การฝึกจิตให้ว่าง : ศิลปะการต่อสู้และการใช้ชีวิต


การฝึกจิตให้ว่าง แต่ยังคงสติแวดระวังอย่างสงบ ผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ มีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ

               เย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้อีกบทเรียนหนึ่ง ในการเข้าฝึกซ้อม “ไอคิโด” (ศิลปะการต่อสู้ประเภทหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น ที่หลีกเลี่ยงการใช้กำลังปะทะกำลัง โดยเน้นการเปลี่ยนทิศทางแรง และการแตกแรง โดยวิธีเข้าหักข้อต่อต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อศอก หลัง หัวเข่า ข้อเท้า และพร้อมๆกันนั้น มีลักษณะการเหวี่ยงทุ่มลงพื้น และถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็เข้าไป search คำว่า aikido ดูนะครับ)


ที่โดโจ (สถานฝึก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ เราฝึกร่วมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หญิงและชาย ต่างชาติและคนไทย เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบหนึ่งที่พยายามขจัดการแบ่งแยกทั้งในแง่กายภาพ สถานภาพทางสังคมวัฒนธรรม และจิตวิญญาณ


โดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำเป็นบันทึกไว้วันนี้ หาใช่เรื่องเทคนิคทางกายภาพ ซึ่งเราคิดว่าหาอ่านได้ทั่วไป หรือดูหนังบู๊ฮ่องกง บู๊ฮอลลีวู้ด บู๊ไทย หรือบู๊ประเทศไหนๆก็ดูได้ ฝึกได้ เลียนแบบได้


เทคนิคสุดท้ายในการฝึกวันนี้ เป็นเทคนิคการกระทำจากท่านั่ง (ซูวาริวาซา โคคิวโฮ) ผู้ฝึกสองคนจะนั่งบนส้นเท้าเข่าแยกออกจากกันพอประมาณ และนั่งประจันหน้ากันห่างกันพอประมาณ ผู้โจมตีจะยื่นมือพาจับแขนของอีกฝ่ายแล้วออกแรงดัน ในส่วนของผู้ที่ถูกจับนั้นก็จะต้องควบคุมแรงที่ผู้โจมตีส่งมานั้นให้ได้ แล้วเปลี่ยนทิศทางแรงกลับไปทุ่ม/ล็อคผู้โจมตีลงกับพื้น


เทคนิคนี้ ใช้ลมหายใจออกเป็นสำคัญ  และแรกๆ ผมคิดว่าต้องใช้สมาธิเป็นอย่างสูงด้วย เวลาฝึก ผมจึงตั้งใจมาก ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จบ้าง ไม่ประสบผลสำเร็จบ้าง


วันนี้ โอกาสดี ผมได้ฝึกเทคนิคนี้กับรุ่นพี่ที่เป็นชั้นสายดำ


ผมลองเอามือทั้งสองกดข้อมือของรุ่นพี่ไว้กับต้นขา ออกแรงกดโดยใช้แรงแปดในสิบส่วน (ไม่กล้าใช้แรงมาก เกรงว่าแรงย้อนกลับจะมาก จะทำให้เราบาดเจ็บได้ง่ายตามไปด้วย) รุ่นพี่ยกมือขึ้นเบาๆ เหมือนไม่ตั้งใจยก ผมก็เสียการทรงตัวแล้วถูกควบคุมลงพื้นเบาะได้โดยง่าย
รุ่นพี่ว่า ลมหายใจนั้นสำคัญ และการที่ผมมุ่งมั่นเกินไปที่จะเอาชนะนั้น ทำให้ผมเกร็ง ไม่ผ่อนคลาย ผมจึงไม่สามารถควบคุมแรงของฝ่ายที่โจมตีได้


ทีนี้ ผมลองฝึกด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายขึ้น หายใจออกช้าๆอย่างต่อเนื่อง กำหนดสติไปอยู่ที่ลมหายใจ แทนที่จะไปตรึงไว้ ณ แขนที่ถูกฝ่ายโจมตีกด ผลปรากฏว่าผมสามารถหลุดจากการควบคุมของเขาได้อย่างง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก


“อย่าตั้งใจเกินไป แต่ให้ตอบสนองอย่างผ่อนคลาย ไม่มุ่งที่จะตอบโต้ ให้คิดเสียว่ายกมือขึ้นเพื่อที่จะปัดมดที่อยู่บนหัวตัวเองก็พอ” รุ่นพี่สายดำผู้อ่อนโยนอีกคนหนึ่งย้ำ


การฝึกจิตให้ว่าง แต่ยังคงสติแวดระวังอย่างสงบ ผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ มีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ผมเองยังประหลาดใจกับประสบการณ์นี้ และคิดว่าจะสามารถไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในยามที่เจอสถานการณ์ตึงเครียดเช่นกัน


แต่ที่แน่นอนคือ ผมรู้ตัวว่ายังต้องฝึกฝนอีกไกล...ไปจนตลอดชีวิต

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23434เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ว่าจะไป ฝึกวิทยายุทธ กับท่านพี่ ตั้งนานแล้ว ไม่มีเวลาเลย “อย่าตั้งใจเกินไป แต่ให้ตอบสนองอย่างผ่อนคลาย ไม่มุ่งที่จะตอบโต้ ให้คิดเสียว่ายกมือขึ้นเพื่อที่จะปัดมดที่อยู่บนหัวตัวเองก็พอ” (ชอบประโยคนี้ครับ)

จะว่าไป ไม่มีใคร "มี" เวลาหรอกครับ เพราะเวลาไม่มีตัวตน มันจึงถูกครอบครองโดยใครไม่ได้

ไม่มีอัตตา เพราะไม่ "มี" เวลา คือ ไม่ครอบครองเวลา อีกทั้งไม่หมกมุ่นเป็นทาสของเวลา หากแต่พิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของมัน

ยิ่ง "มี" เวลาเท่าไร ยิ่งเครียด ยิ่งคุมขังตัวเอง

การ "มี" เวลา จึงมิใช่การมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท