โครงการพระราชดำริ


โครงการแก้มลิง

ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management)

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยที่ร้ายแรงของวิกฤติน้ำท่วมกรุงเทพ ฯ และทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขบัญหาเพื่อผ่อนคลายทุกข์เข็ญของพสกนิกรหลายประการ อาทิ การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อกันการขยายตัวของเมืองและเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ขยายทางน้ำ หรือเปิดทางระบายน้ำในจุดเส้นทางคมนาคมสำคัญ ได้แก่ ทางหลวง และทางรถไฟ ประการสุดท้ายคือ การสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่งคราว ก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก

          โครงการแก้มลิง คือการจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นบึงพักน้ำให้หน้าน้ำ โดยรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ ฉะนั้น เมื่อฝนตก น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะถูกขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ รอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้ จึงค่อยๆ ระบายน้ำลง เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขัง ได้ในระดับหนึ่ง

          นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำแล้ว แนวพระราชดำริ แก้มลิง จึงผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะไปบำบัด เจือจางน้ำเน่าเสีย ในคลองเหล่านี้ให้เบาบางลงแล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเน่าเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล

วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่าง ๆ คือ

          1. การก่อสร้างคันกันน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านใน

          2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้นเข้ามาให้ออกไป

          3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ "แก้มลิง"

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

          1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล

          2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ

          3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

          4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว

(One Way Flow) หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ

          1. การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ

          2. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ

          3. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง

          โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ

          1. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"

          2. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"

          3. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"

          โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."

 การจัดหาและการออกแบบแก้มลิงเพื่อชะลอน้ำท่วม

          วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการ ให้มีการชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำ ก็เพื่อลดหรือชะลออัตราการไหลของน้ำผิวดิน ที่เกิดจากการไหลที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้พื้นที่ระบายน้ำก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบ ระบายน้ำสาธารณะ           ในการพิจารณาออกแบบพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ จะต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินที่จะเก็บกักและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุดที่จะยอมให้ปล่อยออกได้ในช่วงเวลาฝนตก ปริมาตรที่เก็บกัก ควรจะเป็นปริมาตรน้ำที่เพิ่มขึ้นเมื่อพื้นที่ระบายน้ำได้รับการพัฒนาแล้ว

          ในการจัดหาพื้นที่แก้มลิง ที่สำคัญที่สุดของการจัดหาพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ คือจะต้องพยายามจัดหาพื้นที่เก็บกักให้พอเพียง เพื่อที่จะได้ควบคุมอัตราการไหลออกจากพื้นที่ชะลอน้ำเหนือ พื้นที่เก็บกักน้ำไม่ให้เกินอัตราการไหลออกที่มากที่สุด ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการท่วมขังในระบบระบายน้ำสาธารณะหรือพื้นที่ต่ำ

          สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เก็บกักน้ำฝนชั่งคราวก่อนระบายลง ระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งในชั้นแรกจะทำการจัดหาพื้นฝั่งพระนคร โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำปริมาตร 13ล้านลูกบาศก็เมตร

          ปัจจุบันสำนักการะบายน้ำได้จัดหาพื้นที่แก้มลิงได้จำนวน 20 แห่ง และมีความสามารถในการเก็บกักน้ำได้ 10,062,525 ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ทางด้านฝั่งธนบุรีจะมีคลองเป็นจำนวนมาก โดยคลองส่วนใหญ ่เห็นคลองตามแนวตะวันออกตะวันตก ซึ่งระบายน้ำออกทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงฤดูน้ำหลากจากทางเหนือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับสูงขึ้น จึงควรใช้คลองหลักที่มีอยู่นั้นเป็นแก้มลิง โดยทำการสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเก็บกักและระบายน้ำออกสู่ทะเล

 ประเภทและขนาดของแก้มลิง

          1. แก้มลิงขนาดใหญ่ ( Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆโดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ การจัดสร้างพื้นที่ชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำจะมีหลายประเภท คือ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีจะมีวัตถุประสงค์อื่น ประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น

          2. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ได้มีการก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น

          3. แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง

แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า “แก้มลิงเอกชน“ ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “แก้มลิงสาธารณะ”

 ความจำเป็นในการดำเนินโครงการแก้มลิง

          1. การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากลักษณะธรรมชาติ มาเป็นพื้นที่พัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทำให้ปริมาณและอัตราการไหลสูงสุดของน้ำผิวดินในพื้นที่เพิ่มขึ้น

          2. ปริมาตรและอัตราการไหลของน้ำผิวดินที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ทึบน้ำ จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทางด้านท้ายน้ำหรือที่ต่ำเพิ่มมากขึ้น ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจึงขยายตัวเพิ่มขึ้น ไปทางด้านเหนือน้ำ

          3. ขนาดของคลองและความจุเก็บกักทางระบายน้ำเป็นประการสำคัญเพราะมีขนาดเล็กกว่าความสามารถในการรองรับปริมาณและอัตราการไหลสูงสุดของน้ำผิวดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการรุกล้ำคูคลอง และพื้นที่สาธารณะ

 

 คลองกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ


 

          ข้อเท็จจริงคลองเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาของเมืองหลวงมาช้านาน โครงการ พระราชดำริ เช่น โครงการแก้มลิงนั้น เป็นโครงการที่เหมาะสมยิ่ง สำหรับการระบายน้ำ จากทางเหนือ ที่ไหลบ่า ลงมาทุกปี ในฤดูน้ำหลาก การตัดสินใจของนายกทักษิณ ที่จะขุดลอกคูคลองทั้ง ๔๔ สาย เป็นความคิด ริเริ่มที่ดี ในการเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย


          ปัจจุบันโครงการแก้มลิงมีการดำเนินการแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ โครงการระบายน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำ เจ้าพระยา โดยจะใช้คลองที่ตั้งอยู่ชายทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่ เป็นทางเดิน ของน้ำ ตั้งแต่จังหวัด สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ส่วนที่สอง คือคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำ ในพื้นที่ ตั้งแต่ จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และ กรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเล ด้านจังหวัด สมุทรสาคร

          ชาวกรุงเทพชั้นในจะได้รับประโยชน์จากโครงการขุดลอกคลองในเรื่อง ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมขัง ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่รอบกรุงเทพและปริมณฑล จะได้เครือข่ายของชีวิต และสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และลูกโซ่ของอาหาร จะฟื้นสภาพ ในระยะยาว ซึ่งทำให้มีแหล่งอาหารเพิ่มมากขึ้น

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จฯประพาส คลองแสนแสบ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๗ เป็นระยะทางกว่า ๗๒ กิโลเมตร ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรถ้วนหน้า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ ให้กำหนด วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปีเป็น วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ และกำหนดให้ปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๖ เป็นปีแห่งการอนุรักษ์ และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ แนวคิดที่จะฟื้นฟู สภาพคลองแสนแสบ ให้กลับมาเหมือนเดิมนั้น เคลื่อนไหวโดย ชุมชนริมคลอง ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน อนุรักษ์ และพัฒนา แต่ละบ้าน ช่วยกันกำจัด ผักตบชวา ไม่ทิ้งขยะ ลงคลอง ชุมชนริมคลองแสนแสบ เช่น ชมรมรวมใจภักดิ์ รักษ์ต้นไม้ ปฏิบัติงาน อย่างจริงจัง มีกิจกรรม ต่อเนื่อง เพื่อให้คลอง "ตื่น" และ "น้ำกระเพื่อม" อยู่ตลอดเวลา จัดงานประเพณี ลอยกระทง แข่งเรือ และการละเล่น เป็นประจำทุกวันที่ ๒๐ กันยายน

          การที่ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ลอกคลองทั่วกรุงเทพ ๔๔ สาย โดยจะให้เสร็จภายใน ๔ เดือน อย่าให้เป็นแบบ ไฟไหม้ฟาง เพราะการอนุรักษ์และพัฒนานั้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องให้ ประชาชน มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ เมืองที่เคยมีต้นมะกอกขึ้นอยู่มากนั้น เคยอยู่ในฐานะ เมืองต้นแบบของโลก ที่ไม่มีใครเหมือน เป็นเมืองที่ลอยอยู่บนน้ำ สวยงาม ไม่แพ้คลองตารางหมากรุก ของเมืองซูโจว ประเทศจีน เมืองบางกอก มีบริการ ขั้นพื้นฐาน ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว น่าจะเก็บเกี่ยวดอกผล จากการส่งเสริม การท่องเที่ยว การขายความคิด เรื่องคลอง ไม่ใช่การกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ถ้าชุมชนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ตั้งแต่ต้น

หมายเลขบันทึก: 234560เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท