนังสือให้เก่งเพื่อสอบชิงทุนการศึกษาให้ได้จะได้แบ่งเบาภาระด้านการเงินของพ่อแม่

            ด้านการศึกษา นางสาวนิกรือซงจบการศึกษาชั้นประถมศึกษา  จากโรงเรียนเทศบาล 2  วัดตานีนรสโมสร    เกรดเฉลี่ย 4.00    จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี     เกรดเฉลี่ย 3.80  จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเดิม  เกรดเฉลี่ย 3.89   ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนโครงการครอบครัวอุปถัมภ์  ไปเรียนที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง   ในพระอุปถัมภ์ กรุงเทพฯ   เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา   ปัจจุบันเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี  นิสิตชั้นปีที่ 1  สาขาวิชาฟิสิกส์  คณะวิทยาศาสตร์  วิทยาเขตพัทลุง   โครงการบัณฑิตคืนถิ่นตามพระราชดำริ   ที่คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ด้านกิจกรรม  นางสาวนิกรือซง ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการชิงทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชาวไทยมุสลิมที่เรียนดี เป็นทุนต่อเนื่อง ตั้งแต่ ชั้น ม. 1- ม.6    ได้รับการอบรมโครงการ ค่ายฟิสิกส์ ช่วงชั้นที่ 4    ของคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ    เข้าร่วมโครงการตอบปัญหาเศรษฐกิจ  ณ สำนักงานภาคใต้ จังหวัดสงขลา   เข้าข่ายเพาะกล้าหมอต้นใหม่ ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการครอบครัวอุปถัมภ์  ระยะเวลา 1 ปีการศึกษา   (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6)  ณ โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ กรุงเทพฯ   จัดโดย ศอบต. และสพฐ.  ในรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ จุฬานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี    เป็นตัวแทนของนักเรียนมุสลิมทางภาคใต้ เผยแพร่วัฒนธรรมการใช้ชีวิตให้แก่เพื่อนนักเรียนในโรงเรียนสายน้ำผึ้ง   โดยจัดแสดงดีเกฮูลูในวันสถาปนาโรงเรียน  เป็นตัวแทนเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าค่ายการเรียนรู้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน    เป็นผู้นำนักเรียนฝ่ายส่งเสริมอนามัย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน   เข้ารับการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครลูกเสือชุมชนป้องกันยาเสพติดเทศบาลเมืองจังหวัดปัตตานี  เป็นนักเรียนตัวอย่างในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยได้รบเกียรติบัตรนักเรียนยอดนักอ่าน จัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ปัตตานี    เข้าร่วมโครงการหมอภาษาเพื่อพัฒนาเยาวชน   เข้าร่วมการจัดทำกระทงถวายแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพันวดี  องค์อุปถัมภ์โรงเรียนสายน้ำผึ้ง เข้าร่วมงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 5  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อสมทบทุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ   เข้าร่วมทดสอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง    เข้าร่วมกิจกรรมมหาวิทยาลัยทักษิณเกือบทุกกิจกรรมอาทิ  พัฒนามหาวิทยาลัยในวันสถาปนา  เป็นรองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ชั้นปีที่ 1 ของคณะวิทยาศาสตร์  เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ ชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นพี่เลี้ยงในงานวันวิทยาศาสตร์

            นางสาวนิกรือซง กล่าวถึงความรู้สึกต่อมหาวิทยาลัยทักษิณว่า  เป็นมหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝันและตั้งใจจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีตั้งแต่ได้มีโอกาสเข้าค่ายฟิสิกส์ ช่วงชั้นปีที่ 4 ของคณะวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นในขณะนั้นตนเองเรียนอยู่ชั้น ม.4  การเข้าค่ายครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจ ว่ามหาวิทยาลัยทักษิณเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจ    และมีความภูมิใจอย่างยิ่งในการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยของภาคใต้แห่งนี้   การเรียนการสอนมีรูปแบบการสอน ครบสูตร มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบถ้วนเพียงพอกับจำนวนนิสิต  รู้สึกรักมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำอะไรตอบแทนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้มากนัก  แต่ก็จะไม่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เสียชื่อเสียงแน่นอน

                  สำหรับเป้าหมายในอนาคต นางสาวนิกรือซง กล่าวว่า จะต้องเรียนให้จบปริญญาตรีเพื่อมาประกอบวิชาชีพเป็นครูวิทยาศาสตร์ โดยจะทำงานในจังหวัดปัตตานีเพราะต้องการยกระดับการศึกษาของประชาชนในจังหวัดปัตตานีให้ดีขึ้น  ต้องการให้คนในท้องถิ่นมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบวิชาชีพ  จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อพัฒนาเด็กๆ ให้เก่งทางด้านการเรียน โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ซึ่งเป็นวิชาที่ปัจจุบันเด็กๆ ให้ความสนใจน้อยลงเนื่องจากเป็นวิชาที่ยาก   จึงอยากให้เด็กๆ รักในวิชาฟิสิกส์ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆ ได้เช่น คณิตศาสตร์ หรือการคำนวณในชีวิตประจำวัน   เมื่อการศึกษาเข้าถึงท้องถิ่น  คนมีความรู้  มีความคิด มีสติปัญญาดีๆ   มีการตัดสินใจที่ไตร่ตรองมาอย่างดี   อาจจะลดปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาผู้ก่อการร้ายได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาบุคลากรให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้  สำหรับเรื่องการศึกษาต่อนั้นตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและจะทำงานควบคู่กันไปด้วย โดยจะแบ่งเวลาทั้งเรื่องการสอนและการเรียนให้ประสบผลสำเร็จ

            ในฐานะที่นางสาวนิกรือซง เป็นนิสิตโครงการบัณฑิตคืนถิ่นตามพระราชดำริ    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จึงมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงพระราชทานทุนการศึกษาในโครงการ ครูวิทยาศาสตร์คืนถิ่น  ให้เรียนจนจบในระดับปริญญาตรี  เพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษาและการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่นภาคใต้  ตนเองรักและเคารพพระองค์มาก และขอสัญญาว่าเมื่อจบออกมาจะเป็นครูวิทยาศาสตร์     ที่ดี เพื่อเร่งพัฒนาท้องถิ่นให้บรรลุเป้าหมายตามที่พระองค์ทรงตั้งไว้

 

ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการบัณฑิตคืนถิ่นตามพระราชดำริ

                  โครงการบัณฑิตคืนถิ่นตามพระราชดำริ  เป็นโครงการตามพระราชดำริที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยให้ผลิตครูวิทยาศาสตร์หลักสูตรการศึกาบัณฑิต (สาขาวิทยาศาสตร์ เคมี/วิทยาศาสตร์-ชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์)  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยผู้สมัครเข้าศึกษาต่อตามโครงการต้องมีภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัดดังกล่าว เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่สอนในภูมิลำเนาเดิม และขณะศึกษาจะต้องพักในหอพักมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา เพื่อให้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทางด้านคุณลักษณะความเป็นครู คุณธรรม จริยธรรมและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย  ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีนิสิตในโครงการฯ ดังกล่าว 20 คน โดยได้รับทุนการศึกษาทุนละ 50,000 บาทต่อปี

******************

อ่านจบแล้วช่วยแสดงความคิดเห็นมาบ้างนะคะ  จะส่งต่อให้เธอค่ะ

นงลักษณ์ อ่อนเครง

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 237210เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2009 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท