การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาล


การแก้ไขปัญหา ความยากจน นโยบายรัฐบาล

 

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาความยากจน โดย Thailand Development Research Institute.

http://www.info.tdri.or.th/poverty/

ความยากจนคืออะไร

นิยามความยากจน

เมื่อกล่าวถึง "ความยากจน" โดยทั่วไปจะหมายถึงความยากจนในเชิงเศรษฐกิจ (Monetary Dimension) นั่นคือพิจารณาที่ระดับรายได้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับในแต่ละสังคม เมื่อนิยามความยากจนอิงกับการขาดแคลนรายได้เช่นนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสภาวะความยากจนจึงใช้รายได้หรือรายจ่ายของครัวเรือน และแนวทางในการแก้ไขปัญหาก็จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน โดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ดำเนินการโดยคนจน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของตลาดในด้านต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อคนจน ตลอดจนการให้เงินอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา เป็นต้น

ปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยในมุมมองใหม่นี้มิได้พิจารณาเฉพาะการมีรายได้น้อยหรือการบริโภคน้อยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆ ที่มิใช่ตัวเงิน (Non-monetary Dimension) ดังที่ปรากฏอยู่ในคำนำของรายงาน
การพัฒนาโลก 2000/2001 การขจัดความยากจน ดังนี้

"ความยากจน มิได้จำกัดแต่เพียงการมีรายได้น้อยและการบริโภคน้อยเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิขาดเสียง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยง และความหวาดกลัว"

เมื่อนิยามความยากจนอิงกับมิติด้านอื่นๆ ที่กว้างขึ้น เช่น ความขาดแคลนโอกาสในด้านต่างๆ และขาดแคลนอำนาจและสิทธิของบุคคล เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสภาวะความยากจนจึงกว้างขึ้นเช่นกัน นั่นคือดูที่ศักยภาพของคนจนว่าได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาอย่างไร เช่น การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมต่างๆ ของรัฐ อาทิ การศึกษา การสาธารณสุขควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน และตลาด ตลอดจนการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองให้กับท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

มิติของความยากจน

ความยากจนเชิงสัมบูรณ์ (absolute poverty) คือ การวัดความยากจนโดยคำนวณความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของครัวเรือนออกมาเป็นตัวเงิน เรียกว่า "เส้นความยากจน (poverty line)" เพื่อใช้เปรียบเทียบกับรายได้ของครัวเรือนความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) เป็นการวัดความยากจนโดยใช้การเปรียบเทียบมาตรฐานการดำรงชีวิตของครัวเรือนกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉลี่ย ซึ่งก็คือ "การวัดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ (income inequality)"  นั่นเอง

 การวัดความยากจนในประเทศไทย

มิติของการวัดความยากจน

โดยทั่วๆ ไปการวัดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาควรจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นตัวแทนความกินดีอยู่ดีของบุคคลมากกว่าการใช้รายได้ ทั้งนี้เพราะมีข้อสนับสนุนทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ คือในทางทฤษฎีค่าใช้จ่ายเป็นตัวชี้ให้เห็นแบบแผนการบริโภคของครัวเรือนว่าเป็นอย่างไร ส่วนในทางปฏิบัติคือเราสามารถเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายได้ของครัวเรือนเกษตรได้แม่นยำกว่าข้อมูลรายได้เพราะเกษตรกร มักจะจดจำตัวเลขการใช้จ่ายได้ดีกว่าตัวเลขรายได้ แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ใช้การวัดความยากจนทางด้านรายได้

การวัดความยากจนสัมบูรณ์ด้านรายได้ของประเทศไทย

ความยากจนสัมบูรณ์ในมิติด้านรายได้

"คนจน" หมายถึง คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งเส้นความยากจนนี้คำนวณขึ้นมาโดยคำนึงถึงความต้องการอาหารและสินค้าอุปโภคที่จำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของครัวเรือน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าคนจนก็คือคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำนั่นเอง แนวคิดในการคำนวณเส้นความยากจนสำหรับประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
ใหญ่ๆ ดังนี้

(1) "เส้นความยากจนเดิม" ธนาคารโลกได้เริ่มต้นศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2505/06 พิจารณาจากความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยแยกเป็นความจำเป็นด้านอาหารและสินค้าอุปโภคของคนไทยตามหลักสากลที่ธนาคารได้ริเริ่มขึ้น (คนไทยโดยเฉลี่ยต้องการพลังงาน 1,978 แคลอรีต่อวัน และอาจมีการปรับลดลงสำหรับประชากรที่เป็นเด็ก) วิธีการคำนวณเส้นความยากจนในปีต่อๆ มา อาทิ Medhi 1985; World Bank 1985; เมธีและปราณี 2528; Suganya and Somchai 1988 และ Isara 1999 เป็นเพียงแต่ปรับเส้นความยากจนเดิมด้วยดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index - CPI) จุดอ่อนของเส้นความยากจนเดิม คือการใช้ค่าเฉลี่ยความต้องการสารอาหารต่อวันต่อคนโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องอายุและเพศดังนั้นเส้นความยากจน ที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จึงไม่สามารถสะท้อนแบบแผนการบริโภคในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร นอกจากนี้ยังไม่สะท้อนความแตกต่างในระดับราคาสินค้าในพื้นที่ (เมืองและชนบท)

(2) "เส้นความยากจนใหม่" โดย Kakwani and Medhi (1998) ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายในกองประเมินผลการพัฒนาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นับเป็นเส้นความยากจนของทางการ เส้นความยากจนใหม่นี้สามารถวัดความยากจนได้ในระดับบุคคล ครัวเรือน พื้นที่ จังหวัด ภูมิภาคจนถึงระดับประเทศ โดยพิจารณาจากความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของปัจเจกบุคคล ทั้งด้านอาหารและสินค้าอุปโภค หากครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่คำนวณได้ถือว่าเป็นครัวเรือนยากจน

ขั้นตอนการคำนวณเส้นความยากจนใหม่

เส้นความยากจนด้านอาหาร คำนวณความต้องการสารอาหารหรือพลังงานระดับครัวเรือน โดยคำนวณปริมาณความต้องการพลังงานของสมาชิกในครัวเรือนตามมาตรฐานภาวะโภชนาการที่เหมาะสมของคนไทย (แยกตามอายุ และเพศ) เป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการบริโภคอาหารต่อเงินหนึ่งบาท โดยใช้ตะกร้าอาหารเฉลี่ยของทุกภูมิภาคแปลงให้เป็นปริมาณแคลอรีหรือสารอาหารที่ซื้อหาได้จากเงินแต่ละบาท โดยใช้สูตรการแปลงค่า (conversion factor) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกนัยหนึ่งเส้นความยากจนด้านอาหาร คือจำนวนเงินที่ครัวเรือนต้องใช้ในการซื้อหาพลังงาน (แคลอรี) ที่จำเป็นสำหรับ
สมาชิกในครัวเรือน

เส้นความยากจนด้านค่าใช้จ่ายอื่นที่มิใช่อาหาร ใช้วิธีการคำนวณเทียบเคียง โดยมีสมมติฐานว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารคิดเป็นร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายรวม ดังนั้นเมื่อคำนวณหาเส้นความยากจนด้านอาหารได้แล้ว ก็สามารถนำมาคำนวณเพื่อเทียบเคียงหาเส้นความยากจนรวมได้

สถานการณ์ความยากจนวัดด้วยเส้นความยากจนใหม่

เส้นความยากจนเฉลี่ยทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 473 บาท/คน/เดือน ในปี พ.ศ. 2531เป็น 916 บาท/คน/เดือนในปี พ.ศ. 2544 ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (ตารางที่ 1) สัดส่วนคนจน(head count ratio) หมายถึงจำนวนคนจนเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับจำนวนประชากรทั้งหมด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา สัดส่วนคนจน มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลให้สัดส่วนคนจนกลับเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11.4 ในปี พ.ศ. 2539 เพิ่มเป็นร้อยละ 13.0 ในปี พ.ศ. 2541 ร้อยละ 15.9 ในปี พ.ศ. 2542และเริ่มลดลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 เหลือเพียงร้อยละ 14.2 และร้อยละ 13.0 ในปี พ.ศ. 2544 ส่งผลให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6.8 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2539 เป็น 9.9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2542 และลดเหลือ 8.9 และ 8.2 ล้านคน ในปี 2543 และ 2544ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

ชนบทยังคงเป็นภูมิภาคที่คนยากจนอาศัยอยู่มากที่สุดถึงประมาณร้อยละ 80 ของคนจนทั้งหมด โดยในปี พ.ศ. 2544 มีคนจนอยู่ในชนบท 7.1 ล้านคน จากจำนวนคนจนทั้งหมดจำนวน 8.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.57 ของประชากรในชนบท ลดลงจากปี พ.ศ. 2543 ที่มีคนจนอยู่ในชนบทประมาณ 8.16 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 ของประชากรในชนบท(ข้อมูลจากเอกสารการสัมมนา เรื่องยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนของ สศช. มิ.ย. 2545)คนจนในเมืองในปี พ.ศ. 2544 มีประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรเขตเมืองทั้งหมด เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี พ.ศ. 2543 ที่มีจำนวน 0.74 ล้านคน หรือร้อยละ 3.7 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลจากเอกสารการสัมมนาเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนของ สศช. มิ.ย. 2545)

เมื่อพิจารณาแยกตามภาคพบว่า ภาคอีสานมีคนจนอาศัยอยู่มากที่สุดประมาณ 5.2 ล้านคนหรือร้อยละ 63.4 ของจำนวนคนจนทั้งประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.5 ของคนอีสานทั้งหมด ในขณะที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีคนจนเพียงร้อยละ 0.8ของประชากรในภาคนี้จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภาคที่มีคนจนอาศัยอยู่มากกว่าภาคอื่นๆค่อนข้างมาก และโดยเฉพาะเมื่อประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 สภาวะความยากจนในภาคอีสานก็ได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่นๆ โดยมีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและนอกจากนั้นการพิจารณาจำนวนคนจนจำแนกตามการกระจายตัวของคนจนแยกตามรายจังหวัดเรียงจากมากไปน้อยพบว่าตั้งแต่ลำดับที่ 1 - 14 แรกเป็นจังหวัดในภาคอีสาน มีจำนวนคนจนรวมกันประมาณร้อยละ 60

ดูรายละเอียดทั้งหมด : http://www.info.tdri.or.th/poverty/

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23345เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ให้สาระความรู้นะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท