ใบความรู้เรื่องสารานุกรม


วิชาการใช้ห้องสมุด ท 40216

สารานุกรม (Encyclopedias)

               สารานุกรม (Encyclopedias) เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญและใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นแหล่งสรรพวิยาความรู้อันเป็นพื้นฐานโดยทั่วๆ ไป โดยรวบรวมความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะเขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา แล้วนำมาเรียบเรียงไว้ตามลำดับตัวอักษร หรือแบ่งเป็นหมวดหมู่วิชา สารานุกรมมีทั้งเล่มเดียวจบและเป็นชุดหลายเล่มจบ  

 

ลักษณะเฉพาะของสารานุกรม

               สุนิตย์  เย็นสบาย(2543 :70) อ้างถึง สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ได้กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของสารานุกรม  ไว้ดังนี้

               1. สารานุกรมมีทั้งชนิดเล่มเดียวจบ และชนิดเป็นชุดหลายเล่มจบ

               2. สารานุกรมสามารถอ่านได้หลายระดับ ทั้งขั้นง่ายสำหรับเยาวชนหรือผู้มีความรู้ในระดับปานกลาง และขั้นยากสำหรับผู้มีความรู้สูง

               3. สารานุกรมประกอบด้วยบทความทางวิชาการด้านต่างๆ  โดยสังเขป เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จัดเรียงตามลำดับอักษร

               4. มีชื่อเต็มหรืออักษรย่อของผู้เขียนบทความกำกับไว้ที่ท้ายเรื่องทุกเรื่อง

               5. มีภาพประกอบบทความบางเรื่อง

               6. สารานุกรมของต่างประเทศส่วนมากจะมีบรรณานุกรมโดยจัดไว้ท้ายบทความแต่ละเรื่อง

               7. มีดรรชนีค้นคว้าเรื่องย่อย ๆ  ในเล่ม สารานุกรมบางชนิดแยกเล่มไว้ต่างหาก

ประโยชน์ของสารานุกรม

               สารานุกรมจะให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในทุกแขนงวิชา  ให้คำอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดทั้งในเชิงประวัติความเป็นมา วิวัฒนาการตลอดจนความรู้ทั่วไป เหมาะที่จะทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และเป็นคู่มือบรรณารักษ์ในการบริการตอบคำถามเป็นอย่างดี ประโยชน์ของสารานุกรมกล่าวสรุปได้ดังนี้

                     1) ใช้เป็นแหล่งข้อมูลค้นหาคำตอบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงได้ทุก  ๆแขนงวิชา

                     2) ข้อเท็จจริงในหนังสือสารานุกรมเชื่อถือได้ เพราะเป็นหนังสือที่เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ

                     3) ใช้เป็นแหล่งศึกษาพื้นฐานความรู้ในเชิงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ  อย่างทั่วถึง

                     4) ได้ความรู้ที่ทันสมัยเพราะมีการปรับปรุงเนื้อหาทุก  ๆ ปี

                     5) ผู้ใช้สามารถค้นหาคำตอบได้สะดวกและรวดเร็ว เพราะมีเครื่องมือช่วยค้น  คือดรรชนี (Index)

                     6) ผู้ใช้สามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เพราะมีการจัดเรียงลำดับเนื้อเรื่องอย่างมีระเบียบ

                     7) ใช้เป็นคู่มือของบรรณารักษ์ในการบริการตอบคำถามได้เป็นอย่างดี

               วิธีใช้สารานุกรม

                     1) พิจารณาดูว่าเรื่องที่ต้องการเป็นความรู้พื้นฐาน หรือความรู้เป็นเรื่องเฉพาะวิชา

                     2) เลือกใช้สารานุกรมให้ถูกกับเรื่องที่ต้องการ  เช่น

                          2.1)  ความรู้พื้นฐานง่าย ๆ  สั้น ๆ ใช้สารานุกรมทั่วไปสำหรับเยาวชน

                          2.2) ความรู้พื้นฐานอย่างละเอียดใช้สารานุกรมทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่

                          2.3)  ความรู้เฉพาะวิชา ให้เลือกใช้สารานุกรมเฉพาะวิชา  ซึ่งแบ่งออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ

                     3) เปิดดูดรรชนีเพื่อดูเรื่องที่ต้องการค้นหาว่าอยู่ในเล่มใด หน้าเท่าไร  โดยพิจารณาให้ถูกกับลักษณะของสารานุกรม เช่น

                          3.1)  เปิดดูดรรชนีท้ายเล่ม (สารานุกรมสำหรับเยาวชนและสารานุกรมบางชุดดรรชนีอยู่ด้านหน้า)

                          3.2)  เปิดดูดรรชนีที่เล่มสุดท้ายของชุด (สารานุกรมสำหรับผู้ใหญ่และสารานุกรมบางชุดอยู่ท้ายเล่ม)

                     4)  ดูอักษรนำเล่ม หรือคำแนะที่สันหนังสือ เพื่อดูว่าเรื่องที่ต้องการอยู่เล่มใด

                     5) ก่อนใช้สารานุกรมแต่ละชุดควรอ่านวิธีใช้เป็นลำดับแรก แล้วจึงค้นหาเรื่องที่ต้องการ

สารานุกรมสามารถจำแนกได้ 2  ประเภท  คือ

               1.  สารานุกรมทั่วไป(General Encyclopedias) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงวิชา มีทั้งให้ข้อมูลอย่างละเอียดและอย่างสังเขปอธิบายเรื่องราวเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทุกสาขาวิชา เช่น สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ World Book Encyclopedia ฯลฯ

               2.  สารานุกรมเฉพาะวิชา  (Subject Encyclopedias) เป็นสารานุกรมที่รวบรวมความรู้สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือรวบรวมเรื่องราวแขนงวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ จะอธิบายเรื่องราวละเอียดลึกซึ้งกว่าสารานุกรมทั่วไป  เช่น  สารานุกรมวิทยาศาสตร์ สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  ฯลฯ

สารานุกรมที่ควรรู้จัก

               1. สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน  โดยราชบัณฑิตยสถาน

               2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

               3. The  New  Encyclopedia  Britannica

               4. World Book Encyclopedia

 

สรุป

               สารานุกรมเป็นหนังสือรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในทุกแขนงวิชา  ให้รายละเอียดมีทั้งในแง่ประวัติความเป็นมา วิวัฒนาการ  และความรู้ทั่วไป  เช่น  ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ฯลฯ เรียงลำดับไว้อย่างมีระเบียบ  ส่วนมากเรียงตามตัวอักษร มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยการออกหนังสือรายปีเพิ่มเติม  เพื่อรวบรวมความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ผู้ใช้ควรเลือกใช้สารานุกรมที่พิมพ์ในปีล่าสุด และเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการและพื้นฐานความรู้ของตน สารานุกรมมีทั้งสารานุกรมทั่วไป  สารานุกรมเฉพาะวิชา สารานุกรมสำหรับผู้ใหญ่  สารานุกรมสำหรับเยาวชน สารานุกรมหลายเล่มจบ  และสารานุกรมเล่มเดียวจบ

 

แหล่งที่มา

 

นันทา วิทวุฒิศักดิ์. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :ดี.ดี.บุ๊คสโตร์, 2536.

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงานการค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 8.

               กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

สุนิตย์ เย็นสบาย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2543.

______   . สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ :ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชา

               มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2539.

 

 

หมายเลขบันทึก: 233721เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แค่เห็น บล๊อก ก็น่าอ่านแล้ว ความอยากเห็น อยากรู้เพิ่มขึ้นในทันที

เป็นความรู้เรื่องหนังสืออ้างอิงที่ครบถ้วนจริงๆ ค่ะ

นางสาว สุพัตรา ทิพย์ทอง

มีความรู้และสาระมากมายและยังทำให้เราหาเนื้อหาได้ง่าย

เป็นเว็ปที่มีเนื้อหาสาระดี เข้าใจง่ายและครบถ้วนคะ

น.ส.เดือนเพ็ญ พันธ์ชำนาญ

มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ดีค่ะ

ได้สาระมากค่ะ

นาย อมรเทพ พิมพ์คำวงศ์

เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อนักเรียนเเละทุกๆคน และเป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม น่านับถือๆๆๆๆๆ

น.ส.อัมภาพร ลันวงษา

โอ้โห เว็บของอาจารย์ ยอดไปเลย ไม่รู้มาก่อนเลยนะเนี่ย มีสาระของห้องสมุดเพียบ มาที่เดียวคุ้มเลย

นางศาว กรรณิการ์ เวียนวงษ์

เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ ได้รับสาระที่ดีมีประโยชน์ต่อนักเรียน

นางสาวสุธิดา แก้วโสนด

ดีค่ะ เป็นการสอนแนวใหม่โดยมีการประยุกต์การเรียนการสอนกับโลกไซเบอร์ เพื่อเข้าถึงนักเรียนได้เป็นอย่างดี น่านับถือมั๊กๆ ขอคาราวะ!!!

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท