“โรงเรียนในฝัน หรือ โรงเรียนนายฝัน”


“โรงเรียนในฝัน หรือ โรงเรียนนายฝัน”

โรงเรียนในฝัน หรือ โรงเรียนนายฝัน

อดุลย์  สุชิรัมย์

ศน.สพท.บุรีรัมย์ เขต 1


                โครงการหนึ่งอำเภอ  หนึ่งโรงเรียนในฝัน  เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการกระจายโรงเรียนที่มีคุณภาพให้อยู่ในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง  จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชน  ทำให้เราได้ยินหลายท่านกล่าวว่า  โรงเรียนในฝัน  หรือ โรงเรียนนายฝัน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่า  การพัฒนาโรงเรียนในโครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใด หรือเป็นการพัฒนาเพื่อรับการตรวจเยี่ยมและรับรองการเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝันเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็จบไป

                จากคำพูดดังกล่าวข้างต้น จึงอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของการพัฒนาโรงเรียนในฝันที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน  หากจะพิจารณาถึงภาพความสำเร็จของโรงเรียนในฝันด้านนักเรียน ที่กำหนดไว้ว่า  นักเรียนต้องมีนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่านและการค้นคว้า สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เป็นคนดีมีคุณธรรม รู้จักคิดวิเคราะห์ มีทักษะการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้  สร้างงาน สร้างอาชีพ สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ สืบสานวิถีวัฒนธรรมไทยอย่างมั่นใจในตนเอง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2546 :1)  จากภาพความสำเร็จดังกล่าว  จะพบว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กไทย และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษากำลังพยายามดำเนินการอย่างเร่งด่วน

จากรายงานการวิจัย เรื่อง ผลการดำเนินงานโรงเรียนในฝัน สพท. กทม.3 พบว่า  ด้านการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองนักเรียนประถมศึกษาร้อยละ 99 สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ และมีนักเรียนผ่านการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียน ร้อยละ 93 มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนสื่อสาร ร้อยละ 62  ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ ร้อยละ 100 และผ่านการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียน ร้อยละ 90 มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนสื่อสาร ร้อยละ 87 (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3. 2548 : บทคัดย่อ)  ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเช่นเดียวกับโรงเรียนในฝันหลายๆโรงเรียนที่ได้รับรางวัลต่างๆมากมายในระดับประเทศ

                ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ความสำเร็จดังกล่าว คือ ผู้บริหาร และครู

ดังนั้นผู้บริหารจึงควรบริหารจัดการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสถานศึกษา คือ ระบบประกันคุณภาพภายใน  การสร้างโอกาสและดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ความพร้อมด้าน ICT และใช้  ICT ในการสื่อสารร่วมกับเครือข่ายผู้บริหาร ครู ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  นักเรียนสามารถใช้ ICT ในการเรียนรู้ การปฏิบัติงาน และการพัฒนาตนเอง  สร้างระบบภาคีเครือข่าย  ในส่วนของครูควรมีคุณลักษณะสำคัญดังนี้ คือ มีจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  มีทักษะวิชาชีพในการพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้  ใช้สื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีทันสมัยเหมาะสมกับผู้เรียน กระตือรือร้นและมีจิตวิทยาในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548 :5) 

 

วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

การขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ของโรงเรียนในฝันให้บรรลุเป้าหมายสู่ภาพความสำเร็จของนักเรียนที่กำหนดไว้  วัฒนธรรมการเรียนรู้ของสังคมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนจากการบอกความรู้  การจำความรู้เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ ดังนี้  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548 : 10) 

1. การสร้างความรู้จากการคิด การลงมือปฏิบัติ การทบทวนไตร่ตรอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นและเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้เรียน

2. การจัดการเรียนการสอน คือ การเรียนรู้ของผู้เรียน มิใช่ตัวครู หรือเนื้อหาวิชา

3. ผู้เรียนต้องได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการเรียนรู้และสามารถพัฒนาได้

ดังนั้นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของผู้เรียน ในการที่จะเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนได้  คือ ภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  นักเรียนต้องสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล ความรู้ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อตอบสนองในสิ่งที่เขาอยากรู้ อยากเรียน  ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกโรงเรียน ต้องตอบสนองและมีบรรยากาศที่เอื้อในการเรียนรู้  สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียนได้อย่างชัดเจน ลุ่มลึก สิ่งเหล่านี้จะตอบสนองและทำให้วัฒนธรรมการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนไป โดยมีครูคอยเป็นผู้อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ แนะนำ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน

นอกจากนั้นจากภาพความสำเร็จที่ว่า มีทักษะการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้  สร้างงาน สร้างอาชีพ  เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่นักเรียนโรงเรียนในฝันต้องมี นั่นหมายความว่า  นักเรียนที่จบการศึกษาไปจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการได้ ไม่เป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน รับจ้างรายวัน  การเรียนรู้ในโรงเรียนต้องเป็นการเรียนรู้อย่างลุ่มลึก ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการ สามารถนำไปประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ หรือกิจการส่วนตัวได้ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ต้องสามารถนำความรู้ไปเปิดร้านซ่อมหรือจำหน่ายคอมพิวเตอร์ได้  เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปลาก็ต้องสามารถนำความรู้ไปทำฟาร์มเลี้ยงปลาของตนเองได้  สามารถทำบัญชีรายรับ รายจ่าย คิดต้นทุน กำไร ได้อย่างเป็นระบบ  นอกจากนั้นเขาต้องสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพให้มีความก้าวหน้าทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น หากโรงเรียนหรือครูผู้สอนยังมีเพียงชอล์คกับกระดานดำในการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้ง  การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ของนักเรียนก็คงไม่เกิดขึ้น  การที่จะให้นักเรียนมีนิสัยรักการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ก็คงเป็นไปไม่ได้   จึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน สื่อ แหล่งเรียน และจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ลุ่มลึก  โดยความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ทำอย่างไรให้ฝันเป็นจริง

                จากภาพความสำเร็จด้านผู้เรียนดังกล่าวข้างต้น ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง และยั่งยืนน่าจะประกอบไปด้วย

                1. ความเข้าใจแนวคิด หลักการ ในการพัฒนาโรงเรียนในฝันของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยการศึกษาจากเอกสาร แลกเปลี่ยนกับผู้รู้ หรือบุคลากรของโรงเรียนในฝัน ซึ่งจะนำไปสู่ความตระหนักและเห็นความสำคัญในการพัฒนา

                2. การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกโรงเรียน เช่น ครู  เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย  นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาข้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง ชุมชน  องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน

                3. การบริหารอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

                4. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลายเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งในส่วนที่เป็นสื่อหรือแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ ห้องสมุด และสื่อ ICT

                5. สร้างวัฒนธรรมการเรียนใหม่ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา อำนวยความสะดวก  ให้คำแนะนำ

                6. การพัฒนาสื่อ เครื่องมือ ในการเรียนรู้ ทั้งด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสื่อ ICT  เพื่อการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนรู้

                7. พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในให้เข้มแข็ง

                8. พัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งสร้างแรงจูงใจ ให้ขวัญกำลังใจในการพัฒนา

                9. ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ตลอดทั้งวัฒนธรรมการประเมินให้เป็นภาวะปกติของการปฏิบัติงาน

                10. ความมีภาวะผู้นำ และการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน กล้าคิด กล้าตัดสินใจ

                หากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด หลักการของการพัฒนาโรงเรียนในฝันแล้ว มีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาจะเกิดความยั่งยืน  เพราะในวันที่คณะกรรมการตรวจเยี่ยมและรับรองการเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝันนั้น  ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่รับรองเป็นโรงเรียนที่ดีเยี่ยมแล้ว  แต่รับรองเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า  กระบวนการพัฒนา หรือสิ่งที่โรงเรียนดำเนินการมานั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง  เพราะนี่คือ

คำตอบสุดท้าย ของโรงเรียนในฝัน  คำว่า โรงเรียนนายฝัน” คงไม่มีอีกต่อไป

 

…………………………………………………………………

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 3. 2548.  ผลการประเมินการดำเนินงานโรงเรียนในฝัน สพท.กทม.3.  กรุงเทพฯ : ธรรมรักษ์การพิมพ์ราชบุรี จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548.  ปฏิรูปครู...สู่ฝัน.  กรุงเทพฯ : เสมาธรรม.

........... 2548.  1 ปี 1 อำเภอ  1  โรงเรียนในฝัน  นโยบายสู่การปฏิบัติ.  กรุงเทพฯ : วุฒิวัฒน์การพิมพ์.

……… 2546.  แผนงานหลัก โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน.  เอกสารอัดสำเนา.

........... 2550.  โรงเรียนในฝันกับ SBM.  กรุงเทพฯ : โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน.

............ 2548.  สืบสานความเป็นไทย. กรุงเทฯ : พรชัยการพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 232674เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีปีใหม่ครับ ประเด็นนี้ดีมาก ผมสัมผัสกับโรงเรียนในฝัน หลายโรงส่วนน้อยเท่านั้นจะได้ตามอุดมการณ์จริงๆส่วนใหญเป็นโรงเรียน ผอ.ฝัน/ครูฝัน ทั้งสิ้น บอกได้เลยว่าผักชีโรยหน้าทั้งนั้น(จากการสัมผัสจริง)

สวัสดีค่ะ

* เราน่าจะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแห่งความเป็นจริงนะคะ

* ทุกอย่างที่ทำมาเหมือนโรงเรียนในฝันจริงๆ อย่างคุณเบดูอินว่านั่นแหละค่ะ

* เด็กๆ ส่วนใหญ่ขาดการขนขวายในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

* ให้สุขกายสุขใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท