ปรากฎการณ์บ้านโฮมฮัก


ความปรารถนาดีไม่ช่วยแก้ปัญหาที่รากเหง้า

ด้วยเหตุว่าอยู่ไกลบ้าน จึงไม่ได้ดูโฆษณาไทยประกันชีวิต ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมให้หันมามอง และให้ความช่วยเหลือบ้านโฮมฮัก

ล่าสุดได้ Fw mail จากเพื่อนในกลุ่มที่มีเนื้อหาเหมือนกับที่คุณเทียนน้อย เอามาแปะไว้ใน

http://gotoknow.org/blog/kunkru-may2/230253

ผมได้ทราบเรื่องราวความทุ่มเทของครูติ๋ว สุธาสินี น้อยอินทร์ จากสื่อต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อทราบว่าท่านอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก ก็ยิ่งเสียดาย

ได้ดูรายการสารคดีที่ไปถ่ายทำในบ้านโฮมฮัก ทำให้ได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า การใช้ความรักเยียวยาความป่วยไข้นั้นเป็นอย่างไร, ความรักแบบเสียสละกระทั่งชีวิตของตัวเองเป็นอย่างไร ขอใช้พื้นที่นี้คารวะ ครูติ๋วด้วยความเคารพอย่างสูงครับ เพื่อนผมกำลังจะไปเยี่ยมบ้านโฮมฮักเร็วๆ นี้ ผมกับครอบครัวจะฝากเงินไปช่วยครับ

ระหว่างการ google ค้นรายละเอียด ผมเกิดข้อสังเกตหลายอย่างที่อยากเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ

อย่างแรกคือ ประเด็นนี้ถูกจุดให้ติดโดยภาพยนต์โฆษณา ทั้งๆที่เรื่องราวของครูติ๋ว และบ้านโฮมฮัก มีการทำเป็นภาพยนต์สารคดี, บทสัมภาษณ์นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ มานานหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เกิดแรงกระเพื่อมเท่าภาพยนต์โฆษณา ปรากฎการณ์นี้บอกถึงอะไร มันบอกว่า สื่อที่สั้น กระชับ เร้าความรู้สึก และเห็นบ่อยๆ อย่างภาพยนต์โฆษณานั้น มีพลังมากพอ ที่จะขับเคลื่อนสังคมได้ ชี้นำสังคมได้ และมันบอกเราเป็นนัยๆ ด้วยหรือเปล่าว่า ถ้าองค์ประกอบมีครบ ผู้ผลิตภาพยนต์โฆษณาจะชี้นำประเด็นไหนๆ ให้กับสังคมก็ได้? ผมมองลึกลงไปว่า คนในวงการภาพยนต์โฆษณาในขณะนี้เด็กที่เรียนเก่งที่สุดของฝั่งสายศิลป์ เมื่อประมาณสิบถึงสิบห้าปีก่อน เมื่อครั้งกระแสนิเทศศาสตร์เริ่มบูม เด็กเก่งหันเหจากการสอบเอนทรานส์เข้าอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มุ่งเข้าสู่คณะนิเทศฯ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน ผมเชื่อว่าคนเก่ง ไปอยู่ในสาขาไหน พวกเขาก็จะแสดงศักยภาพในการชี้นำสังคมออกมาได้ 

 

ประเด็นที่สองคือ การรุมทึ้งฝูงชนที่แห่ตามกระแส เห็นๆ กันตั้งแต่สมัยเกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ผู้ประสบภัยบอกว่า การรับมือกับคลื่นยักษ์ ยังไม่สาหัสเท่ากับการรับมือกับ สื่อที่เกาะกระแส อย่างรายการสัมภาษณ์ รายาการวาไรตี้ต่างๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท โครงการบรรเทาทุกข์จากบริษัทต่างๆ โครงการสร้างภาพจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ฯลฯ ผมเห็นว่าความหลักแหลมอย่างหนึ่งของครูติ๋วเข้าใจกระบวนการรุมทึ้งนี้ และเก็บบ้านโฮมฮักให้ห่างไกลจากการรุมทึ้้งของสื่อจนกระทั่งถึงจุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ประเด็นที่สามคือ เราชอบคิดว่า น้ำแก้วเดียวจะดับไฟที่กำลังไหม้ทั้งบ้านได้ สังคมไทยมีความสุขกับการบริจาค แล้วเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ทั้งที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่า ปัญหาเรื่องเด็กผู้ติดเชื้อ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เกี่ยวพันซับซ้อนกับหลายเรื่อง ตั้งแต่ทัศนคติของชาวบ้านในชุมชน ความรุนแรงในครอบครัว การปัองกันเอดส์ บทเรียนเรื่องเพศศึกษา ความเข้มแข็งของโรงเรียนในท้องถิ่น ฯลฯ

การบริจาคเงินทองสิ่งของเพื่อเยียวยานั้นจำเป็นแน่ แต่มันไม่ช่วยลดจำนวนเด็กที่ถูกทิ้ง มันไม่ช่วยแก้ทัศนคติของชาวบ้าน ต่อผู้ติดเชื้อ มันไม่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐที่ควรจะรับผิดชอบดูแลเรื่องพวกนี้ เกิดมียางอายที่ตนเองซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรง ไม่มาดูแลรับผิดชอบ ปล่อยให้ภาระตกกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ป่วยหนักกำลังจะตาย

เงินกับสิ่งของบริจาค มันไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ครับ

ทำไมไม่มีใครรณรงค์ช่วยบ้านโฮมฮักด้วยการส่งจดหมายจากคนไทยสักหมื่นฉบับแสนฉบับไปถามนักการเมือง สส สว มหาดไทยว่า คุณทำอะไรอยู่ ถามผู้ว่าฯ ยโสธร ว่าช่วยชี้แจงให้สังคมทราบหน่อยว่าคุณมีหน้าที่ต่อเรื่องนี้อย่างไร คุณมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างไร ถามสาธารณสุข ว่าทำไมเด็กโฮมฮัก เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างที่ควรจะเป็นในฐานะคนไทยคนหนึ่งหรือเปล่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้บริการเขาอย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า ถามศึกษาฯ ว่ามีนโยบายต่อเด็กผู้ติดเชื้อฯ อย่างไร หากมีการต่อต้านจากผู้ปกครองที่รังเกียจเด็กผู้ติดเชื้อ ศึกษาฯ มีหน้าที่ต้องทำอย่างไร ทำไมเด็กต้องระเหเร่ร่อนหนีโรงเรียนใกล้ๆ ที่รังเกียจพวกเขา ถามกรมการศาสนาว่า คุณจะดูแลวัดอย่างไรเมื่อชาวบ้านรอบๆวัด รังเกียจเถ้ากระดูกจากาการเผาศพของผู้ติดเชื้อ ผมเชื่อว่าหากกลไกต้นน้ำของรัฐเหล่านี้ยังเป็นง่อยอยู่ ภาระของบ้านโฮมฮักไม่มีทางหมดไปแน่ ไม่ว่าจะมีคนที่ทุ่มทั้งชีวิตเพื่อเยียวยาทางปลายน้ำอย่างครูติ๋วอีกกี่คนก็ตาม ครูติ๋วพูดในบทสัมภาษณ์ตีความได้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าวัตถุสิ่งของหรือเงินตรา คือ การมองเห็นและปฏิบัติต่อเด็กเหล่านี้ในฐานะ "มนุษย์คนหนึ่ง" นั้นคือสิ่งที่เด็กๆ ต้องการมากที่สุด ผมเชื่อว่า รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่นี่ ทัศนคติของคนในชุมชนรอบข้างและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องผู้มองเห็นแต่ "เอดส์" มองไม่เห็น "คน"การไม่มีเงิน ยังไม่ลำบากเท่า การถูกปฏิบัติโดยปราศจากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

(ลองอ่านความเจ็บปวดของครูติ๋วจากน้ำมือรัฐใน blog นี้

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tigerlhumlim&month=11-2007&date=23&group=4&gblog=1)

ประเด็นที่สี่ ผมเชื่อว่า หลังจากการแห่ตามกันไปสักพัก สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ก็จะเงียบหายไป หรือเกิดประเด็นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ จนคนลังเลที่จะบริจาคช่วยเหลือ และวีรบุรษของเราก็ต้องด่อสู้ต่อโดยลำพัง และโดยยากลำบาก ต่อไป ตัวอย่างที่เห็นๆ อย่างกรณีท่านเจ้าคุณพระพยอม แห่งวัดสวนแก้ว ท่านพระอธิการอลงกต แห่งวัดพระบาทน้ำพุ

สุดท้าย เมื่อไม่มีกระแสสังคมมากระตุ้นต่อมให้ทำบุญอีก ที่พึ่งของเราก็คือ รายการ "วงเวียนชีวิต" เราก็จะหลอกตัวเองว่าสามารถ "ช่วย" ให้สังคมไทยดีขึ้น ด้วยการบริจาคเงิน สิ่งของ อาหารแห้งให้กับผู้ด้อยโอกาส และเชื่อว่า หากเราอนุญาตให้โครงสร้างสังคมไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ เราก็จะมีผู้ด้อยโอกาสให้เราช่วยทำบุญอีกไม่รู้จบ ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 233974เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตรงประเด็นครับ ขอแสดงความนับถือ

กำลังจะตามไปค่ะ..คงหลังพฤษภาคมค่ะ  ขอบคุณข้อมูลค่ะ

ขอบพระคุณ คุณ ผู้ผ่านมา และคุณพิมญดา ที่กรุณาเข้ามาออกความเห็นนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท