การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


การสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered Approach)

แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered Approach)

                การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดอย่างอิสระ เรียนรู้ด้วยตนเอง  เรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย

                การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  มีแนวคิดสำคัญ ๆ ดังนี้ (สุภรณ์  สภาพงษ์, 2545, หน้า 32)

                พุทธปรัชญา  ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นเวไนยคือเรียนรู้ได้  และการเรียนรู้เกิดจากการเรียนภายนอกคือ  ปรโตโฆสะ  การเรียนรู้จากภายในคือ  โยนิโสมนิการ  และการเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง  มีกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญคือ  ไตรสิกขา  ที่ว่าด้วย  ศีล  สมาธิ  ปัญญา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่ามนุษย์ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่กระบวนการทางปัญญา  คือ  การรู้จักคน  รู้จักตน  รู้จักงาน  และรู้จักวิชาการ

                คริสต์ปรัชญา  มีความเชื่อว่า  มนุษย์คือผลงานชิ้นเลิศของพระผู้เป็นเจ้า (Human being is Master Piece of God ) อันว่าความดีงาม  ความมีวินัยนั้นมีอยู่ในตัวของมนุษย์แล้ว  สุดแต่มนุษย์จะดึงเอาความดีงามเหล่านั้นออกมาใช้  ซึ่งเป็นความเชื่อในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

                ส่วน โสภณ โสมดี  และอภันตรี  โสตะจินดา (2545, หน้า 17-18 )  ได้กล่าวถึงแนวคิดในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่า ในกระบวนการจัดการเรียนรู้นี้  ครูจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น  เพียงแต่รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครูต้องปรับเปลี่ยนไป  เช่น  ครูจะไม่บอกความรู้  แต่จะเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวก  คอยช่วยเหลือ  ชี้แนะ  สร้างความพร้อม  โดยใช้กิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน  ทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มที่สำคัญคือ  ครูต้องรู้ความต้องการ  ความสามารถ  ความถนัด  และความสนใจของผู้เรียนทุกคน  รวมทั้งมีความรู้ในเนื้อหาวิชา  สามารถแนะนำแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนได้  ส่วนพ่อแม่  ต้องสร้างนิสัยการเรียนรู้ให้กับลูกตั้งแต่เด็ก  เช่น  เล่าเหตุการณ์ ในชีวิตประจำวันให้ฟัง  อ่านหนังสือให้ฟัง  แล้วเปิดโอกาสให้ซักถาม  ให้เกิดความอยากรู้  อยากติดตามต่อไป  พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการชี้โลกกว้าง  และสร้างภูมิคุ้มกันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ให้กับลูก  นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็กก็เปรียบเสมือนครูเช่น  เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเขาสามารถเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น อาทิ  วิทยุ โทรทัศน์  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น  อาศัยความรู้  ความสามารถของครูเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ  จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังจากชุมชน  และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาช่วยด้วย  นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย  เช่น  องค์กรชุมชน  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ  และสถาบันสังคมอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทั้งสิ้น

                การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด  หรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริงและเงื่อนไขการรับรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง  ผู้เรียนมีอิสรภาพ  ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ทั้งจิตใจ ร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์และสังคม  ผู้เรียนได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม  ได้รับการฝึกให้มีศักยภาพในการสร้างรูปแบบการคิด  ผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง  แม่นยำธรรมชาติของวิชา  ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม  อันเป็นการสร้างบุคลิกที่ดีงาม  คิดอย่างมีระบบและวิจารณญาณ  อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข  เรียนรู้ตลอดชีวิต  และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

 

หมายเลขบันทึก: 236678เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ดร.ธารทิพย์ แก้วเหลี่ยม

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญ ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่นิยม แต่สังคมไทยพร้อมรับหรือยัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท