12 ท่ารักษาทุกโรค


มนต์ขลังของ 'โนรา' ศิลปะพื้นเมืองภาคใต้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 5-600 ปี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพนอกเหนือไปจากการแสดงเพื่อความบันเทิง
12 ท่ารักษาทุกโรค

     เสียงโหม่งฉิ่งกลองปี่ ท่วงทำนองประหลาด ที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนเมือง ดังวังเวง บนเวทีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงาน 10 ปี สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปลุกคนเมืองให้ค่อยๆ เคลื่อนตัวไหลมา ที่เวทีเอเทรี่ยมราวถูกสะกด คณะนักวิจัยจาก 'โครงการวิจัย การสื่อสารเพื่อชุมชน' (สกว.) รายงานการแสดงโนราพื้นบ้านภาคใต้ ที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันและรักษาโรค ได้อย่างสุดมหัศจรรย์

     มนต์ขลังของ 'โนรา' ศิลปะพื้นเมืองภาคใต้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 5-600 ปี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพนอกเหนือไปจากการแสดงเพื่อความบันเทิง

     บนเวทีวิจัยระดับชาติ หัวข้อ 'การสาธิตการประยุกต์ท่าโนราเพื่อการออกกำลังกาย' ก่อให้เกิดคำถามว่าท่วงท่าร่ายรำแบบโบราณนี้จะนำมาปรับใช้สำหรับทำกายบริหารได้อย่างไร

     อันที่จริงในวันงานมีผู้ชมที่สนใจรายการนี้มารอฟังการนำเสนอกันตั้งแต่เที่ยงตามกำหนดการ แต่รถด่วนสายใต้ที่บอกชาวโลกไว้ว่าจะพาคณะโนรามาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง เวลา 09.50 น.นั้นขอเข้ามาสายอย่างเป็นทางการ 30 นาที ทว่าในที่สุดก็สายอย่างไม่เป็นทางการถึงสองชั่วโมงครึ่ง เล่นเอาผู้เกี่ยวข้องหลายสิบชีวิตได้บริหารหัวใจในลีลาตุ๊มๆ ต่อมๆ กันทั่วหน้า

     ดังนั้น ไม่ต้องประหลาดใจเลยว่ากลุ่มคนที่มาเฝ้ารอตามกำหนดการจะกลับบ้านไปอาบน้ำนอนกันเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาแสดงจริง เสียงโหม่งฉิ่งกลองโนราก็เรียกผู้คนให้ทยอยมาที่เวทีด้วยอำนาจของศิลปะท้องถิ่น ที่พิสูจน์ตัวเองว่าคนไม่สนใจสื่อพื้นบ้าน ไม่ใช่เพราะสื่อพื้นบ้านไม่น่าสนใจ แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสของดีต่างหาก


-1-

สองหนุ่มวัยกำลังดีบนเวทีในครั้งนี้ เป็นศิลปินโนราชั้นครูนาม อ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร คณะศิลปกรรม สถาบันราชภัฏสงขลา กับ อ.เธียรชัย อิศรเดช คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักการละคร นักมานุษยวิทยา ที่หันมาทำงานวิชาการด้านการสื่อสาร
    

ทั้งสองเป็นนักวิจัยสองแรงแข็งขันที่สุมหัวทำงานวิจัยกับ สกว.เรื่อง 'ศักยภาพโนราในการพัฒนาท้องถิ่น' เพื่อค้นหาคำตอบว่าโนราสื่อพื้นบ้านที่เคยร่ำรวยพละกำลังในการปกปักรักษาชุมชนภาคใต้ตอนล่างในอดีตนั้น ขณะนี้ยังมีน้ำยาที่จะช่วยพัฒนาชุมชนในกระแสที่สังคมพยายามแสวงหากลวิธีนานัปการที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง หลังจากที่เจ็บอกเหมือนตกตาลมาจากการล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ผ่านมา

อาจารย์เธียรชัย เล่าว่า ประเด็นที่ต้องการนำเสนอคือ โนราเป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีท่ารำเป็นอาวุธ คือเป็นของแข็งที่แทบจะเรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากไม่นับรวมโนราบันเทิงที่ปรับตัวไปอีกสายหนึ่ง

โนราแบบดั้งเดิมรักษาขนบและรูปแบบไว้ได้ดีมาก เพราะมีความเชื่อท้องถิ่นกำกับ ความเชื่อที่สำคัญคือเรื่อง 'ตายาย' ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องบรรพชนที่ปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข ท่าโบราณแบบบ้านๆ ที่ดูต่างไปจากลีลาแบบกรมศิลปากรนี้ ได้โยกย้ายส่ายตัวกันเต็มที่แบบไม่มีกระมิดกระเมี้ยน จนเกิดแง่มุมที่แพร่สะพัดในท้องถิ่นภาคใต้ขณะนี้ว่าน่าจะนำท่าโนราเหล่านี้มาจัดเรียงใหม่เป็น 'โนราบิค' ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง 'โนรา' กับ 'แอโรบิค' ไปสู้กับกระแสโยกย้ายแบบฝรั่ง ซึ่งไม่เข้าที่เข้าทางกับท้องถิ่นชนบท

แต่ลีลาโนราบิคตอนนี้ยังมีปัญหา เพราะต่างคนต่างคิดต่างทำ บางกลุ่มประดิษฐ์คิดค้นจนครูโนรางุนงงว่านี่คือโนราด้วยหรือ เวทีนี้จึงเป็นตัวบอกเล่าว่าโนรามีคุณสมบัติที่จะนำท่าทางไปประยุกต์ใช้ในลีลาอื่นๆ ได้หรือไม่อย่างไร


-2-

ท่ารำอันพิสดารของโนรานั้น ดูๆ ไปก็มีหลายส่วนที่ละม้ายคล้ายฤษีดัดตน เป็นต้นว่า 'ท่าขี้หนอน' ที่บิดเอวยกขาทรงตัว 'ท่าเขาควาย' ที่ได้ยืดหยุ่นหัวข้อเข่า ท่าพื้นฐานเหล่านี้นับได้ 12 ท่า ก่อนที่จะดัดแปลงไปเป็นท่าอื่นๆ อีกมากมาย

ฐานคิดสำคัญของท่าโนรา คือการมองว่าการรำโนราเป็นพลังอำนาจของครูหมอตายาย พร้อมกับเสนอหลักฐานสำคัญคือชุด 'โนราตัวอ่อน' ที่ใช้ร่างกายอย่างพิสดารจนผู้ชมถึงกับอึ้ง เมื่อการร่ายรำคือกายกรรมสุดขั้วที่ซุกซ่อนอยู่ในภูมิปัญญาถิ่นใต้

คนหัดโนราตัวอ่อน หรือภาษาถิ่นใต้ว่า 'ตัวนวล' นี้ต้องหัดมาตั้งแต่เด็กๆ จึงจะสามารถใช้ร่างกายขดงอในขณะร่ายรำได้ หนุ่มน้อยผู้สาธิตครั้งนี้ชื่อ เกรียงไกร แซ่ว่อง หรือน้องบอล นักเรียนเทคนิคสงขลาทำชื่อเสียงให้โรงเรียนเป็นที่ฮือฮาเรียกเสียงปรบมือจากคนเมืองได้ทุกท่วงที โดยมีน้องๆ จากมหาวชิราวุธอีกประมาณ 6 คน มาเล่นดนตรีโบราณประกอบการรำ

"โนราต้องเล่นสด คนรำกับดนตรีต้องสื่อกันจนเป็นใจเดียว" อ.ธรรมนิตย์ อธิบายและแจกแจงอีกว่า โนราเป็นเรื่องการฝึกวินัยกับการใช้ร่างกาย ฝึกสมาธิ คนรำได้ออกแรง ได้ใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในแบบภูมิปัญญาตะวันออก ขณะที่ผู้ชมได้รับความสนุกสนาน

"ถ้าผู้ชมสนุก คนรำ คนเล่นดนตรีก็สนุก คิดท่ากันสดๆ ตอนนั้นได้เลย"

ต่อข้อกังขาที่ว่าหากท่าโนราแปลกประหลาดพิสดารเช่นนั้น จะนำมาปรับเป็นกิจกรรมมวลชนได้อย่างไร เพราะนั่นแสดงว่ามีเพียงศิลปินผู้ได้รับการบ่มเพาะเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ โนราดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากวิถีชีวิตของคนทั่วไปที่ต้องการฝึกหัด อ.ธรรมนิตย์ จึงได้สาธิตท่าพื้นฐานที่มาจากแม่บท 12 ท่าให้ยลว่านำมาใช้เป็นกายบริหารแบบ up and down ได้จริง

เสียดายเพียงว่าไม่มีเวลาพอให้ผู้ชมลุกขึ้นมาลอง up and down ด้วย เพราะช่วงนั้นผู้ชมเริ่มอยากลองของแล้ว เนื่องจากมีหนูน้อยวัย 5 ขวบเศษที่มากับคุณแม่เริ่มทนเสียงปี่เสียงโหม่งไม่ไหว เธอจึงลุกขึ้นมารำท่ามกลางผู้ชมแบบไม่เขินอาย เป็นสีสันน่าเอ็นดูประจำงานนั้น

อาจารย์ธรรมนิตย์ได้สาธิตให้เห็นว่าโนราช่วยบริหารข้อเข่า แขน ขา เอว ตัว มือ หากนำความรู้ในด้านกายภาพมาจับก็จะได้คำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ยาก ยังไม่นับรวมถึงการบริหารจิตใจ อารมณ์ ความคิด สมองผ่านดนตรีและมนต์ขลังของการเล่นกับของมีครู

เรื่องท่ารำทั้ง 12 ของโนรานี้ ครูแต่ละคนจะรำไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีชื่อของท่าใกล้เคียงกัน แต่การรำท่ากลับไม่เหมือนกันทั้งหมด นัยว่าท่าเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีมาก่อน หรืออาจสูญหายไปตามรายทาง หรือเพิ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมา แต่ก็นับได้ว่าเป็นท่าร่ายรำที่ช่วยเรื่องการทรงตัว สมาธิ และการใช้ร่างกายทุกส่วนตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงปลายเท้า ช่วยให้ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง และรักษาข้อเข่า แขนขา เพราะได้บริหารข้อและกำลังเหล่านั้นเหมือนท่าพลศึกษา

แต่สิ่งที่สื่อพื้นบ้านมีมากกว่าคือความเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงและเสียงดนตรี ที่ทำให้การร่ายรำนั้นดำเนินไปได้ราวอยู่ในภวังค์


-3-

ความคิดเรื่องนำท่าโนรามาออกกำลังกายนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสการแสวงหากันอย่างคึกคักในท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง แต่ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือการประดิษฐ์ใหม่เป็นที่ข้องใจของครูโนราเก่า เพราะเหมือนเป็นการทำลายหรือก่อให้เกิดการเข้าใจผิดต่อคนรุ่นหลัง

อาจกล่าวได้ว่าการใช้ท่าโนรากับการออกกำลังกายนี้ยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก เพราะถึงขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะยืดศักยภาพของโนราไปได้สุดเพียงใดโดยที่ศิลปะแขนงนี้จะไม่ขาดไปเสียก่อน

รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดูแลชุดโครงการการสื่อสารเพื่อชุมชน ที่งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ กล่าวว่า

"ศิลปะสำหรับยุคปัจจุบันคงต้องมีบันไดเป็นขั้นๆ เพื่อให้คนค่อยๆ ไต่ระดับ อยู่ๆ จะให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงศิลปะโบราณเลยเป็นไปได้ยาก เพราะของเก่าเป็นของที่ละเอียดซับซ้อน แต่ถ้ามีแบบประยุกต์ก็เป็นเหมือนบันไดขั้นแรก เมื่อผ่านขั้นแรก ก็จะเกิดความสนใจที่จะไต่บันไดขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า"

ดังนั้น การนำท่ามาประยุกต์ซีกหนึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้คนรุ่นใหม่ที่ขาดหายไปจากสื่อเก่า ได้มีช่องทางที่จะเข้าประตูด่านแรก หากท่าเหล่านั้นติดตลาด มีเด็กๆ และวัยรุ่นฝึกหัดก็จะทำให้โนราที่หายไปจากสังคมท้องถิ่นได้กลับมามีบทบาทกับคนรุ่นใหม่อีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดขณะร่ายรำย่อมได้ใช้กำลังกาย สมาธิ และได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะมีชีวิตที่ว่างเปล่าและวิ่งไปหาสิ่งเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ เพียงแต่การนำของเก่ามาใช้ประยุกต์ ต้องนำมาใช้ในลักษณะที่เข้าใจภูมิปัญญาเก่าอย่างถ่องแท้เสียก่อน

"ปัญหาสำคัญของคนรุ่นใหม่ในการประยุกต์ใช้ของเก่า คือจะเอาแต่ประยุกต์ให้ออกมาดูแปลก แต่ไม่เข้าใจของเก่าไม่ได้" ดร.กาญจนา กล่าว

ปัญหานี้ผู้สนับสนุนเงินทุนวิจัยไม่ได้นิ่งนอนใจ อาจมีการจัดประกวดการประยุกต์ท่าโนราเพื่อการออกกำลังกายแบบใหม่ให้ทันใจวัยรุ่นเพื่อให้เป็นชุดบริหารที่ถูกใจทุกฝ่ายและได้ของดีแก่ร่างกายอย่างแท้จริงในแบบ 'โนราบิค' ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่เงียบๆ ในขณะนี้

แต่หากอดทนรอนวัตกรรมโนราบิคไม่ไหว จะหัดรำโนรา 12 ท่า เพื่อผ่อนคลาย เพื่อบริหารแขนขาและข้อเข่าอย่างง่ายๆ ไปก่อนก็ไม่ว่ากัน เพราะยุคนี้สุขภาพไม่ใช่เรื่องของการรักษาอีกต่อไป แต่สุขภาพคือการสร้างเสริมและระวังป้องกัน หากระวังป้องกันและสร้างเสริมให้ดีอยู่เสมอ โรคอะไรก็มาไม่ถึงตัวจนถึงขั้นต้องรักษา

รัฐบาลนี้ประกาศเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค แต่โนราและภูมิปัญญาท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นว่าหากบำรุงสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอ แค่ 12 ท่าโนราก็ป้องกันแถมรักษาได้ทุกโรค

แม้แต่เอดส์ที่ว่ารักษาไม่หาย ตายลูกเดียว 30 บาทก็เอาไม่อยู่นี้ หากฟื้นธรรมเนียมโนราขึ้นมารำกันใหม่ เอดส์ก็เข้าไม่ถึง เพราะโนราแบบดั้งเดิมนั้นมีความเชื่อว่าคนหัดโนราที่ดีต้องรักษาพรหมจรรย์จนกว่าจะอายุ 21 มิฉะนั้นจะเป็นโนราที่ดีไม่ได้

ภูมิปัญญานี้เป็นเรื่องของการท้าทายความอดทนต่อกิเลสอย่างแรงที่สุดของวัยเจริญพันธุ์ เพื่อคัดนายโรงโนราให้มีแต่คนที่รู้จักอดทน อดกลั้น เพราะโนราจะต้องออกมาสอนสั่งและชี้นำสังคมในวันหน้า หากไม่ได้คนดี สังคมก็ได้ครูและหมอไม่ดีเนื่องจากไม่มีกระบวนการคัดเลือกด้านจิตใจ

โนราจึงเป็นทั้งหมอและครู ช่วยรักษาได้ทั้งโรคทางใจ ทางสังคม นอกจากนี้ภูมิปัญญาตะวันออกที่นำความเชื่อเรื่องครูมากำกับไว้ในบทร้อง คำสอน นิทาน หรือตำนานเรื่องเล่าจะเข้าไปคุมความคิดภายในเรื่องการทำตัวดีในที่ลับที่แจ้งแก่ผู้ที่ยึดมั่นได้แบบเบ็ดเสร็จ

ก่อนปิดงานมีมุขให้ได้ฮือเมื่อ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ดูแลงานวิจัยฝ่าย 4 คือฝ่ายชุมชนของ สกว.ประธานในพิธี มีรางวัลพิเศษมอบให้หนูน้อยคนที่ลุกขึ้นมาหัดรำตามคนนั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะท้องถิ่นที่คัดกรองมานับชั่วอายุคนแขนงนี้มีพลังอำนาจในการดึงเยาวชนให้เข้าหาได้ไม่ยาก หากนำมาใช้ในการพัฒนาเยาวชนอย่างจริงจังก็จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับเด็กๆ สังคมท้องถิ่นได้อย่างดี

นี่คือศักยภาพที่ซ่อนเร้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าจะทบทวนนำมาใช้ในงานสื่อเพื่อชุมชนต่อๆ ไปอันเป็นภารกิจสำคัญของโครงการวิจัยนี้


 ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 16 ฉบับที่ 5296 วัน จันทร์ ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2546

หมายเลขบันทึก: 233834เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 04:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่าน

ขอบคุณค่ะ

มีความสุขเสมอๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท