มองการเมืองผ่านแว่นธรรมะจากปาจารยสาร


        ผมได้รับบทความนี้ทาง อี-เมล์    มีมุมมองน่าสนใจมาก   จึงนำมาฝากเปลี่ยนการชุมนุมให้กลายเป็นชุมชน
 
         ขณะนี้สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนระอุ สื่อต่างๆ ต่างก็กล่าวถึงเหตุการณ์แต่ละวันบ้างไม่มากก็น้อย ในฉบับนี้ ทีมศึกษาชุมชนทางเลือกเลยอยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้บ้าง เดี๋ยวจะไม่อินเทรนด์
 
         เราได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมในกลุ่ม “คนไม่เอาทักษิณ” ซึ่งโดยรวมแล้ว บรรยากาศหรือขบวนการของการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการพูดบนเวที การผลิตเอกสาร สื่ออื่นๆ หรือการสร้างสัญลักษณ์ สื่อออกมาว่า ทักษิณไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำอีกต่อไป เขาขาดจริยธรรมทางการเมืองและการเป็นผู้นำประเทศ เหตุผลต่างๆถูกแจงออกมาเป็นข้อๆ ฟังแล้ว อ่านแล้ว ดูแล้วก็เป็นเหตุเป็นผลดี
 
          สรุปแล้ว ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ ทักษิณเป็นเป้า(หมาย)ของการโจมตี แต่เพียงหนึ่งเดียว แม้ว่าในบางครั้งจะมีการโจมตีบุคคลรอบข้างที่ให้การสนับสนุนเขา แต่ก็ไม่ได้เพ่งในฐานเป็นเป้าที่ต้องถูกเล็งอย่างจริงจังนัก หากแต่เป็นเพียงตัวประกอบที่ทำให้ทักษิณเป็นเป้าชัดขึ้น หากเรานึกถึงเป้ายิงธนู คนรอบข้างของทักษิณก็คือวงกลมรอบๆ เป้าที่อยู่ตรงการ ทักษิณคือเป้าที่เป็นจุดศูนย์กลาง ส่วนวงกลมรอบๆ จุดศูนย์กลางนั้น มันทำหน้าที่ ทำให้เล็งเป้าได้ชัดขึ้น
 
         การเล็งเห็น “ความไม่ชอบธรรม” ของนายกทักษิณ นำไปสู่ การเห็นนายทักษิณเป็น “เป้า” และสิ่งที่หมายจะได้จากการชุมนุมนี้ก็คือ ทักษิณต้องออกจากตำแหน่ง อันนี้ถือเป็นการมองแบบเป็นเหตุเป็นผล ในลักษณะเส้นตรงที่ลากจากจุดหนึ่งแล้ว (เพื่อ) ไปจบที่จุดหนึ่ง
 
         แต่ถ้าเรามองเห็นอีกหลายๆ เส้นที่มันโยงใยหากัน ทั้งที่โยงโดยเป็นเส้นตรงและอ้อม เราก็จะเห็นว่า สิ่งที่จะเป็นเป้า หรือคนที่จะเป็นเป้านั้น ไม่ใช่ทักษิณคนเดียว
 
          เมื่อเราพูดว่า ปัญหาอยู่ที่ตัวนายกทักษิณ เพราะเขาไม่มีความชอบธรรม ถ้าอย่างนั้นเราต้องถามต่อว่า ความไม่ชอบธรรมนั้นมันมาจากไหน ทำไมจู่ๆ ความไม่ชอบธรรมอันนี้มันจึงกลายมาเป็น “ของนายทักษิณ” ได้ มันมีที่มา มีองค์ประกอบอะไรที่ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมอันนี้ขึ้น? ความไม่ชอบธรรมอันนี้ มันเป็นของนายทักษิณอยู่แล้วตามธรรมชาติหรือเปล่า? เหมือนคนเกิดมาแล้วมีลมหายใจ มีร่างกาย มีวิญญาณ แต่นายทักษิณเกิดมาอย่างพิเศษกว่าคนอื่น คือเกิดมาแล้วมีความไม่ชอบธรรมติดตัวมาด้วย?
 
         ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราเล็งเป้าที่ทักษิณเพื่อขจัดความไม่ชอบธรรมนี้ได้เลย โดยไม่ต้องมองอย่างอื่น
 
         แต่ความจริงมันคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนเกิดมาก็ไม่ได้เลวดีโดยธรรมชาติ แต่จะเลวจะดีก็ด้วยการให้ค่า การชี้วัดของสังคม กฎเกณฑ์ในการชี้วัดว่าใครดีใครเลว มันก็ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ มันเป็นกฎที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้น ถ้าตามหลักพุทธ กฎธรรมชาติก็คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา แค่เพียงจับเอาหลักอนัตตามาพิจารณาเรื่องนี้ก็กระจ่างแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ของกูโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันย่อมไม่มีความไม่ชอบธรรมที่เป็น “ของนายกทักษิณ”
 
         และถ้าเอาหลักอิทัปปัจจยตามาจับ มันก็ไม่มีความชั่วช้าใดที่นายทักษิณต้องรับผิดชอบคนเดียว เพราะสิ่งต่างๆเกิดขึ้น ก็ล้วนแต่ต้องมีองค์ประกอบ มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น มันจึงเกิดขึ้นได้ ในแง่นี้ “ความไม่ชอบธรรม” ที่เราเห็นว่ามีอยู่ในตัวนายกทักษิณ มันก็ย่อมเกิดจากองค์ประกอบ จากเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แล้วมันคืออะไร? มันอยู่ที่ไหนบ้าง เมื่อเราเห็นว่ามันอยู่ที่ไหน ที่นั่นก็ต้องเป็นเป้าของการ “ พิจารณา” ด้วยเช่นกัน
 
         หากเราหันมาพิจารณาว่า อะไรคือองค์ประกอบ หรือเหตุให้เกิดความไม่ชอบธรรมที่เรามองเห็นในตัวนายกทักษิณบ้าง เราจะเห็นว่ามันมีเส้นโยงใยอย่างมากมาย และเราอาจจะตกใจว่า กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง กระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งกิเลสของตัวบุคคล ล้วนแต่เป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดความไม่ชอบธรรม ที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในตัวเขาทั้งนั้น และหากพิจารณาไปถึงที่สุดอย่างใจกว้าง เราก็อาจพบว่า ที่จริงแล้ว ตัวเราเอง ก็เป็นเหตุปัจจัยเล็กๆ ที่เอื้อให้แก่เขาด้วยเช่นกัน
 
         ท่านอาจารย์พุทธทาสในวัยปัจฉิมกล่าวไว้อย่างท้าทายว่า “ผมท้าคุณเลย เอาปัญหาทุกอย่างในโลกมากองไว้ตรงหน้า แล้วผมจะชี้ให้ดูว่า มันมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น” และท่านยังกล่าวอีกด้วยว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นที่มาของโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งอาจารย์สุลักษ์ ศิวรักษ์ก็แจงให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ทั้งสามตัวนี้เป็นที่มาของโครงสร้างอันอยุติธรรมในสังคม
 
         แต่ปัญหาก็คือ เรามักจะมองเห็นความเห็นแก่ตัวของคนอื่น ชัดกว่าของตัวเราเองเสมอ ความตระกละตระกรามของคนอื่นมันน่ารังเกียจ แต่ความตระกละของเรามันมีเหตุผลและชอบธรรม ในกรณีที่เกิดขึ้นของทักษิณ เขามีความเห็นแก่ตัวที่แสดงออกเป็นความโลภ ไม่รู้จักพอ มีโทสะที่แสดงออกทางวจีกรรมอยู่บ่อยๆ รวมทั้งนโยบายบางอย่างที่สะท้อนถึงความรุนแรง ก็เป็นการแสดงออกถึงโทสะทางหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของปัญหาความไม่ชอบธรรมของเขา
 
         แต่ก็ไม่เพียงความเห็นแก่ตัวของทักษิณเท่านั้น ที่เป็นที่มาของความไม่ชอบธรรมในฐานะนายกนี้ ความเห็นแก่ตัวของพลพรรครอบข้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ที่มีโมหะ ความหลงผิด เห็นกรงจักรเป็นดอกบัว มีความโลภอยากได้ในสิ่งที่เขาจะตอบแทน หรือบางคนที่เห็นว่ามันผิดแต่ก็ไม่กล้าต่อต้านท้าทาย ไม่กล้าตักเตือน อันนี้ก็มีความกลัว มีความอ่อนแอ ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นลักษณะที่เกิดจากความเห็นแก่ตัวอีกแบบหนึ่ง
 
         เราเองที่อยู่ห่างๆ ความเห็นแก่ตัวของเราก็อาจจะมีส่วนเป็นเหตุให้เกิดปรากฎการณ์ผู้นำชาติ ขาดความชอบธรรมในครั้งนี้ด้วยไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมาเราอาจจะมัวใส่ใจเรื่องของตัวเองมากไปจนไม่มีเวลาสนใจ และรู้ไม่เท่าทันความเป็นไปของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มันกำลังสร้างความไม่ชอบธรรมขึ้นกับผู้นำ เรารู้ เราเห็นก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว เราเห็นมันชัดที่ปรากฎอยู่ในตัวทักษิณ เราจึงต้องการให้ทักษิณออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการขจัดปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมนั้น ถ้าทักษิณออกไป ความไม่ชอบธรรมก็จะออกไปตามด้วย เพราะตอนนี้ เราแทบจะเห็นทักษิณกับความไม่ชอบธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน แต่กระนั้น แม้ทักษิณจะออกไป ปัญหาคล้ายๆ อย่างนี้ก็คงจะเกิดขึ้นอีก เพราะเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดลักษณะของความไม่ชอบธรรมดังกล่าว มันยังคงอยู่ตามมุมต่างๆ ของสังคม รวมทั้งมุมเล็กๆ ที่อยู่ภายในตัวเราเองด้วย
 
         หากจุดหมายของพวกเรามิใช่เพื่อนายกทักษิณออกจากตำแหน่งอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการปฏิรูปการเมืองในอนาคตด้วย มันก็จำเป็นเหลือเกินที่เราต้องพิจารณาปัญหาอย่างรอบด้าน มองเห็นเหตุของความเลวร้ายที่เราไม่ต้องการ เพื่อจะเรียนรู้กระบวนการของมัน สั่งสมปัญญา เพื่อการแก้ไขไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
 
         เป็นนิมิตหมายอันดีที่กลุ่มแกนนำคนไม่เอาทักษิณ เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ พยายามจะทำให้เวทีชุมนุมเป็นเวทีของการเรียนรู้ มีการพยายามชี้ให้เห็นถึงผลพวงของระบอบทักษิณ และความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการเมือง
 
         และถ้าหากสามารถพัฒนาจากเวทีการเรียนรู้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้จะประเสริฐยิ่ง ทำการชุมนุมให้กลายเป็นชุมชน เพราะกลุ่มคนไม่เอาทักษิณที่มาชุมนุมกันนี้ เป็นคนหลากหลายกลุ่ม ทั้งอาม่า อาซิ้ม เถ้าแก่เนี้ย เถ้าแก่น้อย นักธุรกิจ ครูอาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา ลูกเด็กเล็กแดง ชาวบ้านชาวนา และที่น่าสนใจคือ มันเป็นการชุมนุมจริงๆ ไม่ได้มีลักษณะเป็นม๊อบจัดตั้ง
 
         เมื่อคนหลากหลายกลุ่มได้มาพบปะกันบ่อยๆ เช่นนี้ น่าจะดีหากได้จัดกิจกรรมให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดทางการเมือง เพื่อสร้างมิตรภาพ สร้างความรู้สึกดีๆในการปะทะสังสรรค์กัน หมายถึงความรู้สึกดีที่ได้พบปะ รู้จัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มากกว่าความรู้สึกดี เพราะร่วมในเป้าหมายเดียวกันเท่านั้น 
 
         ถ้าสามารถจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันได้มากๆ จะเป็นการเอื้อให้บรรยากาศของการชุมนุมนี้พัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชน ที่มีความหมายยิ่งต่อสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะต่อคนเมืองชนชั้นกลาง ที่มักไม่ค่อยมีเวลาที่จะสร้างสัมพันธ์และเรียนรู้และเกื้อกูลกันทางจิตใจ กับคนต่างกลุ่มที่หลากหลาย พวกเขามาในที่ชุมนุมในทุกเย็น บางคนมาเพื่อจะร่วมตะโกนว่า “ท้าาาาาาาาาาาาาก ษิณ .......ออกไป!” บางคนมาเพื่อจะจับจ่ายซื้อสิ้นค้าแฟชั่นกู้ชาติด้วย บางคนมาเพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย บางคนก็มาเพื่อจะได้พบปะคน ที่มีความคิดความรู้สึกแบบเดียวกัน เพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนจำนวนมาก
 
         จะมาเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ก็ยังไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เชื่อว่า หากมีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้พวกเขาได้ร่วม ได้เรียนรู้ร่วม คงจะเป็นการดีไม่น้อย
 
         เช่น ในยามเช้ามืดมีกิจกรรมทำสมาธิภาวนาร่วมกัน สวดมนต์แผ่เมตตาให้ทักษิณ ให้ความโลภของเขากลายเป็นความกรุณา ให้โทสะกลายเป็นเมตตา ให้อวิชชา กลายเป็นปัญญา และให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวฉันด้วย .... จากนั้นอาจจะช่วยกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำความสะอาดบริเวณรอบๆด้วยกัน เก็บกวาดขยะ แยกขยะ นำขยะที่สามารถกลับมาใช้ได้อีกเอากลับมาใช้ไม้ สิ่งนี้ชาวอโศกที่ร่วมอยู่ในการชุมนุมก็ทำอยู่ทุกวัน น่าจะมีการกระตุ้นเชิญชวนให้ร่วมมากๆ
 
         อีกทางหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนซุ้มต่างๆที่เป็นซุ้ม (ตั้งป้อม) ด่าทักษิณด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กลายเป็นซุ้ม “เรียนรู้จากทักษิณ” “เรียนรู้ระบอบทักษิณ” เดินเข้าไปเรียนรู้ประเด็นโครงสร้างของกระบวนการคอรัปชั่นจากซุ้มนั้น แล้วไปกินข้าวเที่ยงพร้อมๆ กับฟังอีกซุ้มจัดเสวนา เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของใคร บ่ายๆ ไปนอนพักผ่อนฟังเพลงที่ซุ้มดนตรีเพื่อชีวิต เย็นๆ ฟังการอภิปรายของกลุ่มแกนนำร่วมกับนักวิชาการที่เชิญมา ฯลฯ มีอยู่หลายซุ้ม และแต่ละซุ้มต่างพยายามสรรค์หาการเรียนรู้ใหม่ๆ มาให้เรื่อยๆ ที่เหมาะกับคนต่างกลุ่มต่างวัย และแน่นอน การเรียนรู้นั้นต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เข้าร่วมมากที่สุด เกิดการแลกเปลี่ยนมากที่สุด ทั้งระดับความรู้สึก สำนึก ความคิดและการกระทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการ “สร้างสรรค์ชุมชน”
 
         และการเรียนรู้นั้นต้องให้มันลึกลงไปเกี่ยวข้องกับ “ด้านใน” ของตัวบุคคลด้วย แล้วเชื่อมโยงไปถึงระดับโครงสร้าง ถ้าหากเราอยากจะเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงรากเหง้า ดังที่อาจารย์พุทธทาสชี้ทางเอาไว้ว่า ปัญหาทุกอย่างมาจากความเห็นแก่ตัว ถ้าจะแก้ก็แก้ที่ความเห็นแก่ตัว และถ้าเราจะเริ่มแก้ เราก็ควรจะแก้ที่ตัวเราเอง โดยที่เราจะต้องรู้ทันตัวเอง ว่าความเห็นแก่ตัวของเรา มันทำงานอย่างไร มันไปส่งผลกระทบถึงระดับโครงสร้างมากน้อยเพียงใด แล้วจึงค่อยมองไปที่ความเห็นแก่ตัวของคนอื่น
 
         ถ้าเราเรียนรู้ได้แบบนี้ มันน่าจะมีหวังในการค้นหาระบบที่จัดสรรคนดีเข้ามาเป็นผู้นำ ช่วยกันสร้างสรรค์โครงสร้าง ที่ไม่เอื้อแก่ความเห็นแก่ตัวให้มันมีอำนาจได้กระทำการ
 
         มีปัญญาชนมากมายในบ้านเมืองเราที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้ ที่อาจจะชี้แนะได้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หมอประเวศ อาจารย์สุลักษณ์ ปัญญาชนทั้งหลายสายสวนโมกข์ หรือสายอื่นๆ ในศาสนาอื่นๆ ที่กำลังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้โลกด้าน เรื่องทางจิตวิญญาณ ควบคู่กับการเรียนรู้โลกด้านนอก เราย่อมสามารถดึงปัญญาชนเหล่านั้นมาทำหน้าที่ของพวกเขาได้เสมอ 
 
         นั่นคือความฝัน ... ที่จะเห็นชุมชนเรียนรู้การเมืองและสังคมเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม มันจะเป็นชุมชนทางเลือกอีกแบบหนึ่ง แม้มันอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่นี่มันเป็นโอกาสอันดียิ่งแล้ว ยังไม่เคยเห็นการชุมนุมที่ไหนที่คนจะหลากหลายเท่านี้ ถ้าสามารถจะจัดกระบวนการให้การชุมนุมกลายเป็นชุมชนอย่างว่าได้ล่ะก็ จะอยู่กันยืดเยื้อสักสิบปียี่สิบปี ก็ไม่เกี่ยงเลย หรือถ้าทำกันตลอดไปได้ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมและการเมืองอีกอันหนึ่งเลยทีเดียว เป็นสิ่งที่ควรยกย่อง และน่าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้เลยทีเดียว
.....
 อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ http://www.semsikkha.org/pacamain.html
 
คิดอย่างไทย  - ความสุขตามหลักพุทธศาสนา
สรรสาระ
๑. สรุปการเสวนาเรื่อง ชีวิต ความเชื่อ และธรรมชาติ
๒. สื่อสารกับปัญญาของธรรมชาติ นิเวศวิทยาจากมุมมองทางจิตวิญญาณ
๓. สัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย (ตอนที่ ๒)
ความหลังครั้งยุวชนสยาม - ตอนที่ ๖. คล้ายฝัน
เซนจากมุมมองของผู้หญิง
- ไปตามกระแสน้ำ
- บานดอกเหมย เผยฤดูใบไม้ผลิ
ชี่กับชีวิต - ชี่กับชีวิต ตอนที่ ๔
หลากชีวิตจากลุ่มน้ำอิระวดี - ตอนที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องมรดก
จดหมายถึงพี่ช้าง  - เรื่อง สุญญตาพุทโธ
บนเส้นทางสีเขียว - ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สีเขียว ๒
ผู้หญิงกับการภาวนา - มองความหลากหลายในขบวนการไล่ทักษิณ ผ่านแว่นสายตาสตรีนิยม
ชุมชนทางเลือก - เปลี่ยนการชุมนุมให้กลายเป็นชุมชน
หนังสือสนทนา - ล้างพิษ ... พ้นวิกฤตทุนมนุษย์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23696เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท