นนทบุรี


พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร  
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลสวนใหญ่  ห่างจากตัวเมืองมาทางด้านใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร  ด้านหน้าของวัดติดริมฝั่งแม่น้ำ   ส่วนด้านหลังติดถนนพิบูลสงคราม   มีพื้นที่ประมาณ 26 ไร่เศษ   เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเรียกว่า “วัดเขมา” ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ  ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี  ทรงขอวัดนี้มาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่า วัดเขมา ยังไม่มีสร้อยต่อท้ายต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานสร้อยนามต่อท้ายว่า “วัดเขมาภิรตาราม”  ปีพ.ศ. 2525 พระราชวงศ์จักรีมีอายุ 200 ปี มีพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการวัด มีความเห็นว่าวัดนี้มีความสำคัญกับราชวงศ์จักรี พระบรมวงศานุวงศ์ทรงให้ความอุปถัมภ์บำรุงมาตลอด จึงมีมติสร้างศาลาอเนกประสงค์ชื่อศาลา 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ สูง 30 เมตร  ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่  ศิลปะสมัยอยุธยาอัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม  ภายในวัดมีพระตำหนักแดงและพระที่นั่งมณเฑียรตั้งอยู่ด้วย การเดินทาง สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 184 หรือรถโดยสารสองแถวสายเรวดี-วัดปากน้ำ หรือเรือด่วนเจ้าพระยา โดยลงที่ท่าน้ำนนทบุรี  แล้วต่อรถโดยสารประจำทางสาย 203 หรือโดยสารเรือข้ามฟากจากท่าน้ำบางศรีเมือง ไปฝั่งท่าน้ำนนทบุรีแล้วต่อด้วยรถโดยสารประจำทางสาย 203

 
   
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
 

ตั้งอยู่ที่ซอยเฉลิมพระเกียรติ 15 เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2390 เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกีและสมเด็จพระราชชนนี มาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในเขตพระอารามมีความสงบ สะอาด ร่มรื่น ศิลปะสถาปัตยกรรมอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้ แม้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็มีความกลมกลืนกับสถาปัตย์เดิม  วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยาม  สถาปัตยกรรมในวัดที่น่าสนใจได้แก่ พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (คือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาผสม) หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบเก๋งจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี สลับลวดลายใบดอกพุดตาน กระจังฐานพระ ช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสลับลายจากประเทศจีน  ผนังด้านในเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง  มีช่อดอกพุดตานภายใน เพดานลายฉลุปิดทอง ซุ้ม ประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปใบและดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก
วัดโชติการาม  
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ ไปทางที่ว่าการ อบต.บางไผ่ เดิมชื่อวัดสามจีน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2350 ซุ้มประตูหน้าต่างที่พระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ บานประตูวิหารเป็นไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางสวยงามมาก  โบราณสถานในวัดได้แก่ วิหารทรงโรงก่ออิฐถือปูน 3 ห้อง ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี มีจิตรกรรมฝาผนังภายใน ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น ตอนมารผจญ ตอนสัตตมหาสถาน ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาเสด็จจากดาวดึงส์ การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปวัดสังฆทานจะมีป้ายชี้บอกตลอดทาง

 
   
วัดโบสถ์  
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางโดยข้ามสะพานปทุมธานีไปฝั่งตะวันออกจะมีทางแยกซ้ายไปกลับรถใต้สะพานเพื่อไปยังวัดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน  วัดโบสถ์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี  ชื่อวัดโบสถ์นำมาจากชื่อหมู่บ้านที่ชาวมอญอพยพมาจากเมืองมอญ เช่นเดียวกับวัดอีกหลายวัดในปทุมธานี เช่น วัดหงษ์ วัดบางตะไนย์  ประชาชนมักมาที่วัดเพื่อสักการะหลวงพ่อสามพี่น้องในพระอุโบสถ  และรูปหล่อหลวงปู่เทียน (พระครูบวรธรรมกิจ) พระเถระผู้ทรงคุณวิทยา ส่งเสริมด้านการศึกษาให้ชาวปทุม  วัดนี้ยังคงมีวิหารเก่าเหลืออยู่  1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จากรามัญ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์  และยังเก็บรักษาสิ่งสำคัญคือ ช้างสี่เศียรและบุษบกสัมฤทธิ์สำหรับประดับเสาหงส์ และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองปทุมธานี

 
   
วัดสังฆทาน  
ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางไผ่  สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดศาริโข  สร้างขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  โดยช่างที่มีความชำนาญตามแบบลังกาวงศ์ในสมัยกรุงสุโขทัย  วิเคราะห์จากหลักฐานพุทธลักษณะจากองค์หลวงพ่อโตและกระเบื้องเชิงชายหรือกระเบื้องหน้าอุดของหลังคาอุโบสถหลังเก่าและอิฐที่สร้างองค์พระกับฐานพระอุโบสถ  องค์พระประธานคือหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิปูนปั้น มีพุทธลักษณะและพุทธศิลป์เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง  ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและที่อื่นๆ ยังคงมาสักการะบูชาองค์หลวงพ่อโตมิได้เสื่อมคลาย  ชาวบ้านจึงต้องนิมนต์พระจากละแวกใกล้เคียงมาเพื่อถวายสังฆทานจนถูกเรียกขานกันติดปากว่า “วัดสังฆทาน”
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23189เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท