ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพทำง่ายได้ผลดีลดต้นทุนการผลิต


ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ

ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพทำง่ายได้ผลดีลดต้นทุนการผลิต

ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ  เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยการนำมูลสัตว์ชนิดต่างๆ มาผสมคลุกเคล้ากับขี้เถ้าแกลบและรำละเอียด แล้วใช้กากน้ำตาลและหัวเชื้อจุลินทรีย์เป็นตัวเร่งปฏิบัติการย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอนุภาคเล็กลง ซึ่งใช้ได้ผลดีที่ ต.หนองกรด อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ การทำปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ (โบกาฉิ)  ส่วนประกอบ คือ

            1.  มูลสัตว์แห้ง                         1    ส่วน (กระสอบ)

            2.  แกลบดิบ                             1    ส่วน

            3.  รำละเอียด                            1    ส่วน

            4.  กากน้ำตาล                          2    ช้อนโต๊ะ

            5.  หัวเชื้อจุลินทรีย์ อี.เอ็ม.        2    ช้อนโต๊ะ

            6.  น้ำสะอาด                            10  ลิตร

วิธีทำ  คลุกรำละเอียดกับมูลสัตว์แห้งที่บดหรือย่อยจนเล็กลงเข้าด้วยกัน จากนั้นนำแกลบดิบเทลงในถังน้ำที่ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ อี.เอ็ม. และกากน้ำตาลไว้   ช้อนเอาแกลบมาคลุกกับรำละเอียดและมูลสัตว์ที่ผสมไว้แล้วให้เข้ากัน ให้มีความชื้นประมาณ 40 - 50 % ทดลองได้จากการกำส่วนผสมในมือแล้วแบออกจะเป็นก้อน  เมื่อทิ้งลงพื้นจะแตกกระจายออกจากกัน หลักจากนั้นนำส่วนผสมไปใส่กระสอบหรือถุงปุ๋ยที่อากาศถ่ายเทได้ ประมาณ 3 ใน 4 ของกระสอบ ไม่ต้องกดให้แน่นมัดปากกระสอบไว้  พลิกกระสอบแต่ละด้านทุกวัน  วันที่  2 - 3 จับกระสอบจะร้อนอุณหภูมิประมาณ  40 - 45  องศาเซลเซียส วันที่ 4 - 5  จะค่อยๆ เย็นลงจนอุณหภูมิปกติเปิดกระสอบดูจะได้ปุ๋ยแห้งร่วนนำไปใช้ได้เลย  ถ้าไม่มีกระสอบหรือทำปริมาณมากเมื่อผสมกันดีแล้วให้นำไปกองบนกระสอบป่านหรือฟางแห้งที่ใช้รองพื้นหน้าประมาณ  1  ฟุต  แล้วคลุมด้วยกระสอบกลับวันละ 1-2 ครั้ง ให้อากาศถ่ายเททั่วถึงประมาณ 5 - 7 วัน รักษาอุณหภูมิให้ปกติ  ดูปุ๋ยแห้งร่วนดีแล้วนำเก็บใส่ถุงไว้ใช้ได้

อีกวิธีหนึ่ง ให้คลุกรำละเอียด มูลสัตว์และแกลบดิบให้เข้ากัน ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์  อี.เอ็ม. และกากน้ำตาลอย่างละ 2 ฝา ในน้ำ 10 ลิตร ใส่บัวรดบนกองของส่วนผสม โดยวนจากนอกเข้าใน ให้กองปุ๋ยมีความชื้น 50  % ถ้าแฉะใช้รำละเอียดส่วนที่ยังเหลือเติม ถ้าแห้งเกินไปเชื้อจะไม่เดิน ถ้าแฉะมากความร้อนจะสูงและเป็นก้อน หลังจากทำแล้ว 8 ชั่วโมง ความร้อนในกองปุ๋ยจะสูงมาก กลับปุ๋ยในกองทุกวันจนอุณหภูมิปกติ  ประมาณ  5 - 7  วัน เก็บใส่ถุงไว้ใช้ต่อไป

            วิธีการใช้  ใช้โรยบนแปลงผัก โคนต้นไม้ หรือใช้เตรียมดินปลูกพืช  นำไปผสมอาหารเลี้ยงสัตว์  เช่น ไก่ หมู วัว ฯลฯ  ใช้บำบัดน้ำเสีย  กำจัดกลิ่น  บำบัดน้ำ สร้างอาหารในน้ำ  ในบ่อปลา ถังระบายน้ำ     ฯลฯควรเก็บในที่แห้งไม่ถูกแดดหรือฝนจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ปี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายทนง ใจบุญลือ เจ้าพนักงานการเกษตรประจำตำบลหนองกรด อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ โทร. 056-279297 ปี                                                                                

หมายเลขบันทึก: 235487เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพทำง่ายได้ผลดีลดต้นทุนการผลิต

1. ขุยมะพร้าว 1ตัน

2. มูลสัตว์ 100-200 กิโลกรัม (ถ้ามากกว่านี้ก็จะดี)

3. อีเอ็ม 1ลิตร + กากน้ำตาล 1 ลิตร + น้ำ 20 ลิตร

4. ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม

วิธีการทำ

การกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่มีขนาดเล็กให้คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนวัสดุที่มีชิ้นส่วนยาวให้กองเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง มีวิธีการกองดังนี้

1. นำอีเอ็ม 1ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร น้ำ 20 ลิตร ผสมให้เข้ากัน

2. การกองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม

3. นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช ตามด้วยปุ๋ยไนโตรเจน แล้วราด อีเอ็ม กากน้ำตาล น้ำ ที่ผสมเข้ากันแล้ว ให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้น ๆ

4. หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น

การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก

1. รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย : ให้มีความชื้นประมาณ 50-60%

2. การกลับกองปุ๋ยหมัก : กลับกอง 10 วันต่อครั้ง เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดความร้อนในกองปุ๋ย และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน หรือใช้ไม้ไผ่เจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างปักรอบ ๆ กองปุ๋ยหมัก ห่างกันลำละ 50-70 เซนติเมตร

3. การเก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้ว : เก็บไว้ในโรงเรือน อย่าตากแดดและฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้

หลักการพิจารณาปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

1.สี : มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ

2.ลักษณะ : อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่แข็งกระด้างและขาดออกจากกันได้ง่าย

3.กลิ่น : ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์จะไม่มีกลิ่นเหม็น

4.ความร้อนในกองปุ๋ย : อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกอง

5.การเจริญของพืชบนกองปุ๋ยหมัก : พืชสามารถเจริญบนกองปุ๋ยหมักได้โดยไม่เป็นอันตราย

6. การวิเคราะห์ทางเคมี : ค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเท่ากับหรือต่ำกว่า 20 : 1

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท