บันทึกผลการทดลองจัดการสอบ แบบ Semi Take Home


ก้าวที่ยังไม่สิ้นสุด... การเรียนที่ไม่มีวันจบ

  หมายเหตุ  บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการบันทึกประสบการณ์และความคาดหวังของอาจารย์ผู้สินนิสิตภาคพิเศษในรายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ๒๓๐๔๐๖ สำหรับนิสิตภาคพิเศษชั้นปีที่ ๔ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ ภาคเรียนที่ ๒

...............................................................................

       

ขอกราบขอบพระคุณท่านออาจารย์ ดร.ฐาปนันท์  นิพิฏฐกุลเป็นอย่างสูงที่กรุณาผมมาตลอดทั้งในด้านของความเป็น "ครู" ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายอย่างที่เป็นศาสตร์ ให้กับผมเป็นครั้งแรก และชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาในรายวิชาดังกล่าว ตลอดจนชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์กับการตอบคำถามสังคมไทยปัจจุบันนี้  ยิ่งกว่านั้นท่านยังกรุณาเอื้อเฟื้อเอกสารการสอนให้ผมนำไปใช้ประกอบการจัดการเรียนในรายวิชาที่ผมสอน และคอยเป็นที่ปรึกษาในปัญหาต่างๆที่ผมสงสัย  แบบไม่มีการหวงกันวิชาอีกด้วย ผู้เขียน ขอใช้บทความนี้บูชา คุณของอาจารย์ท่านนี้

 ...................................................................... 

 การสอนครั้งนี้เป็นการสอนนิสิตในรายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ด้วยตัวผมเองเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากเป็นผู้ช่วยสอนของท่าน อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์  นิพิฏฐกุล ครบสองครั้งตามนโยบายที่คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์เคยกำหนดแนวทางกันไว้  หลังจากผมทำการสอนเป็นที่เรียบร้อยตามเค้าโครงการสอนที่ท่านอาจารย์ฐาปนันท์เคยกำหนดแนวทางไว้แล้ว ผมก็จัดให้มีการสอบเพิ่มวัดผลการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชานี้ผมจัดการสอบทั้งหมดสองครั้ง คือการสอบกลางภาคและการสอบปลายภาค

- การสอบกลางภาค ๓๐ คะแนน เป็นการสอบ Open BOOK

ผลการสอบออกมา เท่าที่ตรวจเอกสารยังพบว่านิสิตยังมีปัญหาในเรื่องการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย  กล่าวคือยังเขียนไม่ค่อยเป็นระบบนัก และไม่ยกตัวอย่างให้ชัดเจน แต่นิสิตบางคนก็สามารถนำเสนอคำตอบออกมาได้อย่างน่าสนใจ เช่นมีการเขียนตารางลงในสมุดคำตอบเพื่อเปรียบเทียบแนวความคิด แต่ เนื้อหายังไม่ชัดและยังเปรียบเทียบไม่ครบตลอดจน ไม่ได้มีการอธิบายตารางในภายหลังทำให้ คำตอบดังกล่าว ไมชัดเจนนักแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามนำเสนอคำตอบในรูปแบบใหม่ของนิสิตท่านนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้นิสิตหลายท่าน ที่เคยสอนมาก็ทำให้ผมประทับใจเช่นเดียวกัน คือมีการเขียนในลักษณะที่แสดงออกได้ว่าเห็นถึงความพยายามแสดงความเข้าใจของตนเองออกมาแม้จะยังไม่เป็นระบบและต่อเนื่องนักก็ตาม

จากผลการสอบกลางภาคนี้เองทำให้ผมวิเคราะห์ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเขียนของนิสิตอาจจะเป็นได้ว่านิสิตกังวลต่อการเปิดหนังสือมากเกินจนเขียนไม่เป็นระบบก็เป็นได้ ผมจึงตั้งใจที่จะแก้ตัวใหม่ในการสอบปลายภาค โดยให้นิสิตสอบแบบ close book แทน เพื่อจะได้ทราบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเขียนตอบข้อสอบของนิสิต คือการกังวลกับการเปิดเอกสารจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากนิสิตหลายท่านได้บอกให้ผมทราบว่านิสิตส่วนใหญ่ต้องทำการสอบติดๆกัน ตั้งแต่วันที่ ๑๕-๑๘ ทำให้ ผมคิดจะหาวิธีทราบสมมุติฐานของผม ว่าเป็นอย่างที่ผมคิด คือ "นิสิตกังวลกับการเปิดเอกสาร" หรือเป็นเพราะลักษณะนิสัยการตอบของลูกศิษย์ของผมเองที่ยังคิดไม่ค่อยเป็นระบบ และเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ไม่เป็น(ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้รับ คำวิจารณ์เรื่องนักศึกษากฎหมายในปัจจุบันที่ไปสมัครงานกับ เพื่อนของผมที่เป็นเจ้าของ สำนักงานทนายความ ณ กรุงเทพมหานคร ว่านักศึกษากฎหมายในปัจจุบัน ถนัดแต่จำ แต่ไม่ถนัดการวิเคราะห์และปรับใช้กฎหมาย รวมทั้งไม่รู้กาละเทศะเช่นสวมกางเกงยีนส์ใส่เสื้อยืดไปสอบสัมภาษณ์งาน หรือ ไปสัมภาษณ์งานโดยไม่เตรียมตัว ทำให้ผมอยากทราบว่าลูกศิษญ์ผมรุ่นนี้พร้อมจะออกไปทำงานในสังคมหรือยัง)

ในการสอบครั้งนี้ ผมตัดสินใจจัดการสอบแบบใหม่ (ที่จริงก็ไม่ใหม่หรอกครับ เพราะเป็นการสอบแบบที่อาจารย์ของผมสมัยเรียนปริญญาโท คือ รองศาสตราจารย์ สุธรรม  อยู่ในธรรม ท่านใช้ในการวัดผล) เพื่อเป็นการตรวจสอบสมมุติฐานของผมคือ ผมใช้วิธีการจัดการสอบ แบบกึ่ง Take home คือ เวลา ๘.๓๐ น. ผมก็จะนำคำถามของข้อสอบมาแปะประกาศที่บอร์ด  ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมUpload คำถามข้อสอบขึ้น Blog  โดยอนุญาตให้นิสิตค้นหาคำตอบได้ทุกวิธี ยกเว้นมาถามผม แล้วเวลา ๑๗.๐๐ น. ก็ให้นิสิตเข้ามาเขียนตอบคำถามในห้องสอบ โดยให้เวลาทั้งสิ้น ๓ ชั่วโมง ทั้งนี้ในการเขียนตอบคำถามนั้น ไม่อนุญาตให้นิสิตนำเอกสารใดๆ เข้ามาในห้องสอบทั้งสิ้น  

การวัดผลคราวนี้ ผมทราบดีว่านิสิตต้องคุยกันเพื่อเตรียมแนวคำตอบร่วมกัน ดังนั้นผมจึงไม่ได้เน้นหนักที่จะวัดผลจากข้อมูลที่นิสิตนำเสนอ แต่ผมต้องการจะวัดวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ รวมทั้งอยากวัดผลเรื่องวิธีการเขียนของนิสิต ตลอดจนอยากทราบว่านิสิตสามารถนำความรู้จากการเรียนไปปรับใช้กับการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาของสังคมไทยปัจจุบันได้หรือไม่  ดังนั้นการออกข้อสอบในครั้งนี้ผมจึงได้ออกข้อสอบทั้งสิ้น ๓ ข้อ  โดยมีคำถามว่า

. หากมีผู้กล่าวว่า   การศึกษานิติศาสตร์ของไทยปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบสนองความเคลื่อนไหวของสังคมในปัจจุบันได้  และนิสิตนักศึกษากฎหมายส่วนใหญ่ก็มีฐานะเป็นเพียงนักตีความกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้เป็นนักนิติศาสตร์อีกต่อไป นิสิตเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด มีหลักฐานอย่างไร (๑๕ คะแนน)

 และนิสิตมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้นักศึกษากฎหมายกลายเป็นนักนิติศาสตร์ อย่างแท้จริง  และให้วงการนิติศาสตร์ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีพลัง ? (๑๕ คะแนน) (รวม ๓๐ คะแนน)

 (การให้คะแนนข้อนี้ เน้น การอธิบายที่ชัดเจน มีเหตุผล และหลักฐานประกอบรวมทั้งข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์เป็นไปได้และมีหลักฐานอ้างอิง )

 

 ๒. มีผู้กล่าวว่า การจะเข้าใจสถานะของผู้ปกครอง และแนวคิดต่างๆ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้นั้น ผู้ศึกษาจะต้องเข้าใจแนวคิดต่างๆ ในวรรณคดีไทยเรื่องไตรภูมิพระร่วง และพระไตรปิฎก ท่านเห็นด้วยหรือไม่เพราะอะไร และเอกสารทั้งสามฉบับนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ? (๑๕ คะแนน)

 

 ๓. สนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ส่งผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายและความรับผิดตามกฎหมายของไทยโบราณอย่างไร รวมทั้งส่งผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญาของไทยปัจจุบันอย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ (๑๕ คะแนน)

ท้ายสุด หลังจากการสอบเสร็จสิ้นลง ผมก็ได้ลงมือนั่งอ่านคำตอบของนิสิตด้วยความคาดหวังพอสมควร  อย่างไรก็ตามภายหลังอ่านคำตอบของนิสิต สำหรับคำถามข้อที่ ๑ ไปเป็นจำนวน ๒๐คนจาก ๕๕คนแล้ว ผมก็ได้ข้อสรุปสำหรับคำถามของผมดังนี้

๑. นิสิตของเรายังไม่สามารถนำองค์ความรู้จากการศึกษาในรายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ รวมทั้งปรับใช้ในการทำความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันและแก้ไขปัญหาได้

 ๒. นิสิตชอบที่จะจำเอาประเด็น และตัวอย่างในเอกสารประกอบการสอนมาตอบคำถามโดยไม่มีการนำเสนออะไรใหม่ และไม่มีการยกตัวอย่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมไทยปัจจุบัน อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้รอบตัวในสังคม

๓. นิสิตยังไม่ทราบวิธีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานคือเหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดจริงในสังคมมาเป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของตน 

๔. การเขียนของนิสิตนั้นเป็นการเขียนโดยไม่มีการวางเค้าโครง และกำหนดประเด็นก่อนการเขียน

๕. การเขียนของนิสิตขาดความเชื่อมโยง ระหว่างส่วนต่างๆ ในคำตอบ

๖. มีความพยายามในการใช้คำเปรียบเทียบเพื่อตอบคำถามและสร้างสีสรรแก่คำตอบ แต่ยังไม่สื่อถึงสาระเท่าที่ควร

๗. คำตอบของคำถามนั้นไม่มีเหตุผลประกอบที่ชัดเจน

๘. การอ่านเอกสารของนิสิตที่ใช้ในการตอบคำถาม ส่วนใหญ่จะอ่านเอกสารเพียงฉบับเดียว แล้วมาตอบคำถาม ทำให้ แนวความคิดที่ได้ไม่ลึกและไม่ครบ

๙. การนำเสนอข้อมูลมีเพียงการนำเสนอข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับคำถามเท่านั้น แทบไม่มีการโต้แย้ง หรือห่ฃากจะมีการโต้แย้งก็จะมีการแย้งแบบข้างๆ คูๆ

ในความเห็นส่วนตัวของผม ถ้านิสิตอ่านเอกสารครบทั้งสองฉบับและมานั่งตั้งหลักถามตนเองว่าบทบาทของนักนิติศาสตร์ในสังคม คืออะไรก็อาจจะได้คำตอบที่ดีขึ้นว่า จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อให้เกิดคุณลักษณะเช่นว่านั้นในหมู่นักศึกษากฎหมายไทย สมกับที่ครูอนุญาตให้เตรียมแนวคำตอบล่วงหน้าก่อนสอบเป็นเวลาถึง ๘ ชั่วโมง

อาจจะไม่เป็นธรรมกับนิสิตนักถ้าผมเอาแต่วิจารณ์อย่างเดียว เพราะในภาวะเวลาที่จำกัดและมีความเครียดสูงก็อาจทำให้นิสิตแสดงความคิดออกมาไม่ดีเท่าที่ควรได้  แต่เท่าที่ผมคุมสอบก็เห็นมีนิสิตร้อยละ ๖๐ ออกจากห้องสอบก่อนเวลานะครับ บางทีอาจารย์ผู้สอนก็อดน้อยใจไม่ได้ว่านิสิตประมาทเกินไปเพราะคิดว่าเป็นการสอบแบบ Take Home

แต่ อย่างไรก็ตามในหมู่นิสิตที่ตอบมาก็มีนิสิตหลายท่านที่นำเสนอให้เห็นถึงความพยายามในการตอบคำถามและ การนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เช่นเดียวกัน ไว้ว่างๆ จะคัดลอกมาให้อ่านกันครับ

ผมคิดว่าผลที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่ความผิดพลาดของนิสิตเองฝ่ายเดียว อาจารย์อย่างผมก็คงต้องหันมามองดูการสอนของผมเองด้วยว่าสามารถดึงนิสิตให้สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบองค์ความรู้ต่างๆได้หรือไม่ และการเตรียมการสอนของผมได้นำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาของนิสิตมากน้อยเพียงใด

......................................................................

เรื่องนี้สรุปว่าเรายังคงต้องพัฒนาคุณภาพกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งครับ

หมายเลขบันทึก: 235838เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2009 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงก็ป็นอย่างที่อาจารย์ทราบจริง

ปัญหาเกิดขึ้นจริง

เสียใจที่ทำให้อาจารย์ต้องผิดหวัง

เพราะการสอนของอาจารย์แต่ล่ะชั่วโมง

มันแสดงออกว่าอาจารย์ใส่ใจสนใจในตัวนิสิตมาก

ตั้งใจสอน สอนอย่างอารมณ์ดี

หนูขอให้อาจารย์อย่าเพิ่งผิดหวังในการสอนที่คะแนนออกมาไม่ได้ดั่งที่สอนน่ะค่ะ

ขอให้อาจารย์ทราบว่านิสิตทุกคนรับรู้ว่าอาจารย์ทุมเทกับการสอนในแต่ล่ะครั้งน่ะค่ะ

อย่าเพิ่งท้อน่ะค่ะ เป็นกำลังใจให้อาจารย์วิวค่ะ

สู้ๆค่ะอาจารย์

หนูทำเต็มที่แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท