ความสำคัญของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ต่อสังคมโลก


เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทางสังคมและแต่ละกลุ่มมักจะมีชื่อเรียกกลุ่มของตนเอง เพื่อแสดงถึงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ (identity) ของกลุ่ม ตลอดจนการกำหนดสิทธิและหน้าที่แก่บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกที่จะได้รับการปกป้องและคุ้มครองซึ่งกันและกันในเบื้องต้นภายในกลุ่ม อย่างไรก็ตามกลุ่มทางสังคมย่อมมีที่มาจากเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มทางสังคมโดยเงื่อนไขทางศาสนา ภาษา รูปร่างหรือลักษณะที่แสดงออกทางกายภาพ ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรม*

               

แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาของมนุษยชาติปรากฏเหตุการณ์อันเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ข้อความคิดในทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำลายล้างเผ่าพันธุ์นั้นยังเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกหลังจากการกระทำอันทารุณโหดร้ายของพรรคนาซีเยอรมันต่อประชาชนเชื้อสายยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเงื่อนไขของการกระทำที่เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มีที่มาครั้งแรกจากแนวคิดของ Raphael Lemkin นักกฎหมายชาวโปแลนด์ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสนอให้มีการจัดทำอนุสัญญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมระหว่างประเทศว่าการทำลายล้างเผ่าพันธุ์เป็นการกระทำอันฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ตามคำนิยามโดย Lemkin นั้นคือ การกระทำที่ผู้กระทำมีความมุ่งหมายให้เป็นการร่วมกันวางแผนเพื่อที่จะทำลายรากฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ของกลุ่ม (essential foundations of the life of a group) ด้วยวัตถุประสงค์ในการจำกัดกลุ่มนั้นให้หมดสิ้นไป[1] เนื่องจากการกระทำความผิดฐานทำลายล้างเผ่าพันธุ์เป็นรูปแบบหนึ่งของอาชญากรรมระหว่างประเทศร้ายแรง โดยการสังหารกลุ่มคนจำนวนมากด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิวหรือเหตุผลอื่น ดังนั้นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์จึงเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงสูงสุด เนื่องจากผู้กระทำนั้นไม่คำนึงถึงคุณค่าของการมีชีวิตของเพื่อนมนุษย์และมุ่งหมายที่จะกำจัดกลุ่มคนกลุ่มที่แตกต่างจากตนออกไปอย่างถอนรากถอนโคน

                  อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 หรืออนุสัญญาทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Convention on the Prevention and Punishment the Crime of Genocide 1948 หรือ the Genocide Convention) จึงถือกำเนิดขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากการสังหารชาวยิวจำนวนกว่าหกล้านคนโดยรัฐบาลทหารนาซีในประเทศเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลดังกล่าวสร้างค่ายกักกันและกระทำทารุณโหดร้ายต่อกลุ่มคนดังกล่าวอย่างไร้ความปราณี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์รับรองว่าการทำลายล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการประณามจากนานาอารยประเทศและกำหนดให้ปัจเจกชนไม่ว่าสถานะใดต้องรับผิดในอาชญากรรมดังกล่าวที่ตนได้กระทำขึ้นด้วย[2] ซึ่งถือว่าอนุสัญญานี้วางหลักอย่างชัดเจนในเรื่องความรับผิดของปัจเจกชน ไม่ว่าทางทหารหรือพลเรือน ประมุขรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสามัญชนให้มีความรับผิดและได้รับโทษในทางอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการยืนยันความมีอยู่ของหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของปัจเจกชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้งและเป็นการห้ามนำหลักความคุ้มกัน (immunity) ในฐานะที่เป็นผู้นำของรัฐไม่ว่าทางทหารหรือพลเรือนเพื่อมิให้ตนต้องรับผิดชอบทางอาญา

                ความสำคัญของอนุสัญญาทำลายล้างเผ่าพันธุ์นอกจากจะมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับกฎหมายระหว่างประเทศสาขาต่างๆอันได้แก่ สิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศแล้วยังวางหลักการสำคัญเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกลไกในการลงโทษผู้กระทำความผิดอีกด้วย ได้แก่ การให้ความคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ (protection the groups of victims) ของอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ความรับผิดของปัจเจกชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (individual responsibility) และหลักเขตอำนาจสากลหรือหลักความผิดสากล (universal jurisdiction) จนมีการนำหลักการทางกฎหมายและข้อบทบางข้อไปบัญญัติไว้ในธรรมนูญของศาลระหว่างประเทศทางอาญาทั้งที่เป็นศาลเฉพาะกิจและศาลถาวร ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์เป็นความผิดร้ายแรงต่อมนุษยชาติซึ่งผู้กระทำสมควรได้รับโทษจากการกระทำผิดของตน โดยที่การห้ามการทำลายล้างเผ่าพันธุ์เกิดจากทางปฏิบัติของรัฐและการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศจนถือกันว่าการห้ามการทำลายล้างเผ่าพันธุ์เป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาด (jus cogens) ซึ่งผูกพันรัฐทุกรัฐ (erga omnes) แม้มิใช่รัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้

                อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอนุสัญญาฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับเป็นรูปธรรมในการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ดังที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่อาชญากรรมดังกล่าวมีความร้ายแรง แต่ก็ยังมีเหตุการณ์สังหารประชาชนจำนวนมากมุ่งหมายเพื่อทำลายสมาชิกของอีกกลุ่มหนึ่งไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยการกระทำที่ทารุณโหดร้ายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญ คือ บทบัญญัติในอนุสัญญาทำลายล้างเผ่าพันธุ์ยังคงมีความบกพร่องและข้อจำกัดอยู่พอสมควรทั้งในสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติซึ่งมีส่วนสำคัญในการบังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะคำนิยามของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชัดเจนเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งครอบคลุมลักษณะการกระทำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ โทษที่จะลงแก่ปัจเจกชนที่ต้องรับผิดมีเพียงใด กลไกในการบังคับใช้อนุสัญญาทำลายล้างเผ่าพันธุ์ เช่น ศาลที่จะมาดำเนินคดีและวินิจฉัยชี้ขาด องค์การสหประชาติยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการตามอนุสัญญา เป็นต้น รวมถึงการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์มิได้มีการบัญญัติไว้ว่ารัฐพึงใช้มาตรการเช่นไร ตลอดจนปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งในการบังคับการให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของอนุสัญญาทำลายล้างเผ่าพันธุ์ 

บรรณานุกรม

Adam Jones. Genocide : A Comprehensive Introduction. New York : Routhledge, 2006.

Steven R. Ratner and Jason S. Abrams. Accountability for Human Rights Atrocities in International Law Beyond the Nuremberg Legacy. 2nd Edition. Oxford: Oxford University Press, 2001.

จันทิมา ลิมปานนท์. ปัญหากฎหมายและแนวทางเยียวยาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

ดวงเด่น นาคสีหราช. อาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์กับการเข้าภาคยานุวัติของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.

 

 ---------------------------------------------------------------

                 *หมายเหตุ  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง อาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์กับการเข้าภาคยานุวัติของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551 ของผู้เขียน

[1] Steven R. Ratner and Jason S. Abrams, Accountability for Human Rights Atrocities in International Law Beyond the Nuremberg Legacy, 2nd Edition (Oxford: Oxford University Press, 2001), p. 26.

[2] จันทิมา ลิมปานนท์, "ปัญหากฎหมายและแนวทางเยียวยาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์," (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540), . 138.

 

 



ความเห็น (5)

ขอตัวโตอีกนิดหนึ่ง ตัวเล็กไปนิดหนึ่ง

ขอบคุณค่ะสำหรับคำแนะนำ

แก้ไขตามคำแนะนำแล้วค่ะ

ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่เข้ามาติชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท