ลาด เรียบ ราว : Barrier-free for All


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสู่การเป็น "สังคมล้อ" เรามีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ใช้ล้อและรางเป็นหลัก การก่อสร้าง "ทาง" จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำให้ราบ ลาด และเรียบ


หลายวันมานี้ที่ขอนแก่น อากาศหนาวครับ
ถ้าช่วงไหนเข้าถึงฤดูหนาวและมีอากาศหนาวแล้วละก็แถวที่ทำงานผมเป็นต้องอยู่กันอย่างทรมานละครับ
ทรมานจากกลิ่นของความเจริญ ทรมานจากกลิ่นโรงงานที่พัดหวน แบบปวดหัว คลื่นไส้อาเจียนกันสำหรับบางคน

 

ผมโชคดีแน่ๆ ครับในรอบสัปดาห์นี้ที่ได้หนีความหนาว ที่ได้หนีความเหม็น เพราะเหตุต้องเข้ารับการฝึกอบรม ตามโครงการ Providing Opportunities to Discovery Abilities Project ซึ่งดำเนินการโดย The National Ability Center (NAC) และ United Cerebral Palsy (UCP) - Wheels For Humanity กิจกรรมได้แก่การมอบรถเข็น (วีลแชร์) และอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาคนพิการ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ มกราคม ๒๕๕๒ ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ขอนแก่นครับ

 


ตามที่แนะนำ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร และอาสาสมัคร
ภาพที่เห็นคือการทำงานแบบเอาจริงเอาจัง และแฮปปี้ตามมาตรฐานฝรั่งครับ

 


โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ประเภทประจำ แน่นอนว่าโรงเรียนในลักษณะนี้มากไปกว่าการเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งกับกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาแบบครบวงจร ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้

ประสาคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกายแล้วมายิงธนู มาปั่นวีลแชร์บาสเกตบอลกันแบบนี้ อาการที่ปรากฏโดยทันทีในวันแรกก็คงหนีไม่พ้นการปวดไหล่แหละครับ อย่าว่าแต่จะให้ตรงเป้าทำแต้มเลยครับเอาแค่ท่าสวยถูกต้องตามกฎ กติกา ก็น่าจะเป็นการยินดีไม่น้อยแล้ว (ฮา) ท่ามกลางเสียงเชียร์และหัวเราะเยาะ (เย้ย) ของเหล่าบรรดานักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์

 


ไม่เป็นไรครับ เรามาอบรมเป็นครูฝึกแค่เข้าใจหลักการ กติกา ความปลอดภัย ฯลฯ ก็เพียงพอแล้ว ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของเหล่าบรรดานักเรียนและผู้พิการโน่นละที่จะเป็นคนทำแต้ม แบ่งทีมแข่งขันกัน ถ้าทีมชนะผู้ฝึกสอนก็พลอยได้ผลงานไปได้ เราจึงมีหน้าที่ไปกดดันนักเรียนผู้แข่งขันในทีม (ฮ่า ฮ่า ฮ่า) เพราะหลักสูตร ๓ วันแรกนั้นมุ่งเน้นอบรมครูผู้ฝึกสอนต่อจากนั้นค่อยให้ครูผู้ฝึกสอนไปสอนต่อกับนักเรียน แบ่งกลุ่ม แบ่งทีมแข่งกัน

เข้ารับการฝึกอบรมกับฝรั่งทีไร ก็ให้ได้รู้สึกว่ามันรื่นไหล แจ่มกระจ่างไปกับกระบวนการถ่ายทอดทุกครั้งไป ให้รู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกยัดเยียดทำนองว่า นะคะ นะคะ อย่างนี้นะคะ เข้าใจไหมคะ เข้าใจว่าจะไดคะ ฯลฯ

พิธีกรรม พิธีการ ถ้ามันไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายก็ผ่อนกันเสียบ้างนะครับ ไม่อย่างนั้นนอกจากจะทำให้กระบวนการมันเยิ่นเย้อแล้วยังทำให้กร่อยไปเสีย พูดอย่างนี้ให้เข้าใจเถิดว่าผมถูกตำหนิเพราะว่าไม่เขียนคำกล่าว-คำเปิดงานก็บ่อยครั้ง เพราะเหตุว่าผมไม่เคยเห็นความจำเป็นและความสำคัญที่ต้องจัดทำคำกล่าวรายงาน-กล่าวเปิดในบรรดากิจกรรมภายในที่หน่วยงานของผมจัดขึ้น

ผมไม่เห็นว่าลำพังการลอยกระทง จัดงานปีใหม่ เล่นดนตรี-กีฬา กันภายในระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการ (เพราะมิได้เชิญบุคคลภายนอก) ต้องมีพิธีกรรม "กราบเรียน ฯพณฯ ที่ได้ให้เกียรติสละเวลาอันมีค่ามหาศาลยิ่ง มาเปิดงานอันไม่มีค่ายิ่งในวันนี้...." แล้วก็ถ่ายรูปรายงาน (ฮา)



ประสาคนคุ้นเคยกับการสวมแว่นตาในบทบาทของการเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ทำให้คุ้นเคยกับการที่จะเลือกมองอะไรอยู่ภายใต้กรอบอย่างนั้นอยู่เอง จึงอย่าได้แปลกใจถ้าการไปฝึกอบรมคราวนี้มากไปกว่าการได้ความรู้และทักษะด้านกีฬาแล้ว ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้นคือการได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและพูดคุย แน่นอนครับว่าผมถือโอกาสมาศึกษาดูงานในสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องและในประเด็นที่เลือกอยากดูอย่างเป็นอิสระ -- อยากรู้ อยากเห็นอะไรตรงไหนก็เที่ยวเดินชมและซักถามได้ตามสมควร

"ช่วยเขาเพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้" เป็นปรัชญาของโรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่นครับ ข้อความนี้ติดไว้หลายแห่งในโรงเรียน ซึ่งแน่นอนครับว่าเมื่อปรัชญาโรงเรียนกำหนดไว้อย่างนี้แล้วก็พอคาดเดาได้ไม่ยากว่าวิสัยทัศน์ และพันธกิจของโรงเรียแห่งนี้จะกำหนดไปในทิศทางใด



ห้องสมุดเด็กเล็ก : ในห้องสมุดนี้ออกแบบให้เหมาะสำหรับเด็กครับ อุดมด้วยนิทานและของเล่น


การจัดการสภาพแวดดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึง และความสะดวก ปลอดภัย ทำให้ผมประทับใจอย่างที่สุดครับ ทั้งในส่วนของการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตในโรงเรียน

ช่วงพักกลางวัน มีโอกาสแวะเข้าห้องสมุด "เด็กเล็ก" เห็นเจ้าตัวเล็กกำลังมุงดูอะไรกัน
เข็นวีลแชร์เข้าไปใกล้ๆ ชะโงกหน้าดู (ตลอด ๒-๓ วันแรก ผมต้องสร้างความคุ้นเคยกับเจ้าวีลแชร์กันก่อนละครับ ไปไหนมาไหนเป็นต้องนั่งวีลแชร์ตลอด จะเว้นก็แต่ทานข้าวและเข้าห้องน้ำเท่านั้น) เข้าไปใกล้ๆ ก็ให้ทราบว่ากำลังทำ presentation นิทานครับ คนนึงเป็นคนพิมพ์ คนนึงเป็นคนอ่านนิทาน คนนึงเป็นคนออกแบบการจัดวาง คนนึงแสดงความเห็นในการเลือกสีและเอฟเฟค --- ใน "ห้องสมุดเด็กเล็ก" นั้น "เจ้าตัวเล็ก" ไม่เพียงแต่เป็นผู้ใช้งานเท่านั้นหากแต่ยังเป็นผู้สร้างงานกันอีกด้วย


อาคารที่มีทางลาดและราวจับอลังการงานสร้างอย่างที่สุด เข้าใจว่าคงไม่พ้นอาคารหอพักหลังนี้ละครับ

อย่างที่บอกละครับว่า การเรียนรู้ระหว่างมาอยู่ที่นี่ตลอด ๕ วันที่ผ่านมา (เต็มหลักสูตร ๖ วัน) มีความสุขอย่างที่สุดกับบทบาทของการมาศึกษาดูงาน (ด้วยตัวเองครับ) หรืออาจมากกว่าการได้มาฝึกอบรมเรื่องการเล่นกีฬาคนพิการเสียด้วยซ้ำ

ประเด็นที่ประทับใจอย่างที่สุดคงหนีไม่พ้นการจัดการสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ให้เอื้อต่อคนพิการทุกประเภท โดยที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ร่วมได้โดยไม่เคอะเขินแต่อย่างใด

สัมผัสแรกที่อาจรับรู้ได้โดยทันทีคือ การมีทางลาดและราวตลอดอาคาร สถานที่ที่คนต้องเข้าไปใช้งานนั่นแหละครับ

ผมลองเข็นวีลแชร์ขึ้นอาคารเรียน ๓ ชั้น ได้เพียงชั้นเดียวก็แทบแย่แล้วละครับ ไม่ใช่แรงไม่ถึงหรอกนะครับ หากแต่จังหวะไม่ได้ มันจะถอยหลังกลับนะสิครับ ต้องให้นักเรียนได้สอน ได้บอกเคล็ดวิธีใช้กัน - - นักเรียนบอกว่า
"ใครไม่ค่อยมีแรงก็ใช้ลิฟต์กันค่ะ ใครเรียนอยู่ชั้น ๒ ก็ใช้ทางลาด ชั้น ๓ ก็ใช้ลิฟต์"
"ตอนลงสนุกดีค่ะ มันดี แข่งกัน"

ผมลองเอาวีลแชร์ลงตามทางลาดอาคารเรียนแล้วละครับ หัวใจจะวายพอๆ กับสไลเดอร์ในสวนสนุก
เด็กๆ เขาสนุก แต่ผมไม่สนุกแน่ๆ ครับ กับน้ำหนักขนาดนี้ พลาดท่าเสียทีกลิ้งถึงชั้นล่างแน่ๆ



ลองคิดดูสิครับว่าคนกลุ่มไหนที่ได้ใช้ประโยชน์จากติดตั้งราวจับในพื้นที่ตรงนี้บ้าง ?

 

เรียนรู้ทางลาด ทางเรียบ และทางมีราว ใน "สังคมล้อ"

มาถึงตรงนี้
ก่อนที่จะสิ้นสุดการฝึกอบรมในวันพรุ่งนี้
สิ่งที่ได้เรียนรู้และเท่าที่คิดได้ด่วนๆ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับคนพิการ ความพิการ และคนทุกกลุ่มแล้วละก็เห็นจะได้แก่ ความเป็นทางลาด ทางเรียบ

ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เราใช้เกียวน ใช้ม้า ใช้วัว หรือใช้คน(หาม) เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางทั่วไป
ในยุคนั้นสมัยนั้นการพัฒนา "ทาง" สำหรับพาหนะดังกล่าวอาจไม่ต้องเรียบมากนักแค่ให้ทราบว่าเป็นทางและไม่มีขวากหนามก็พอไปได้

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสู่การเป็น "สังคมล้อ" เรามีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ใช้ล้อและรางเป็นหลัก การก่อสร้าง "ทาง" จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำให้ราบ ลาด และเรียบ

ขึ้นเขาลง ลงเหว ข้ามห้วย ก็ต้องลาดและเรียบแหละครับ ไม่อย่างนั้น "ล้อ" ก็ไปไม่ถึง ไปไม่ได้ ไปไม่สะดวก

แม้คนทั่วไปจะรับรู้ได้และยอมรับกับการเป็น "สังคมล้อ" ที่หมุนผ่านโลกไปในแต่ละวันเช่นนี้ เข้าใจว่าแม้จะได้ใช้ประโยชน์แต่ก็คงมิได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในมุมมองของผู้พิการนัก เพราะในฐานะผู้ใช้บริการหรือในฐานะผู้ขับเคลื่อนพาหนะแม้ "ทาง" จะขุขระ แต่ก็ไม่กระทบ กระแทก กระทั่งโดยตรง

หากวันใดที่เราอ่อนแรง พิการ หรือบกพร่อง จนต้องใช้วีลแชร์เสียด้วยแล้วละก็เราเป็นต้องได้รับผลกระทบ กระแทก กระทั่งโดยตรงแน่ๆ กับปริมาณและความสมบูรณ์ของ "ทางราบ ทางลาด ทางเรียบ และราว"

การจัดการสภาพแวดล้อมในสถานที่สาธารณะให้มีลักษณะราบ เรียบ และมีราว จึงมิได้บริการเฉพาะผู้พิการเท่านั้น และไม่พึงกล่าวว่านั่นเป็นสิ่งเฉพาะบริการแก่ผู้พิการ หากแต่บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มบุคคลที่อ่อนแรง เจ็บป่วย สูงอายุ หรือบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือการมองเห็น ก็ย่อมสามารถใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้



สังคมล้อ : มีใครบ้างในชีวิตประจำวันไม่เกี่ยวเนื่องกับ "ล้อ"
เพราะเหตุนั้น "ทาง" จึงควรต้องราบ เรียบ แล้วก็ลาด สำหรับเรา "ทุกคน" อย่างไร้อุปสรรค
(ภาพถ่ายขณะจอดรถ ขณะที่นักเรียนกำลังเลิกแถวเคารพธงชาติ)


ถึงตรงนี้ มันทำให้ผมนึกถึงวีดีโอที่เผยแพร่ใน youtube อย่างที่สุดครับ
วีดีโอที่มีชื่อว่า Think! A wheelchair user's daily struggle

มีรายละเอียดว่า
Think! is a disability awareness feature that highlights some of the problems wheelchair users face every day of their lives and how just a little bit of thought can make their lives so much easier.

อยากให้ลองคลิกดูกันนะครับ ที่
http://www.youtube.com/watch?v=cB0PI3lsYGk

 


มาถึงตรงนี้ก็คงต้องเชิญชวนกันอีกหนละครับว่า
มาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยของเรา ให้เป็นสังคมไทยไร้อุปสรรคกันนะครับ

 

 

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Read More:
The National Ability Center
http://www.discovernac.org/

United Cerebral Palsy (UCP)
http://www.ucp.org/

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 235575เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ

มาเรียนรู เผื่อมีโอกาสใช้ในวันข้างหน้าค่ะ

ชอบปรัชญา นี้ค่ะ

ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเอง

ชีวิตเราเกี่ยวกับล้อจริงๆนะคะ

แม้แต่การล้อเลียนก็พบอยู่บ่อยๆ..อ้าวเกี่ยวกันไหมคะเนี่ย..อิอิ

ขอให้มีความสุขมากมากนะคะ

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยมและมาเรียนรู้เพิ่มเติม ครับ

ขอบพระคุณ "คุณครู" และ "อาจารย์" มากครับ

ที่แวะมาเยี่ยมเยียนและเรียนรู้ร่วมกัน

ขอบพระุคุณยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท