มหาวิทยาลัยนอกระบบ:ทิศทางการศึกษาของไทย


มหาวิทยาลัยนอกระบบ

มหาวิทยาลัยนอกระบบ : ทิศทางการศึกษาของไทย

บาว นาคร*

 

สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (Autonomous University) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

แนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ยื่นหลักการต่อ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้รับการเห็นชอบ เพียงแต่ได้มีการจัดตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แทน "สำนักนายกรัฐมนตรี" ดังนั้น ในยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้ย้ายไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จากเดิมที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของระบบราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงได้มีความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเรื่อยมา

และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2541 นโยบายการออกนอกระบบก็ได้เป็นข้อตกลงหนึ่งที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินกับ IMF โดยมุ่งหมายของรัฐบาลเพื่อลดงบประมาณในส่วนราชการที่สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการเสนอให้มหาวิทยาลัย หรือคณะฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ "ออกนอกระบบ" ราชการ และมีการหยุดรับข้าราชการพลเรือนเข้ามาในมหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งหมด ตำแหน่งที่บรรจุเข้ามาใหม่ เรียกว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย" ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือนเดิม และหากผู้ที่เกษียณราชการไปให้ตำแหน่งและเงินเดือนนั้นเปลี่ยนเป็นตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งเริ่มบรรจุใหม่เท่านั้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่องการศึกษาไว้ ในมาตรา 49 ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่นการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ และได้กล่าวไว้ในมาตรา 80 ว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ใน (3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปัจจุบันนั้น มีสถาบันการศึกษาในกำกับ 13 แห่ง ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบราชการหรือไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยทักษิณ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (เดิมอยู่ในระบบราชการ ก่อนออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2541) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยมหิดล (ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นอันบังคับใช้แล้ว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)  มหาวิทยาลัยบูรพา

ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบดังนี้ ข้อดี คือ  เพื่อเกิดความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยมากขึ้น  เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล  มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้  สวัสดิการของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเทียบเท่าเอกชน

ส่วน ข้อเสีย คือ  ค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยทางอ้อม  คณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการเปิดสอน อาจจะต้องปิดตัวลง  การบริหารงานของฝ่ายบริหารอาจจะไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก  เนื้อหาของร่าง พรบ. มีลักษณะเป็นกฎหมายบริหารจัดการทรัพย์สินที่ดิน ไม่ได้เป็นการบริหารจัดการการศึกษาแต่อย่างใด

            รัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการศึกษาและเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบอย่างถี่ถ้วน และควรมีมาตรการรองรับในด้านการศึกษาอย่างชัดเจน และการพัฒนาการศึกษาให้แก่ประชาชนในประเทศอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกระดับ

 

 

เอกสารอ้างอิง

http://th.wikipedia.org/wiki/สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล - 108k

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม . [email protected].

หมายเลขบันทึก: 231665เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเรียนรู้ค่ะ  ระบบการศึกษาไทยจะก้าวไกลหาก สามารถก้าวออกจากระบบเดิม การทำงานแบบเดิม

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท