บันทึกจากสบเมย (2)


การลงพื้นที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงเห็นวิธีการทำงาน นอกเหนือจากการอ่านตัวหนังสือในตำรา

บันทึกจากสบเมย (2)

วันที่ 7  มกราคม  2552

 

                วันที่ 7  มกราคม  2552 แบ่งผู้ร่วมงานเป็น 2 คณะทำงาน โดยที่ไปลงพื้นที่ที่หมู่บ้านท่าเรือ 1 คณะ และอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน เพื่อเข้าค่ายปฏิบัติการ ค่ายสิทธิการได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อีก 1 คณะ

                ในส่วนของคณะนิติศาสตร์ก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ศูนย์ฯ เพราะการลงพื้นที่ต้องจำกัดจำนวนคน โดยคณะนิติศาสตร์ได้โควตา 10 ที่ แต่เราไปกันทั้งหมด 9 ที่ มีอาจารย์ 2 คน คืออาจารย์ดรัมกับป้าต๊อก เจ้าของพื้นที่อย่างมึดาก็ต้องไปอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นนักศึกษาปีที่ 4 และเป็นผู้ชายทั้งหมด

                เราต้องเดินทางด้วยรถเพื่อไปขึ้นเรือในการเดินทางเข้าชุมชนหมู่บ้านท่าเรือ ขาไป ล่องเรือตามน้ำ เครื่องเรือดับ 3 ครั้ง แต่เราก็ถึงที่หมาย แม้จะเป็นลำสุดท้ายที่ออกจากท่าเรือเป็นลำแรกก็ตาม กลุ่มที่ลงพื้นที่พบกับชาวบ้านที่ศาลาวัด เป็นวัดที่มีแต่พระพุทธรูป แต่ก็เป็นที่พักใจของชาวบ้านได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาไทย จะมีแต่รุ่นเล็กและวัยรุ่นที่พอจะเข้าใจกันได้ แต่ก็ขี้อายกันพอสมควร

                พี่สะท้านบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนหมู่บ้านท่าเรือคร่าวๆ ว่าเป็นชาวปกากะญอที่อพยพหนีตายมาจากพม่า ช่วงแรกๆ เข้ามาทำเหมืองแถบชายแดนจังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเหมืองแร่ปิด ชาวบ้านบางส่วนก็ยังอยู่ในพื้นที่ต่อ จนกระทั่งเกิดปัญหาเรื่องยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาด ทางราชการจึงเข้ามายังชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา ปัจจุบันชุมชนหมู่บ้านท่าเรือมีประมาณ 12 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 67 คน

                จากนั้นเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้สอบถามถึงข้อข้องใจต่างๆ ซึ่งปัญหาที่ยกขึ้นมาพูดคุย คือ ปัญหาที่ทางการไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้ ปัญหาการไม่เข้าใจถึงสิทธิที่แตกต่างกันของผู้ที่ถือบัตรที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลขศูนย์ หรือบัตรที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลขหก โดยคิดว่า เมื่อมีบัตรแล้ว เขาย่อมมีสิทธิเหมือนคนไทยทุกประการ แต่ในความเป็นจริง บัตรนั้นยังไม่ได้แสดงว่าบุคคลดังกล่าวได้สัญชาติไทยแต่อย่างไร หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เป็นเชิงปรับทุกข์ เช่น การติดต่อราชการที่ล่าช้า ทำให้หลายๆ คนท้อ เพราะการจะเข้า-ออกหมู่บ้านไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เท่าไรนัก เป็นต้น

                กลุ่มที่ลงพื้นที่ได้เดินดูหมู่บ้านโดยรอบ พูดคุยกับชาวบ้านตามอัธยาศัย ซึ่งมักจะเป็นการส่งยิ้มเป็นส่วนใหญ่ และกินข้าวกลางวันที่นี่ โดยชาวบ้านทำอาหารมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เราหอบหิ้วกันมาจากศูนย์ฯ

                ขากลับ เรือแล่นทวนน้ำ จึงต้องมีการปรับกระบวนพลกันเล็กน้อย เพราะเรือลำที่มวลหมู่สมาชิกชาวพายัพนั่งมานั้น มันหนักมาก ผู้ร่วมคณะที่มาจากองค์กรอื่นเลยยินดีสละที่นั่งให้ชาวพายัพเผชิญโชคกันเอง ที่ไม่ใช่ชาวพายัพก็มีครูสน พี่สะท้าน และแน่นอน คนขับเรือ 2 คน เที่ยวนี้เครื่องเรือดับ 8 รอบ รอบสุดท้ายที่ดับนั้นทำเอาพวกเราต้องเปลี่ยนเรือ ซึ่งตอนดับรอบที่ 7 เราก็ให้นักศึกษาบางส่วนสละเรือ ไปรออยู่ที่เกาะกลางน้ำประมาณ 6 คน และจะวกมารับในภายหลัง ปรากฎว่าแค่ไม่กี่คนที่เหลืออยู่ในเรือ เราก็ไปกันไม่ได้ มิหนำซ้ำพอเครื่องเรือดับครั้งสุดท้าย เรือก็ลอยถอยหลังตามน้ำ เด็กๆ ที่อยู่บนเกาะต้องลงมาจับเรือกันยกใหญ่ ป้าต๊อกนั่งใจไม่ค่อยดีอยู่บนเรือ แล้วก็ได้ยินเสียงเด็กๆ บอกว่า ไม่ต้องกลัวครับ เดี๋ยวอาจารย์ขี่หลังผมก็ได้...อยากขำแต่ตอนนั้นขำไม่ออก..เอิ๊กส์...ทางเรือ 2 ลำแรกที่ไปก่อนคงเห็นว่ามันนานแล้ว ทำไมยังไม่ถึงซักที ก็เลยย้อนกลับมาดู และได้ทันเห็นภาพที่เด็กๆ อยู่ในน้ำกำลังจับเรือกันอยู่ ส่วนพวกเราที่เผชิญชะตากรรมด้วยกัน ก็ยิ้มออก ในที่สุดไม่ต้องลุยน้ำไปขึ้นฝั่งแล้ว..เฮ้อ...พอถึงฝั่ง คนอื่นๆ ที่รออยู่ก็ขำพวกเรากลิ้ง ว่าได้เล่นน้ำกันด้วย

                กำหนดการเดิม คือ เราต้องไปร่วมขบวนกับพวกที่ศูนย์ฯ ซึ่งตอนนี้ไปที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง แต่ด้วยเวลาที่พวกเราช้ากันมาแล้ว จึงทำให้ไปร่วมไม่ทัน เราเลยตรงกลับมาที่ศูนย์ฯ เด็กๆ ที่เปียกน้ำกันมะล่อกมะแล่กก็ไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า นักศึกษาบางส่วนที่ไม่ได้ไปที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียงกำลังเป่าลูกโป่ง เตรียมการสำหรับรับวันเด็กในวันรุ่งขึ้น

                ช่วงค่ำมีการสรุปงานของวันนี้ เพื่อให้ทุกๆ คนรับรู้ว่ามีการทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ ที่เราจะได้ปรับแก้ในครั้งถัดไป ในส่วนของงานค่ายปฏิบัติการที่ศูนย์ฯพบว่า เวลาของแต่ละฐานน้อยไปนิด ควรจะมีเวลาให้มากกว่านี้ แต่น้องๆ นักศึกษาที่ช่วยอยู่ในแต่ละฐานก็แข็งขันมาก นอกจากนี้ เรื่องของมาตรา 23 ก็เป็นเรื่องใหม่ เลยยังขาดความชำนาญ เมื่อไปที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง พบว่ากิจกรรมนี้ทำให้กระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อำเภอ ฝ่ายนักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเห็นวิธีการทำงาน แต่คงต้องปรับเรื่องของการวางคน ว่าใครจะทำอะไร ตรงไหน เพราะมีจำนวนคนเข้าร่วมเยอะ จนอาจดูวุ่นวาย

                ส่วนกรณีไปลงชุมชนหมู่บ้านท่าเรือนั้น นอกเหนือจากที่ป้าต๊อกเล่าไป นักศึกษาได้สรุปให้ที่ประชุมฟังว่า การลงพื้นที่ ทำให้เห็นบรรยากาศจริง เข้าใจถึงความเป็นอยู่ ความยากลำบากในการเดินทาง และเมื่อเปรียบเทียบวิถีชาวบ้านกับกลไกของรัฐ ก็จะพบช่องว่างในการติดต่อกับทางราชการซึ่งก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันในที่สุด

 

                แน่นอน นักศึกษาของป้าต๊อกประทับใจการเดินทางที่หวาดเสียว (พอสมควร) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังหัวเราะกันได้ โดยเฉพาะการเล่าอย่างสะใจว่า ป้าต๊อกกับพวกที่อยู่บนเรือได้บ๊ายบายพวกที่อยู่เกาะว่าเดี๋ยวจะมารับ แต่ในที่สุด เราก็ต้อง ลงเรือลำเดียวกัน เพราะเครื่องเรือดับ ไม่ยอมให้ใครทิ้งใคร เราเลยต้องไปด้วยกัน...ฮ่าๆๆ

หมายเลขบันทึก: 234629เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อยากบอกป้าต๊อกว่า การที่เรือดับแล้วดับอีก มีนัยยะว่า บ้านท่าเรือยังต้องการความช่วยเหลือจากพายัพ

อีกเรื่องที่ติดใน อ.แหวว ก็คือ แม้ศาลฎีกาใน ฎ.๗๒๐/๒๕๐๕ และคำพิพากษาอีกจำนวนไม่น้อยที่ตามมา จะบอกเราว่า อำเภอมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสให้แก่มนุษย์ในสังคมไทย แต่ก็แปลกที่อำเภอส่วนใหญ่ยังดื้อดึงที่จะไม่ทำตามกฎหมาย และแปลกใจมากไปกว่านั้น ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่รู้สึกเดือดร้อนที่เจ้าหน้าที่ของตนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

เรามองเห็นความไม่เคารพกฎหมายแม้ในหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษษการตามกฎหมาย เราคงต้องถามตัวเราเองว่า มันเป็นความผิดของมหาวิทยาลัยไหมนะ

สังคมต้องการงานวิจัยมากมาย และในหลายหัวข้อก็ไม่ยากเกินไป แต่ดูอนาคตมหาบัณฑิตจำนวนมากไม่ได้หาหัวข้อวิทยานิพนธ์จากความต้องการของสังคม

จะมีลูกศิษย์พายัพสักคนไหมนะที่จะอยากทำงานวิจัยเรื่องสิทธิในการจดทะเบียนสมรสของคนไร้สัญชาติแห่งสบเมย .... งานวิจัยที่นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางครอบครัวของมนุษย์รากหญ้าที่ไม่มีปัญญาจ้างใครมาทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาด้อยโอกาสที่เขาเผชิญอยู่

หวังว่า จะมีลูกศิษญืพายัพสักคนหนึ่งเข้าใจในความพยายามของป้าต๊อกที่พวกเขาไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นภาพของหนังสือรับรองการเกิดที่ อ.แหววถ่ายเมื่อไปเยี่ยมบ้านท่าเรือเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ และเป็นโอกาสที่ได้เด็กหญิงมึดาน้อยนั่นเอง

  • สวัสดีค่ะ
  • มาเป็นอีกหนึ่งกำลังใจนะคะ
  • สู้ๆนะคะเพื่อคนไทยบางส่วนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย
  • ขอบคุณนะคะ

อาจารย์แหววคะ

คงมีนัยยะอะไรบางอย่างจริงๆ มึดาเองยังบอกว่า สงสัย "เขา" (ใคร?) อยากให้รู้ว่าที่นี่ยังมีปัญหา และหวังว่าพี่ๆ น้องๆ จากพายัพจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ

อาจารย์ครับ

ยังไงก็มีงานวิทยานิพนธ์ผมอีกงานนะครับที่ทำเพื่อสังคมครับ จะพยายามเขียนส่งตลอดนะครับ

ก๊อด

อ่านไปลุ้นไป นึกถึงช่วงนั่งเรือไปสบเมย เคยเจอเช่นกันค่ะ

แต่ตอนนั้นเรือรั่ว ทุกคนต้องช่วยเอาเสื้อ เศษผ้า อุดรอยรั่ว

ทริปผจญภัยอย่างจะจำประทับใจสมาชิกเรือลำเดียวกันนานเท่านานจริงๆค่ะ

เป็นกำลังใจให้คนทำงานเพื่อชุมชน สังคม นะคะ ... ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน และยินดีที่ได้รู้จักค่ะคุณ poo

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท