เรียนรู้วิธีคิดวันละนิดจากหนังสือ "มรณสติกับ The Last Lecture"


มรณสติ

อ่านบันทึกของคุณ ณภัทร9” นึกขึ้นได้ว่าช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมาไปร้านหนังสือและเห็นหนังสือ The Last Lecture (ฉบับแปล) แว่บแรกคือคิดจะซื้อไปมอบเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แต่นึกขึ้นได้ว่าท่านเคยเปรย ๆ ว่าชอบอ่านหนังสือฉบับต้นฉบับ (ไม่ต้องแปล) ได้อรรถรสและสัมผัสเจตนารมณ์ผู้เขียนได้ดี  ก็เลยคิดในใจ อ๋อ จริงซิ ท่านจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาอังกฤษ นี่นาพอคิดได้ก็ต้องวางหนังสือลง

 ถ้าจะถามตนเองว่าทำไมไม่ซื้อไว้อ่านเองล่ะ ก็ลองตอบดูแล้วว่า ถ้าซื้อไว้ตอนนี้ก็คงเค็มแน่ เพราะกว่าจะได้อ่านก็หลายเดือน ช่วงนี้กำลังทำรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งอยู่ ค้นคว้าหัวฟู แอบ   เบียดเวลามาเขียน blog นี่ก็ขัดแย้งระหว่างเหตุผลกับอารมณ์เหลือเกิน  อย่างไรก็ตามแต่         ก็อดไม่ได้ ที่จะมาแจมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้  แม้ไม่ได้อ่านทั้งเล่ม  เปิดพลิก ๆ ตามสไตล์...   หน้าแรกกับหน้าสุดท้าย  แต่ก็เคยอ่านบทวิจารณ์หนังสือ เคยฟังเรื่องเล่าสรุปทางโทรทัศน์ และได้ยินผู้ใหญ่คุยให้ฟัง   ก็เลยจับประเด็นมาโยงกับหลักธรรมบ้านเราได้อยู่หนึ่งเรื่อง        นั่นคือ   เรื่อง มรณสติ และก็โชคดีอย่างมาก ไปเจอบทความหนึ่งที่ท่านผู้เขียนก็คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วอย่ากลัว อย่าตกใจเลยนะ รู้ไว้ใช่ว่า ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ทำให้     หดหู่อย่างที่กังวลรับรองว่าอ่านแล้วสบายใจ มีพลังขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิตอย่างมาก    ทีเดียว และก็นำไปปฏิบัติได้จริงเสียด้วย  สำหรับท่านที่ทราบดีในเรื่องนี้แล้วก็เชิญ             แลกเปลี่ยนตามอัธยาศัย

ในที่นี้  ได้รวบรวมบทความ ข้อเขียนที่น่าสนใจของผู้รู้โดยตรง ลองพิจารณาอ่านดู หากว่า     ยาวมากไป ก็อ่านเฉพาะที่ไฮไลท์สี น่าจะเป็นประโยชน์ ขอเริ่มด้วยบทความองคุณ                วรากรณ์ สามโกเศศ ในหนังสือมติชนรายวัน ก่อน

The Last Lecture" ท้าทายชีวิต[1][1]

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ  มติชนรายวัน  วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11009

"ถ้าคุณรู้ว่าคุณกำลังจะตาย คุณมีข้อคิดอุดมปัญญา (wisdom) ใดที่อยากมอบไว้ให้แก่โลก"     เป็นคำถามสมมุติที่เชิญให้เหล่านักวิชาการชั้นนำของโลกขบคิด และนำมาบรรยายในชุดที่   เรียกว่า "Last Lecture" ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon

เมื่อกลางเดือนกันยายน ปี 2007 ศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (มหาวิทยาลัยชั้นยอดเยี่ยมของสหรัฐอเมริกาในด้านเทคโนโลยีอยู่ในรัฐ       เพนซิลเวเนีย) เป็นผู้ได้รับเชิญ

ในวันนั้นมีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าฟังกันแน่นขนัดกว่า 500 คน เนื่องจาก Dr.Randy Pausch   มิได้ตอบคำถามสมมุติ หากกำลังตอบคำถามจริงใน Last Lecture เพราะเขากำลังจะตาย    เพราะป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนที่ร้ายแรง

คำบรรยายอันน่าประทับใจยิ่งของเขานี้ชื่อ "Really Achieving your Childhood Dreams"           ต่อมาปรากฏในอินเตอร์เน็ตให้คนทั้งโลกได้ชม ภายในเดือนแรกมีคนเข้าชมกว่า 1 ล้าน       ครั้ง เขาปรากฏตัวในรายการสุดฮิต The Oprah Winfrey Show รายการสารคดีของ Diane Sawyer และบรรยายอย่างน่าประทับใจอีกหลายครั้ง ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการเวลา และ    การสู้ชีวิต

เขารณรงค์หาทุนเพื่อวิจัยมะเร็งในตับอ่อน ให้กำลังใจเพื่อนผู้ป่วยโรคมะเร็งให้สู้ชีวิต ให้       การแก่กรรมาธิการของวุฒิสภา เพื่อสนับสนุนการให้เงินทุนสำหรับโรคมะเร็งตับอ่อน ฯลฯ รวมถึงตอบคำถามชีวิตในนิตยสาร Time

ผู้คนนับล้าน ๆ คนทั่วโลกชื่นชม Last Lecture ของ Pausch อย่างมาก ผมเองได้ชมแล้วก็      รู้สึกประทับใจ (ถึงแม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องแย่งดาวน์โหลดกับคน           ทั้งโลก) บรรยากาศของการบรรยาย เต็มไปด้วยความสนุกสนานเพราะอารมณ์ขันของ      Pausch ("คนอย่างผมถ้าไม่ใกล้ตาย เขาก็คงไม่เชิญมาพูด Last Lecture แน่นอน") และ          การให้ข้อคิดในเรื่องชีวิตและการใช้ชีวิตอย่างแหลมคมและกินใจ

Pausch ไม่แสดงความขมขื่นกับชะตาชีวิตของเขา แต่กลับเต็มไปด้วยความตื้นตันใจกับ      ความช่วยเหลือที่ทุกคนให้แก่เขา หลายตอนเขาพูดไปหัวเราะไปพร้อมกับผู้ฟังที่หัวเราะ        ทั้งน้ำตา เขาพูดถึงความฝันของเขาตอนเป็นเด็กอย่างขบขัน เล่าถึงอาการของโรคที่เป็นอยู่    การพยายามรักษา พูดถึงคุณค่าของการมีชีวิต การใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ("เวลาเป็นสิ่งเดียว      ที่มีความหมาย""คุณไม่มีทางรู้ว่าวันใดคุณจะรู้ว่าคุณมีเวลาเหลือน้อยกว่าที่คุณคิด""เราทุกคน   มีเวลาจำกัด จะสั้นหรือยาวไม่สำคัญ") และการมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม

ถึงแม้เนื้อหาจะไม่มีอะไรใหม่ แต่ลักษณะของการพูด ความจริงใจ ความมุ่งมั่นสู้ชีวิต การให้กำลังใจและสร้างพลังใจแก่ผู้อื่น การพูดถึงความรักและทุมเทให้แก่ครอบครัว ความงดงาม   ของการมีชีวิต คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การไม่รู้สึกสมเพชชีวิตตนเองภายใต้อารมณ์ขัน    ที่ไม่กลัวความตาย       ("ตอนนี้มีก้อนเนื้องอกอยู่บนตับผม 10 จุด เมื่อเกือบ 2 ปีก่อนหมอ     เคยบอกว่าอยู่ได้อีกประมาณ 3-6 เดือน คราวนี้คุณก็ลองใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆ ตัดสินแล้วกัน    ว่าผมพอสู้มันได้ไหม")

คนชื่นชม Pausch ก็เพราะเขามีมรณานุสติ เตรียมพร้อมที่จะตายอย่างองอาจ อย่างมีศักดิ์ศรี และอย่างมีความหมาย เรียกว่าจะตายทั้งทีก็ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างที่สุด

ได้ยินเรื่องนี้แล้วก็อดนึกถึงคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มิตรผู้จากไปเพราะโรคมะเร็งไม่ได้ คุณหมอมีชีวิตที่สร้างสรรค์อย่างยิ่งมาตลอดและเมื่อป่วยด้วยโรคมะเร็งก็ไม่ท้อถอย ต่อสู้       ให้คำแนะนำ "ใช้ชีวิตให้มีชีวิต" และให้ "บัญญัติสิบประการของนักสู้มะเร็ง" (ดูมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1445)

ปัจจุบัน Pausch อายุ 47 ปี มีลูก 3 คน (6 ขวบ 3 ขวบ และ 22 เดือน) เมื่อประมาณมิถุนายนของปี 2006 หมอพบว่าเขาเป็นมะเร็งในตับอ่อน ซึ่งเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงและรอดได้ยาก        คนไข้ร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีชีวิตอยู่รอดถึง 5 ปี หมอรักษาเขาด้วยการผ่าตัดครั้งใหญ่ และ      ตามด้วยการฉายแสง ตลอดจนวิธีการรักษาสมัยใหม่หลายวิธี เขาดีขึ้นและก็ทรุดลง จนต้อง    ใช้วิธีใหม่รักษาอีก (ขณะนี้ ณ กลางเดือนเมษายน 2551 เขากำลังรอการรักษาที่เรียกว่า       SIR-Spheres)

Pausch เป็นอเมริกันยิวที่ไม่เคร่งศาสนา เรียนจบปริญญาเอกด้านคอมพิวเตอร์ จาก Carnegie Mellon เคยสอนอยู่ที่ University of Virginia เกือบ 10 ปี เขาเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งในเรื่อง Virtual Reaity และโปรแกรมการเรียนการสอน เขาเคยได้รับรางวัลผู้สอนดีเด่น ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้      ไม่ได้ทำให้เขาโด่งดังเท่ากับการต่อสู้โรคร้ายอย่างไม่ท้อแท้และมีศักดิ์ศรี

ครั้งสุดท้ายหมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ไม่เกินปลายปี 2007 หรืออย่างดีก็ราวมีนาคม 2008     แต่ปัจจุบันเขาก็ยังมีสุขภาพอยู่ดีพอควร ถึงแม้หัวใจเขาจะมีประสิทธิภาพในการทำงาน       น้อยลงมากก็ตาม

ล่าสุด หนังสือชื่อ Last Lecture ของเขาที่เขียนร่วมกับผู้สื่อข่าว Wall Street Journal (Jeffrey Zaslow) เพิ่งออกมาวางตลาดได้ 13 วัน ก็ขาดตลาดต้องเร่งพิมพ์ใหม่อย่างรีบด่วน คาดว่าหนังสือเล่มนี้จะขายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านเล่ม ผู้เขียนได้ค่าลิขสิทธิ์ไปประมาณ 6-7 ล้านเหรียญสหรัฐ (เรียกได้ว่า Pausch ตายอย่างได้ราคาอีกด้วย)

Pausch ตอบคำถามในนิตยสาร Time เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับชีวิตและความตาย คำถามหนึ่ง        ก็คือ "เขาจะอนุญาตให้ภรรยาแต่งงานใหม่ไหม (เมื่อเขาตายไปแล้ว)"

เขาตอบว่า "ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะต้องอนุญาต แต่ผมจะทิ้งข้อความไว้ให้ลูก ถ้าเวลาที่เธอแต่งงานใหม่นั้นมาถึง ใครๆ (ลูก) อาจรู้สึกสับสนและก็ว่ากันไม่ได้ ถ้าสงสัยว่า DAD รู้สึกอย่างไร ผมจะบอก (ลูก) ว่าอยากให้ MOM มีความสุข"

คนที่ให้สิ่งที่เป็นบวก สู้ชีวิตอย่างอาจหาญทระนงและมีศักดิ์ศรี ให้กำลังใจและให้ความหวัง    แก่ผู้อื่นอย่างแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน ไม่ขมขื่นสมเพชชีวิต ไม่เศร้ามืดมน ย่อมเป็นที่ปรารถนา   ของทุกคนไม่ว่าในตอนที่แข็งแรงอยู่หรือใกล้ตายก็ตามที ไม่มีใครชื่นชอบหรืออยากข้องแวะ   กับผู้ที่แสดงออกสิ่งที่เป็นลบอยู่เสมอหรอกครับ

Pausch บอกว่า Life is to be lived. หรือดังที่คุณสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เรียกว่า "ใช้ชีวิตให้มีชีวิต" ไม่ว่าชีวิตจะยาวหรือสั้นก็ตามที คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณครับ

สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามสุขภาพของเขาได้ทุกวันที่ http://download srv.cs.cmu.edu/~pausch/news/ และสำหรับ Last Lecture และการบรรยายอื่นๆ กรุณาดูที่ wikipedia.org และค้นหาชื่อ Randy Pausch

นอกจากบทความข้างต้นแล้ว คุณ สฤณี อาชวานันทกุล[2][2] ยังได้เขียนไว้ในคอลัมน์ DOG EAR  www.fringer.org  อย่างน่าสนใจว่า

นอกจากจะให้แง่คิดดีๆ เกี่ยวกับการมองโลก การบริหารจัดการเวลา และการล่าฝันแล้ว The Last Lecture ยังเป็นหนังสือที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรอ่านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่จดจำความคาดหวังที่ตัวเองตั้งไว้กับลูกได้แม่นยำกว่าความฝันของลูกเอง ตอนหนึ่งในหนังสือ Pausch บอกว่าต้องขอบคุณพ่อแม่ของเขาที่ยอมให้ระบายสีผนังในห้องนอนของตัวเอง (เขาวาดจรวด ลิฟต์ สมการคณิตศาสตร์ และกล่องแพนโดรา ฉายแววเนิร์สตั้งแต่เด็ก) Pausch บอกคนดูอย่างกระตือรือร้นว่า ใครก็ตามที่นี่ที่เป็นพ่อแม่นะครับ ถ้าลูกของคุณอยากระบายผนังห้องนอน ให้เขาทำเถอะครับ ถือว่าทำให้ผม มันไม่เป็นไรหรอก อย่าห่วงเรื่องราคาบ้านตอนเอาไปขายเลย

The Last Lecture มีข้อความที่กินใจหลายตอน แต่ตอนที่ประทับใจผู้เขียนที่สุด คือ ตอนที่ Pausch บอกว่า ประสบการณ์คือสิ่งที่คุณได้เมื่อคุณไม่ได้สิ่งที่คุณอยากได้ และตอนที่เขาอธิบายความหมายที่แท้จริงของ The Last Lecture “ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การบรรลุความฝันของคุณ

หากอยู่ที่การใช้ชีวิต ถ้าคุณใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง กรรมจะทำงานของมัน และความฝันก็จะมาหาคุณเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวกับหนังสือจากโลกตะวันตกในเรื่อง การคิดแง่บวกกับ "คุณค่าแห่ง

การมีชีวิต" แล้ว สรุปได้สั้น ๆ ว่า จงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเสมือนหนึ่งว่าไม่มีวันพรุ่งนี้  แล้วมา

สรุปบทสุดท้ายด้วยหลักความคิดในโลกตะวันออก ตามแนวพุทธบ้านเราต่อ โดยขอสรุปข้อ

ความที่น่าสนใจไว้ล่วงหน้าก่อน (เกรงว่าเห็นบทความยาว ๆ แล้วจะเลิกอ่านเสียก่อน)

เรื่อง มรณสติ  โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี  จากประโยคที่ว่า เมื่อผู้ใดพิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกนั้นจึงจะเป็นผู้ไม่ประมาท หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

                                                          และ

ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย คำว่า ทางแห่งความตาย นั้นยังไม่ทันตายหรอก แต่ผู้ประมาทได้ชื่อว่าตายแล้ว เพราะการไม่มีสติก็เหมือนกับคนตาย

หากท่านใดสนใจจะอ่านคำบรรยายธรรมของหลวงปู่เทสก์จนจบต่อไปก็ได้ ในบันทึกฉบับ     ต่อไป   แต่ในที่นี้ขอสรุปปิดท้ายก่อนจะปิดบันทึกในวันนี้ว่ามรณสติในความหมายตาม   บริบท   ที่นำเสนอนี้ ก็คือว่า การอยู่กับลมหายใจ ณ เวลาปัจจุบันด้วยความไม่ประมาท      ในการดำเนินชีวิต  หากมีชีวิต แต่ปราศจากสติ มีแต่ความประมาท ไม่สอดคล้องตาม     หลักธรรม (ชาติ)     ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตายที่ยังมีลมหายใจอยู่

อยากฝากตรงนี้ว่า The Last Lecture ผู้เขียนที่ใกล้ตายเขาคิดได้เช่นนี้... แม้เรา (คิดว่า) ยังห่างไกลจากความตาย ก็คิดได้เหมือนกัน  ให้ทุกเวลา... ทุกลมหายใจเข้าออกมีความหมาย... หากทำวินาทีนี้ดีแล้ว เราก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจที่ได้มีชีวิต... ลองเลือกดูระหว่าง "Death in life" กับ "Life in Death"

  

หมายเลขบันทึก: 233766เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมโชคดีที่ได้มาพบแหล่งทุนทางปัญญาแห่งนี้ ขอบพระคุณมากครับ

- ขอบพระคุณค่ะ จะพยายามหนีงานมาเขียนให้อ่าน

เป็นระยะ ๆ ค่ะ

- คุณพ่อดิฉันก็เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมาก่อนค่ะ

- ขอโทษนะคะพอดีเห็นประวัติแล้วระลึกถึงคุณพ่อค่ะ

- ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ รู้สึกได้กำลังใจมากเลย

ขอบคุณครับสำหรับ ข้อมูลจากอาจารย์วรากรณ์

ว่างจะลองไปโหลดคลิปมาดู

น่าจะได้อรรถรสไปอีกแบบนึง

  • ขอบคุณครับอาจารย์
  • ต้องแบ่งว่าจะอยู่กับปัจจุบัน อนาคต และอดีตเท่าไร ส่วนมากก็อยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุด
  • แวะมาทักทายในวันหยุดค่ะ
  • สบายดีนะคะ
  • ที่นี่ฝนตกค่ะ
  • ทำให้อากาศเย็นสบาย
  • เหมาะแก่การนอนหลับ..พักผ่อนค่ะ
  • คลายร้อนไปได้เยอะเลยค่ะ

×÷•.•´¯`•)» บ้านรักษ์สุขภาพ «(•´¯`•.•÷×

สวัสดีครับ  เคยได้ยิน  มรณสติ  เรื่องนี้ดีมาก ใช่เลยครับ  เจ้าตัว เวลา มีอิทธิพลกับเรามาก  ผมเคยรู้สึกว่า เมื่อทำงานที่อยากทำหรือจำเป็นต้องทำแต่เวลาจะหมด  ช่วงเวลาที่เหลืออยู่มันช่างมีค่ามากมายเหลือเกิน  ในช่วงเวลาแบบนั้นหากเราไม่มีสติ ทั้งสิ่งจะจบลงอย่างรวดเร็ว ขอบพระคุณสำหรับข้อคิดชีวิตที่มีคุณค่ายิ่ง  ขอบพระคุณ

  • สวัสดีคุณศิลา
  • แม้จะยุ่งยังเขียนบทความได้ยาวขนาดนี้ มีใจจริง ๆ
  • หลวงพ่อคูณท่านก็สอนอยู่เสมอว่า "หายใจเข้า ให้ภาวนาว่า ตาย หายใจออกให้ภาวนาว่า แน่ หายใจเข้าหายใจออกภาวนาว่า ..ตาย แน่ๆๆๆ..เพื่อเตือนสติให้เราอยู่กับปัจจุบัน
  • ขอบคุณ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท