Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๔)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒๐)

“รุ่งอรุณ” การจัดการความรู้ โรงเรียนวิถีพุทธ

         (โปรย) กระบวนการบูรณาการองค์ความรู้จากผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบ ของโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจเรียกได้ว่า “จัดการความรู้” เป็นส่วนหนึ่งของวงจรเรียนรู้ที่เริ่มต้นจาก “ฐานคิด” กำหนดเป้าหมายไปสู่การกระทำ “กิจกรรม” ที่ก่อ “ผลลัพธ์”  ถูกประเมิน วิเคราะห์ และจัดการสังเคราะห์เป็นชุดข้อมูลความรู้ใหม่ ส่งกลับไปปรับเปลี่ยน “ฐานคิด” เพื่อออกแบบ “กิจกรรม” ต่อไป นับเป็นอีกปัจจัยที่จะเพิ่มศักยภาพในกระบวนการคิด และสร้างสรรค์ความรู้ของผู้เรียน

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะทำงานจัดตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ โดย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ได้นำเสนอร่างโครงการก่อตั้งโรงเรียนแนวใหม่ต่อผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเรียนรู้หลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์นายแพทย์อารีย์ วัลยะเสวี และศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เพื่อพิจารณาให้คำแนะนำในการก่อตั้งโรงเรียน
         ต่อมาคณะทำงานฯ ได้จัดทำร่างหลักสูตรนำเสนอต่อที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยนักการศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจในการศึกษาแนวใหม่ ซึ่งได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ต่อการปรับปรุงหลักสูตรให้มีลักษณะ บูรณาการแบบองค์รวม ที่ชัดเจนขึ้น โดยอาศัยทัศนคติและสายตาของครูที่เข้าใจ ทั้งสาระวิชาและผู้เรียนเป็นอย่างดีมาเป็นแนวทางในการจัดสร้างหน่วยการเรียนการสอนที่ครอบคลุมเป้าหมายการ เรียนรู้ได้จริง
         ด้วยระบบการเรียนการสอนที่เน้นการแข่งขัน สนใจแต่การสอนในเนื้อหาวิชาการ โดยละเลยเรื่อง การพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจ กระบวนการการสอนที่ไม่ปรับให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในภาวะที่สังคมมีความสลับซับซ้อน จึงเกิดการเคลื่อนไหวในหมู่นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ห่วงใยสังคม หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจ เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างแท้จริง มิใช่การเรียนเพื่อสอบและแข่งขัน แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้และปัญญาเพียงพอที่จะมาพัฒนาคน พัฒนาสังคม
         โรงเรียนรุ่งอรุณจึงก่อเกิดขึ้นเพื่อทิศทางใหม่ของการศึกษา ให้เป็นสมบัติของสังคมไทย "รุ่งอรุณ" เป็นชื่อที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับเชิญเป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียน การเกิดรุ่งอรุณทางปัญญา (The Dawn Of Wisdom) และท่านยังระบุว่า
         "โรงเรียนรุ่งอรุณ” ถือเป็นโครงการนำร่องในการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์จะพึงทำไ โดยรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดของเราเองและประเทศต่างๆทั่วโลก มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ได้วิธีที่คิดว่าดีที่สุด ทดลองทำ ประเมิน ปรับปรุง แล้วประเมินอีกครั้ง ทำอย่างนี้เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด
         ในกระบวนการเช่นนี้ โรงเรียนรุ่งอรุณไม่เพียงแต่จัดการเรียนการสอนที่คิดว่าดีที่สุดแก่นักเรียนจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเรียนการสอนคนแบบใหม่ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะไปช่วยอบรมครูโรงเรียนของรัฐและเอกชนอื่นๆ ให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ดีขยายออกไปจนทั่วประเทศ โรงเรียนรุ่งอรุณจึงไม่ใช่เป็นเพียงโรงเรียนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติอย่างหนึ่งทีเดียว"
         จากคำกล่าวข้างต้น พอจะตีความได้ว่า โรงเรียนรุ่งอรุณ ใช้การจัดการความรู้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป้าหมายมุ่งไปที่กระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้กระบวนการเรียนรู้ที่ครบถ้วนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ที่จะทำให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          รูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนการสอนจึงต้องเริ่มที่ผู้ถ่ายทอด “ครู” จึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องของการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ในแบบของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูกับครูด้านประสบการณ์ในการสอนและกลวิธีในการพัฒนาผู้เรียน , ครูกับผู้ปกครองในการแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนการสอน หรือการนำขุมความรู้บางเรื่องที่ผู้ปกครองมีประสบการณ์ดีกว่ามาร่วมกันจัดกระบวนการสอน และระหว่างครูกับชุมชนในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้ได้คลังความรู้ที่จะนำไปพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้คลอบคลุมเป้าหมายของการเรียนรู้ได้จริง
         การประชุมครูทั้งระดับสายวิชา ระดับชั้น และระหว่างชั้นเป็นประจำทุกๆสัปดาห์ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มครู  ให้ครูได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง มีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาความรู้ระหว่างครูกับครู ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของการจัดการความรู้ที่ทำให้ครูมีเพิ่มสมรรถนะให้กับตัวเองและสามารถจัดการเรียนการสอนที่ดีได้

“วิถีพุทธ...ธรรมชาติของการเรียนรู้”
         ระบบ “วิถีพุทธ” เป็นระบบที่โรงเรียนรุ่งอรุณนำเข้ามาบูรณาการกับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่ง วิถีพุทธ ที่ว่านี้ คือ ความเชื่อและ ความศรัทธาในกระบวนการการเรียนรู้ และเชื่อว่ามนุษย์เติบโตมาพร้อมกับการเรียนรู้
         การเรียนการสอนของโรงเรียนจึงเน้น 2 อย่าง คือ 1. ครูเป็น  2. เด็กเป็น
“เป็น”   ในที่นี้คือสามารถเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้จริงด้วยตัวเอง ช่วงแรกรับรู้ก่อน แล้วก็รู้สึกในสิ่งที่ตัวเองเรียน เมื่อรู้แล้วก็เป็น คือ เอาสิ่งนั้นมาใช้กับตัวเองได้ ถัดจากนั้นก็ สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้ให้คนอื่น ได้เป็นขั้นที่ 3 เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น รู้วิธีว่าสิ่งที่ตัวเองรู้ สิ่งที่ตัวเองเป็น ก่อเกิดความดีความงามอะไรในชีวิต ทั้งของตัวเองและคนอื่น โดยครูก็จะจัดการเรียนการสอนที่จะให้เกิดผลขึ้นมาทั้ง 3 ขั้นนี้เป็นรูปธรรม ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้ถ่ายทอดและแม่นยำกับสิ่งที่เขารู้ สิ่งที่เขาเป็นและติดตัวเขาต่อไป
         รศ.ประภาภัทร นิยม หรือ “ครูอ๋อย” ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ บอกว่า โรงเรียนแนววิถีพุทธได้ ใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งหมด สอนว่าไม่มีชีวิตใดในโลกที่เหมือนชีวิตมนุษย์ ที่เติบโตขึ้นด้วยการเรียนรู้ เสมือนเป็นแบบฝึกหัดให้เรียนรู้ทั้งกายทั้งใจ และเชื่อว่ามนุษย์จะเจริญขึ้นต้องอาศัยการเรียนรู้ ดังนั้นการเรียนรู้ในรั้วรุ่งอรุณจึงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญา
         ตัวอย่างของกระบวนการเรียนการสอน มีการจัดการความรู้ที่เห็นได้ชัด และเอื้อประโยชน์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และสัมผัสของจริงได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งจากครู ผู้ปกครอง และแม้กระทั่งชุมชน
         เนาวรัตน์ เนาสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยชั้น ป.2  บอกว่า การจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ทางโรงเรียนเป็นผู้กำหนดเอง โดยครูมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการเรียนการสอนว่าผู้เรียนควรจะเรียนอะไรบ้าง เช่น วิชาภาษาไทย มีการลงภาคสนาม ครูผู้สอนก็จะพิจารณาจากทรัพยากรบริเวณโดยรอบชุมชนใกล้โรงเรียน เช่น “กล้วย” ครูก็จะสื่อถึง “การให้” การที่กล้วยให้ประโยชน์ต่อคนมากมาย ทั้งต้น เหง้า ผล ใบ หยวก หัวปลี ฯลฯ ที่คนนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
         ทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในเรื่องของความ “กตัญญู” ก็คือการ “ตอบแทน” ในสิ่งที่ผู้เรียนได้ประโยชน์กลับมา ต่อจากนั้นก็อิงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ เช่น เรียนเรื่อง “ หยวกกล้วย” ให้อะไรกับเราบ้าง ซึ่งคำว่า “หยวก” จะมีเรื่องของอักษร “ห” นำ ซึ่งนั่นจะเป็นกระบวนการนำผู้เรียนเข้าสู่บทเรียนในขั้นตอนต่อไป

ขุมความรู้จากผู้ปกครอง
         ขุมความรู้ที่ได้รับจากผู้ปกครอง ทั้งความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนได้รับความร่วมมือมาทุกปี และทุกระดับชั้น เช่น ครูสอนนักเรียนชั้น ป.1 อาจจะมีผู้ปกครองที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างน้อยสุดเดือนละ 2-3 ครั้ง เช่น วิชาการทำอาหาร (ป.1 มีการทำอาหารทำกันเองเวลากลางวัน)
         ผู้ปกครองอาสามาช่วยในการใช้เทคนิคในการทำอาหาร , หรือเรื่องอุปกรณ์ในทำอาหาร เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการทำขนมจีบ ซึ่งผู้ปกครองมีขุมความรู้ (Tacit Knowledge) ในเรื่องการทำขนมจีบมากกกว่าครู นอกจะถ่ายทอดให้ครูรู้ได้ เด็กๆก็จะได้เรียนรู้ทักษะและวิธีการทำขนมจีบด้วย
         “ตอนนั้น ผู้ปกครองก็เอาตาชั่งมาจากบ้านมาเลย เอามาชั่งส่วนผสม ซึ่งสามารถชั่งได้ละเอียดมาก แม้แต่เกลือหยิบมือเดียวยังสามารถชั่งน้ำหนักได้ ซึ่งผู้ปกครองก็ให้ความรู้ว่าการจะทำขนมจีบจะต้องมีความละเอียดเรื่องส่วนผสมถึงจะอร่อย” ครูเนาว์กล่าวและว่า
         สิ่งที่ครูได้ความรู้ก็คือเรื่องส่วนผสม ความละเอียด และเทคนิคการนวดกุ้งให้นุ่มอร่อย สำหรับสิ่งที่นักเรียนได้ก็คือ การทำอะไรสักอย่างแม้กระทั่งขนม ก็ไม่ใช่แค่ทำเล่นๆ ต้องทำอย่างจริงจังและสามารถทำให้กินได้ด้วย ( ครูเนาว์บอกว่า ผู้ปกครองทุ่มเทและจริงจังมาก ทำขนมจีบนานเกือบ 4 ชั่วโมง ได้ขนมจีบกินกันไม่กี่ลูก )

เกร็ดความรู้จากชุมชน
         ความรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากชุมชน โรงเรียนรุ่งอรุณได้จัดหลักสูตรที่จะนำมาให้นักเรียนสัมผัสของจริง เช่น วิชาสังคม หน่วย “มวลมิตรชุมชน” หรือ วิชาวิทยาศาสตร์ หน่วย “ธรรมชาติน่าฉงน” ครูจะนำเด็กลงพื้นที่ชุมชนใกล้โรงเรียน ศึกษาวิถีชีวิตคนในชุมชนบางมด บรรพบุรุษของชุมชนบางมด ที่มีอาชีพตั้งแต่สมัยคนเฒ่าคนแก่ ที่เคยทำนา ทำสวนส้ม กระทั่งมายึดอาชีพทำสวนกล้วยไม้ในปัจจุบัน
         ซึ่งการทำกิจกรรมในลักษณะนี้ผู้เรียน จะมีพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชนที่เขาได้เรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกัน เด็กก็ไม่ได้ละทิ้งชุมชนของเขา สามารถเอาความรู้ที่ได้จากชุมชนบางมด ประยุกต์ใช้กับชุมชนเมืองที่เด็กกำลังเผชิญได้อย่างมีความสุข
         แน่นอนเมื่อได้เรียนรู้ชุมชนอื่นแล้ว ครูจะฝากการบ้านให้นักเรียนไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง เช่น รอบๆชุมชนของนักเรียนมีอะไรบ้าง มีสถานที่อะไรน่าสนใจ นักเรียนเคยไปหรือไม่ และไปทำกิจกรรมใดในสถานที่เหล่านั้น เพื่อมานำเสนอหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดจากประสบการณ์ตรงระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนได้
         กระบวนการเหล่านี้ นอกจากนี้ยังให้เด็กได้เรียนรู้ โดยการสอบถาม , สัมภาษณ์ผู้ปกครอง ว่ามีพื้นเพบ้านเกิดของตนเองมาจากที่ใดแล้ว ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของชุมชนเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเด็กทั่วไปมักจะไม่รู้รากฐานแหล่งกำเนิดของตนเองสักเท่าใด

ผลลัพธ์ของกระบวนการเรียนรู้
         วิถีการเรียนรู้สู่ปัญญาดังกล่าว จึงเป็นทิศทางการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อนำธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ไปสู่อิสรภาพทางปัญญาผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียน ดังนั้นการบูรณาการองค์ความรู้จากผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบ ของโรงเรียนรุ่งอรุณ นับว่าเป็นอีกปัจจัยที่จะเพิ่มศักยภาพในกระบวนการคิด และสร้างสรรค์ความรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เรียน ไม่เพียงได้เฉพาะจากครู แต่ยังได้องค์ความรู้แบบฝังลึก เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยจากผู้ปกครองที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนละแวกใกล้เคียง
         กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้สามารถตอบโจทย์ของความเป็นโรงเรียนแนววิถีพุทธ เป็นแนวทางใหม่ของการศึกษาที่ว่า “การเรียนต้องเรียนด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนยังไม่รู้ว่าเรียนอะไร แล้วครูจะสอนไปทำไม ไม่ควรให้สิ่งที่สอนเป็นเพียงแผ่นกระดาษ แต่ควรทำให้มีชีวิต และสามารถนำมาประยุกต์กับชีวิตได้”
เพราะการเรียนรู้นั้น นับเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ (ซึ่งแตกต่างอย่างเด่นชัดจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ) หากแต่การจัดการศึกษานั้น เป็นระบบหนึ่งที่สังคมมนุษย์ได้สร้างและพัฒนาขึ้นจนเป็นแบบแผน อันมีแก่นสาระและกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ พอที่จะธำรงสังคมให้เจริญงอกงามต่อไป
         “การศึกษา” ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็นับว่ามีบทบาทสำคัญในการนำธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ มาพัฒนาแก่นสาระและกระบวนการที่เชื่อได้ว่าจะเป็นครรลองสู่อิสรภาพทางปัญญาซึ่งเป็นคุณสมบัติแห่งการศึกษาที่สมบูรณ์ของมนุษย์
         ผลพวงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสานความร่วมมือทั้งครู  ผู้ปกครอง และชุมชน จึงเป็นการผสานพลังของขุมความรู้รอบด้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและได้วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียน ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้เรียนได้กระบวนการคิด วิเคราะห์หาเหตุผลในสิ่งที่ได้เรียนรู้
         “รุ่งอรุณ” ก็นับว่าเป็นโรงเรียนที่เกิดการจัดการความรู้ตั้งแต่ภายในรั้วโรงเรียน กระทั่งขยายการเรียนรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบโดยเน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญนั่นเอง.

รศ.ประภาภัทร นิยม
โรงเรียนรุ่งอรุณ
9/9 หมู่ 5 ถนนพระราม 2  ซอย 33 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทรศัพท์ 0-2870-7512-4  โทรสาร  0-28707514

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23503เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2006 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กระบี่อยู่ที่ใจ ใจอยู่ที่กระบี่

ใช้กระบี่โดยไร้ใจ เท่ากับสังหารตนเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท