แนวทางการลดภาวะเสี่ยงจากอารมณ์ความตึงเครียด


แนวทางการลดภาวะเสี่ยงจากอารมณ์ความตึงเครียด

ผศ. โสภา  อ่อนโอภาส

                การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในสภาวการณ์ตึงเครียดนั้น นักสังคมสงเคราะห์ควรเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้บริการในแต่ละระยะเพื่อจะได้ลดความรุนแรงและความเสี่ยงในแต่ละระดับ การเข้าช่วยเหลือตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจำทำให้เขาสามารถควบคุมอารมณ์ความตึงเครียดได้ Irwin (1997) ได้อธิบายขั้นตอนของภาวะอารมณ์ความตึงเครียดไว้ 4 ระยะ และระบุแนวทางการช่วยเหลือในแต่ละระยะไว้ดังนี้

               ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นความตึงเครียด ขั้นนี้ผู้ใช้บริการที่มีความเสี่ยงที่จะทำอันตรายร่างกายผู้อื่นหรือนักสังคมสงเคราะห์ มักจะมีอารมณ์โกรธ สับสนว้าวุ่นใจ แต่ยังมีเหตุผล และควบคุมตนเองได้ ซึ่งหากมีช่องทางให้เขาได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกก็จะช่วยผ่อนคลายความรู้สึก สะท้อนปัญหาหรือสภาพการณ์บีบรัดเขา ก็จะทำให้เขาสามารถหาหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นนักสังคมสงเคราะห์ควรจะใช้ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้เขาได้ระบายอารมณ์ และตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึกของเขาซึ่งจะช่วยลดระดับความตึงเครียดลงได้

                ระยะที่ 2 การทำร้ายโดยวาจา (ผรุสวาท) ผู้ที่ตกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกระยะที่ 2 นี้มักจะรู้สึกถูกข่มขู่หรืออ่อนแอจึงสะท้อนกลไกการป้องกันด้วยความก้าวร้าวทางคำพูด ไม่สามารถคิดด้วยเหตุและผลได้ดี อารมณ์รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จึงใช้วาจาไม่สุภาพกับนักสังคมสงเคราะห์ การสื่อสารเจรจาให้ลดความรุนแรงซึ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น หากแต่ว่าต้องใช้แนวทางการลดการข่มขู่ โดยนักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีท่าที่ที่สงบ ใช้น้ำเสียงที่ไม่ข่มขู่ สะท้อนความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ตั้งข้อกำหนดว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้างที่สามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม นักสังคมสงเคราะห์ควรแสดงท่าทีที่สุขุมเยือกเย็น และให้แนวทางและทางเลือกในการปฏิบัติตนของผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสมชัดเจน

                ระยะที่ 3 การสูญเสียการควบคุมตนเอง ในขั้นนี้ผู้ใช้บริการจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้โดยมีท่าทีจะเข้าทำร้ายผู้อื่นซึ่งนักสังคมสงเคราะห์จะต้องประเมินสภาวะการณ์อันตรายนี้ได้อย่างรวดเร็วและขณะเดียวกันต้องประเมินศักยภาพของตนเองในการควบคุมสถานการณ์ หากไม่สามารถควบคุมได้ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการหนีหลบเลี่ยงอันตรายผู้ใช้บริการส่วนมากมักกลัวว่าจะควบคุมจนเองไม่ได้ ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์มักจะควบคุมสถานการณ์ได้หากย้ำให้เห็นว่าหากผู้ใช้บริการทำอะไรรุนแรงไปจะเสียใจภายหลัง ซึ่งในขั้นนี้นักสังคมสงเคราะห์ต้องใช้ความสุขุมเยือกเย็น และสร้างสัมพันธภาพอย่างต่อเนื่อง ในขณะเน้นเตือนสติพฤติกรรมข่มขู่ ว่าหากมีการทำร้ายร่างกายอาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

                ระยะที่ 4 การสงบระงับอารมณ์ ภายหลังการสูญเสียการควบคุมตนเอง ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นหลังจากผ่านระยะที่สูงสุดของอารมณ์ความตึงเครียด หรืออันตรายแล้ว ผู้ใช้บริการมักจะรู้สึกละอาย รู้สึกผิด ต้องการความช่วยเหลือให้ความควบคุมตนเองได้ ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ควรให้โอกาสเขาระบายอารมณ์โกรธ อธิบายความรู้สึกที่ไม่สามารถระงับการกระทำที่รุนแรงนั้นได้ โดยเน้นความรู้สึกที่จะดำเนินไปสู่การลงมือทำร้าย ขั้นนี้หากทำให้ผู้ใช้บริการเล็งเห็นจุดเปลี่ยนของอารมณ์ความรู้สึกได้ จะทำให้เขาหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าการทำร้ายผู้อื่น และต้องช่วยเขาวางแผนป้องกันมิให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 234104เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2009 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท