อาสาสมัคร1 :ที่มาที่ไป ๑๐ปีแล้ว


การเป็นอาสาสมัครที่ดีต้องมีเวลาให้ตัวเองบ้าง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานอาสาสมัครหลายครั้ง หลายครั้งก็ประสบความสำเร็จทั้งงานและจิตใจ บางครั้งงานสำเร็จแต่ใจไม่สำเร็จ บางครั้งงานออกมางั้นๆแต่ใจเบิกบานมาก มันเป็นประสบการณ์ที่น่าบันทึกจริงๆ

ดิฉันเปิดบล็อกมาสองสามปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้มีเวลาเข้ามาบันทึกเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะงานยุ่งมากๆ พอมีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหา เสียเวลาไปหลายวันกับเรื่องเหล่านั้น โชคดีที่ไม่ค่อยได้คิดคนเดียวเพราะคิดไม่ออก ก็ได้กัลยาณมิตรทั้งหลายช่วยคิด ช่วยจัดการบางเรื่อง อย่างนี้เพื่อนก็ถือว่าเป็นทุนทางสังคมแบบหนึ่งเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นคงเสียต้นทุนทั้งทางเงินและทางจิตใจอีกมาก

ครั้งหลังสุดมีเพื่อนรุ่นพี่อันเป็นที่รักแนะนำว่า "นี่ เธอควรบันทึกไว้เป็นบทเรียนแก่ตัวเธอเองและผู้อื่นๆนะ เช่นน้องเธอ อะไรเงี๊ยะ " ดิฉันก็เลยคิดว่ามาบันทึกไว้ที่นี้เพื่อจะได้ทำอะไรให้มีประโยชน์บ้าง

ดิฉันเป็นคนบ้านนอกโดยกำเนิด เมื่อปี ๒๕๓๗ ได้มีโอกาสไปเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอปี ๒๕๓๙ ก็สอบไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน เพื่อจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์อะไรก็ได้ที่จะพาดิฉันกลับไปอยู่บ้านได้

อาจารย์ที่สัมภาษณ์บอกว่า คุณเป็น activist ดิฉันยังจำได้ว่าตอบไปว่า no no no ดิฉันไม่ใช่นักกิจกรรม  ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ คิดย้อนกลับไปแล้วตลกจริง เมื่อครั้งนั้น ไม่เข้าใจคำว่า activist จริงๆ เพราะเรียนจนถึงปีสาม ยังไม่เคยเรียนเลยว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร พึ่งพาคืออะไร รู้แต่ว่าคนที่ไปนำประท้วงนั่นแหละเรียนว่า activist ดิฉันต้องขอขอบพระคุณ ดร.สมศักดิ์ ที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม และสอนวิชาระบบเศรษฐกิจไทยให้ดิฉัน อาจารย์บอกว่าให้นักศึกษาทุกคนไปทำรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย เทอม ๒ ปี ๒๕๓๙ ก็คือ คาบเกี่ยว ๒๕๔๐ ดิฉันเลือกทำเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งภายหลังได้เกรด C+ และคำพูดที่อาจารย์บอกว่า ประเทศไทยเป็น NICS เราเป็นเสือตัวที่ห้า เราไม่ถอยหลังเข้าคลองแบบนั้นหรอก ต่อมาไม่กี่เดือน ประเทศไทยของเราก็พบวิกฤตเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก ช่วงนั้นดิฉันไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาพอดี ยังจำได้ไม่ลืมว่า หนึ่งดอลล่าร์สหรัฐเท่ากับห้าสิบหกบาท 1 USD=56 บาท เขาเรียกกันยุคนั้นว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง"

กลับถึงประเทศไทยเดือนมกราคม ๒๕๔๑ ประเทศไทยยังอยู่ในความโศกเศร้า โทรทัศน์ยังมีโฆษณาว่าชีวิตยังมีหวัง อย่าปลิดชีวิตด้วยแค่ล้มทางเศรษฐกิจหรือตกงาน (ไม่อยากจะเชื่อว่าปี ๒๕๕๑ เหตุการณ์แบบนี้กลับมาอีกครั้งที่มีครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจตัดสินใจจบชีวิตลง)

เมื่อครั้งไปเรียนได้พบประสบการณ์ใหม่ๆมากมาย พบเห็นว่าภาคชนบทหรือบ้านนอกของสหรัฐอเมริกาเขาอยู่ได้ และอยู่ได้ดีเสียด้วย เกิดความสงสัยมากมาย ดิฉันเลือกเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ และการจัดการ รู้สึกเหมือนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ดิฉันรู้สึกเหมือนว่าสหกรณ์จะเป็นทางออกของเกษตรกรไทย จึงทำรายงานเรื่องระบบสหกรณ์ในประเทศไทย ยังจำได้ว่าเมื่อส่งรายงานเสร็จ อาจารย์ที่สอนบอกว่าหวังว่าสิ่งที่ผมสอนคุณไปคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 ดิฉันเคยเป็นเด็กอาสาช่วยกองถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่พาออกไปดูงานที่ชาวบ้านทำ ดิฉันได้เห็นความเข้มแข็งของชาวบ้าน ได้เห็นการแก้ปัญหาร่วมกันของคนในชุมชน ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ยังสงสัยตัวเองว่าเรียนหนังสือที่กรุงเทพสามปีกว่า ได้อะไรบ้าง แม้แต่ประเทศไทยก็ไม่รู้จัก มีอะไรใหม่ๆให้รู้ตั้งเยอะ

ดิฉันตัดสินใจเรียนมหาบัณฑิตในสาขาที่อยากรู้ที่สุด พัฒนาชนบทศึกษา ขอบพระคุณอาจารย์และพี่ๆที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่พาให้รู้เรื่องประเทศไทยดีขึ้น  ดิฉันได้ช่วยงานอาจารย์ท่านหนึ่งที่ให้ไปเก็บข้อมูลตามจังหวัดต่างๆทุกภูมิภาค รู้สึกว่าได้รู้จักแผ่นดินเกิดมากขึ้น ดิฉันได้รู้ว่าน้ำข้าวผสมกับนมข้นหวานนี่อร่อยเหมือนนมวัวต้มใส่น้ำตาลทรายแต่คุณค่าอาหารต่างกันเยอะ

ครบรอบสิบปีที่กลับมาอยู่บ้านนอก การเดินทางกลับมาทำงานที่บ้านนอกอันเป็นที่รักเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดที่สุด ดิฉันรู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่ที่ควรทำ ได้เติมเต็มสิ่งที่หายไประหว่างเมืองกับชนบท หลังจากนี้ไปจะบันทึกเรื่องงานอาสาสมัครทีละเรื่องไปก็แล้วกัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 235398เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท