สอนนักศึกษาที่ไม่อยากรู้ให้ได้ผลสอนอย่างไร : หัวปลาของราชภัฏ


 

 

 

 

 

สอนนักศึกษาที่ไม่อยากรู้ให้ได้ผล
สอนอย่างไร
: หัวปลาของราชภัฏ

 

ผู้เขียนเชื่อว่า  ปัญหานักศึกษาไม่ค่อยสนใจใคร่รู้ในเรื่องที่เรียน  เป็นปัญหาของประเทศ  ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในราชภัฏเท่านั้น  มีคนหยิบยกปัญหามาพูดถึงบ่อย ๆ  แต่ยังไม่เคยได้ยินใครประกาศออกมาว่า สามารถสอนนักศึกษาเหล่านี้ได้ผลด้วยวิธีการแบบนั้นแบบนี้  ราชภัฏในฐานะที่ในอดีตเคยดำรงความเป็นสถาบันฝึกหัดครูมาร้อยกว่าปี น่าจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ให้แก่บ้านเมือง

 

การเรียนการสอนในสถานศึกษาในบ้านเราเดี๋ยวนี้  ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแบบเดิม ๆ คือ  ยังสอนแบบบอกเล่าท่องจำกันอยู่  ครูบอก  นักเรียนฟัง(หรือไม่ฟัง) นักเรียนจด (หรือไม่จด) นักเรียนทำรายงาน (คัดลอก ตัดต่อ )  สอบด้วยข้อสอบข้อเขียน (ส่วนใหญ่เป็นปรนัย) ออกเกรด  เป็นอันจบกระบวนการ

 

เราท่านส่วนใหญ่เรียนกันมาก็แบบ ๆนี้  สมัยก่อนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จำได้ว่า  คุณครูที่สอนมีการบอก ย่อหน้า  เว้นวรรค  ขึ้นบรรทัดใหม่ด้วยซ้ำ  ตอนเด็ก ๆก็ไม่รู้สึกอะไร  เห็นว่าเป็นหน้าที่ของนักเรียน ก็พยายามทำหน้าที่ ฟัง จด จำ เข้าใจ นำไปตอบให้ตรงกับที่ครูสอน  เป็นอันใช้ได้  ได้  80  90 เปอร์เซ็นต์ เลื่อนชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ  จนจบออกมาเป็นครู  ก็ทำแบบเดียวกับที่ครูสอนเรามา  มารู้สึกว่าเป็นปัญหาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง  ที่รู้สึกมาก ๆก็ตอนที่พูดแล้วนักศึกษาไม่ฟัง ดุ  ด่า  ว่า กล่าวแล้ว  ก็ยังคุยกัน  นักศึกษาจำนวนหนึ่ง  เดินเข้าห้องเรียนมามือเปล่า ๆ  ถามอะไรก็ไม่ตอบ  ตอบก็ไม่เข้าเรื่องเข้าราว  โอ้ย!!! เจ็บแปล๊บในหัวใจและรู้สึกมากยิ่งขึ้น เมื่อให้นักศึกษาพูด  เขียน  ลงมือผลิตชิ้นงาน  ออกไปเก็บข้อมูล  ทำหน้าที่บริการผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น  นักศึกษาทำไม่ได้  นักศึกษาทำได้ไม่ดี  นักศึกษาไม่อยากทำ  ไม่ได้ผลงานตามเป้าหมาย

 

ได้พยายามลองสอนแบบนั้นแบบนี้  หลายแบบ  เช่น 

·        เรียนเป็นกลุ่ม

·        มีคู่มือเรียนด้วยตนเอง

·        E-learning

·        เรียนโดยผ่านการปฏิบัติจริง

·        ปฏิบัติงานภาคสนาม

·        เข้าค่าย

·         ฯลฯ

 

แบบต่าง ๆ ดูว่าดีกว่าแบบเดิม ๆ  แต่ยังไม่ได้ผลการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นที่น่าพอใจ

 

หันไปดูเพื่อนครูด้วยกัน  ส่วนใหญ่ก็ยังถนัดตะโกน(แหกปาก)แข่งกับเสียงคุยของนักศึกษากันอยู่

 

หลายคนเห็นปัญหาเหมือนกัน  แต่การหันมาหาทางแก้อย่างเป็นระบบยังไม่มี

 

ผู้เขียนเห็นทางฝ่ายบริหารเขาพยายามนำเอา  KM  มาใช้ในการทำงานของหน่วยต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ  เห็นเขาช่วยกันหาหัวปลากันอยู่  หัวปลาหนึ่งที่ผู้เขียนเสนอในหน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่ คือเรื่องนี้แหละ

 

 

          สอนนักศึกษาที่ไม่อยากรู้ให้ได้ผลสอนอย่างไร

    

     จึงอยากเสนอกับชาวราชภัฏอื่น ๆ  ว่าเรามาช่วยหาคำตอบของเรื่องนี้กันดีไหม  สร้างระบบ   สร้างเครือข่าย  เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กของเราที่ไม่อยากรู้  ให้เรียนรู้ได้พอสมควรกับที่เขาจบออกไปในฐานะที่ถูกเรียกว่าบัณฑิต

 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว  หัวปลาน่าจะได้แก่ 


     “ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมของคนใฝ่รู้

 

        เรื่องเหล่านี้  น่าทำกว่าการเปิดศูนย์ใน /นอกสถาบันเพื่อขายกระดาษ  ระดับ  ตรี  โท  เอก นะจะบอกให้

                                                      @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

หมายเลขบันทึก: 233836เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 04:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับอาจารย์มากๆ เลยครับ

ผมว่าสิ่งที่อาจารย์กำลังเล่าให้ฟังนั้น มันสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษาของไทยในขณะนี้ได้ดีที่สุด

ผมเองไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาโดยตรงนะครับ

แต่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานเล็กๆ

อาจถือว่าเกี่ยวแบบอ้อมๆ ก็ได้

 

สิ่งที่อาจารย์กำลังเผชิญ ผมมองว่า

มันเหมือนกับเรากำลังตรวจพบมลพิษขั้นร้ายแรงที่ปากแม่น้ำ  

หากเราไม่มองย้อนไปถึงต้นน้ำ กลางน้ำ เราคงไม่สามารถ

แก้ปัญหาที่ปลายน้ำได้

 

ผมเองอยากเห็นคนเก่งๆ ทั้งหลายในประเทศ

จากทุกภาคส่วน มาร่วมช่วยกัน "ยกเครื่อง"

ระบบการศึกษาของเราแบบจริงจักกันสักตั้ง

 

ไม่อย่างนั้นเราก็จะจมจ่อม ย่ำอยู่กับที่

ซ้ำยังถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่

เพื่อนบ้านเขาล้วนพัฒนาไปไกลแล้ว

 

หวังว่าจะมีผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองเห็นปัญหา

แล้วพยายามจะแก้เหมือนที่อาจารย์กำลังพยายามอยู่ครับ

ขอเป็นกำลังใจ

และขออนุโมทนาในความตั้งใจอันดีนะครับ

สวัสดีครับ

ถือว่าเป็นปัญหาที่ท้าทาย สำหรับคนที่อยู่ในการศึกษา

สำหรับผม คิดว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น

ตั้งแต่การรับนักศึกษาเข้าเรียน

ถ้าเป็นคณะที่นักศึกษาไม่สนใจเท่าไร พ่อแม่ให้เรียน หรือ เป็นคณะสำรอง อาจจะเรียนไปเรื่อยๆ ขาดความสนใจ แตกต่างจากคณะที่สนใจ นักศึกษาอาจจะมีความตั้งใจในการเรียนมากกว่า เป็นต้น

ขบวนการเรียน การสอน เทคนิคการจูงใจผู้เรียน และจำนวนนักศึกษาที่รับในแต่ละชั้นเรียน พวกนี้ก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา

ผมว่าหัวข้อของอาจารย์ น่าสนใจ ผมจะรอติดตามต่อไป ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท