Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มึดา...อดีตเยาวชนไร้สัญชาติ...ยังถูกละเมิดสิทธิในหลักประกันสุขภาพตามกฎหมายอยู่อีก..ทำไมหนอ ??


Date: Thu, 25 Dec 2008 15:37:02 สวัสดีค่ะ หนูดีใจมากๆที่ได้สัญชาติไทย หนูก็เริ่มทยอยทำทุกอย่าง สิ่งที่หนูอยากทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอบใบขับขี่ และอื่นอีกมากมาย และวันนี้ หนูก็ไปทำบัตรทอง ก็โดนปฏิเสธบอกว่า หนูได้เลข 8 ไม่สามารถทำได้ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ฐานข้อมูลยังไม่รับ...หนุก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะเหตุใด (เข้าใจว่า มีสิทธิ์เหมือนคนไทยทุกประการ) ขอความกรุณาช่วยทำให้หนูเข้าใจด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ มึดา นาวานาถ (อดีตคนไร้สัญชาติ)

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑

เรื่อง   ขอให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อการดำเนินการตามกฎหมาย
เรียน  นายกรัฐมนตรี
อ้างถึง ๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐
        ๒) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕
        ๓) อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ
ทางการเมือง, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, กติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ, อนุสัญญาสิทธิเด็ก และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน)
          ๔) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑
          ๕) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒

                 สืบเนื่องจาก โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายคือ โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากนางสาวมึดา นาวานาถ เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑     นางสาวมึดาได้ไปติดต่อโรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่อ่องสอน ซึ่งได้ปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการมีบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนางสาวมึดา โดยให้เหตุผลกับนางสาวมึดาว่า  “ทะเบียนบ้านนั้นเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว และเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักนั้น ขึ้นต้นด้วยเลข ๘  ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถมีบัตรได้” นั้น
                 ทางโครงการฯและองค์กรเครือข่าย เห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน จึงเรียนมาเพื่อหารือข้อกฎหมายและขอให้ทางท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

                  ๑. สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยมาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๒ รวมถึงมาตรา ๘๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕0) และพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ โดยสาระสำคัญของสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ เป็นสิทธิของบุคคลที่จะได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานอย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญไม่ใช่บริการที่ต้องมีการสมัครจึงจะได้รับ หากแต่เป็นสิทธิตามกฎหมายของบุคคล
                 สิทธิของบุคคลดังกล่าว ผูกพันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีหน้าที่ต้องเคารพและรับรอง โดยการใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ (มาตรา ๒๖, ๒๗ และมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญฯ) และโดยเสมอภาค (มาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ)
                 ๒. ในทางปฏิบัติ บุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพจะได้รับการออกบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายหลังการขึ้นทะเบียน (ข้อ ๑๓ และ ๑๔ แห่งระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.๒๕๔๔) โดยขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาจสำรวจและขึ้นทะเบียน หรือบุคคลอาจไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ณ หน่วยงานหรือหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ผู้มีสิทธิมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน
                 ๓. อนึ่ง การรับรองสิทธิดังกล่าวของประเทศไทย ยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับพันธกรณีในทางระหว่างประเทศในฐานะรัฐภาคี ได้แก่ ข้อ ๒๕ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ข้อ ๑๒.๑ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, ข้อ ๕ (e) (iv) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, ข้อ ๑๑.๑ (f), ข้อ ๑๒.๑ และ ๑๒.๒ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ, ข้อ ๒๔.๑ แห่งอนุสัญญาสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙ รวมถึงข้อ ๒๕ (๑) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
                 ๔. สำหรับกรณีของนางสาวมึดา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ (ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕) ทำให้นางสาวมึดาไม่มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิด อย่างไรก็ดี โดยผลแห่งมาตรา ๒๓ ของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ส่งผลให้นางสาวมึดามีสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ คือวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้รับการกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๘ ให้แก่นางสาวมึดา และนางสาวมึดาได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) และได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้เป็นเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑
                ๕. ภายใต้กฎหมายทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรอง รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทางโครงการฯและองค์กรเครือข่ายมีความเห็นว่า หากโรงพยาบาลสบเมยมีฐานะเป็นหน่วยงานบริการด้านการลงทะเบียนและทำบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากทางโรงพยาบาลปฏิเสธการดำเนินการเพื่อออกบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่นางสาวมึดานั้น อาจหมายถึงการกระทำที่ขัดต่อมาตรา ๕๑-๕๒ แห่งรัฐธรรมนูญฯ รวมถึงหลักความเสมอภาค (มาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายลำดับรอง กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ อันอาจนำไปสู่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของโรงพยาบาลสบเมยในเบื้องต้น คือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับขั้นตอนในการออกคำสั่งทางปกครอง (มาตรา ๒๙, ๓๐ และ ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙), การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับขอบอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง รวมถึงการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ หรือมีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒)

 

                  อนึ่ง เนื่องจากการมีสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่นั้น จะส่งผลให้บุคคลที่เคยได้รับผลกระทบจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ กลับคืนมีสัญชาติไทยร่วมหลายแสนคน ทางโครงการฯ และองค์กรเครือข่ายจึงมีข้อห่วงใยว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวมึดา อาจเกิดซ้ำกับบุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ คนอื่นๆ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ทางโครงการฯ และองค์กรเครือข่ายจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

 

                   จีงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

 

                                                          ขอแสดงความนับถือ

                                                    ( ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล )
                                       นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และทนายความ
                                                  โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

 

อ้างอิงจาก

 

http://statelesswatch.wordpress.com/

หมายเลขบันทึก: 232051เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
มึดา นาวานาถ (อดีตคนไร้สัญชาติ)

ขอบคุณมากๆค่ะ‏
จาก: มึดา นาวานาถ 
ส่งเมื่อ: 27 ธันวาคม 2551 8:10:02
ถึง: archanwell พี่แก้ว โครงการวิจัยสุขภาพคนไร้รัฐ 

สวัสดีค่ะ
 
ระหว่างที่ติดต่อหนูไม่ได้เพราะหนูกลับบ้านท่าเรือค่ะ
 
ช่วงนี้มหาลัยปิดก็ถือโอกาสกลับมาเยี่ยมพี่น้องชาวบ้านที่บ้านท่าเรือ
 
และเพื่อกลับไปแนะนำให้พี่น้องชาวบ้านเข้าใจ ม.23ชัดเจนขึ้นค่ะ
 
และได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีการยื่นให้เข้าใจไปในแนวทางเดียวกันค่ะ(รวมถึงการยื่นขอบัตรทองด้วยค่ะ)
 
ต้องขอโทษด้วยนะคะที่ติดต่อหนูไม่ได้ 
 
หนูไม่แน่ใจว่าหนังสือที่เรียน ผอ.รพ.สบเมย  จะมาถึงเมื่อไหร่ค่ะ
 
หนูจะได้ติดตามความคืบหน้าค่ะ  และหากมีความคืบหน้าอย่างไหร่
 
หนูจะแจ้งให้ทุกท่านทราบทันทีค่ะ  (อ.แหววคะ...ศิษย์ของอ.คนนี้ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายอยู่แล้ว  หนูคิดเสมอว่าหนูต้องไม่โดนปฏิเสธโดยเปล่าประโยชน์
 
ค่ะ  เพราะว่าผลประโยชน์จะเกิดแก่พี่น้องที่ได้สัญชาติไทยตาม ม.23ทุกคนค่ะ  หนูขอบคุณอ.มากๆนะคะอ.คอยให้กำลังใจและช่วยหนูตลอดเลยค่ะ)
 
ขอบพระคุณเป็นอย่างสุงค่ะ

 

From: Stateless Watch

Sent: Tuesday, December 30, 2008 3:38 PM

Subject: มึดา ได้รับการประสานจากรพ.สบเมย ให้ไปทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วค่ะ

 

เมื่อตอนประมาณบ่ายสองของวันนี้ (30 ธค.)

มึดา ได้โทร.มาแจ้งความคืบหน้าว่า ทางโรงพยาบาลสบเมย ได้โทร.ประสานมาบอกให้มึดา ไปทำบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แล้ว

มึดาโทร.มา ฝากขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องค่ะ

ได้คุยกับอาจารย์แหวว เราเห็นตรงกันว่า ในการสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพนั้น นอกจากการทำงานในระดับนโยบาย แล้ว การสื่อสารสาธารณะ การทำความเข้าใจกับหน่วยงานปฏิบัติยังเป็นอีกภารกิจที่ยังคงต้องทำต่อไป

กรณีของมึดา เป็นตัวอย่างที่ดี (เราส่งหนังสือออกไปถึงโรงพยาบาลสบเมย และนายกรัฐมนตรี, ส่งให้สื่อมวลชน) ในวันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม ใช้เวลาทำการวันเศษๆ (จันทร์ 29, และครึ่งวันเช้าของวันอังคารที่ 30) หลักกฎหมายและแนวปฏิบัติจึงได้รับการปฏิบัติตามที่โรงพยาบาลสบเมย : )

ส่งข่าวดีเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทีม H4S ทุกคนนะคะ

ด๋าว

ขอแสดงความยินดีกับพี่มึดาด้วยนะคะ งัยก้ใหม่ขอให้พี่มึดาสู้ต่อไปนะคะ

ทุกคนเปณกำลังใจให้พี่อยู่ค่ะ คิดถึงพี่มึดานะคะ สู้ๆ สู้ตาย

(น้องใหม่แม่คะตวน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท