สุวรรณจักรกุมาร


สำนวนวัดบ้านท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

        พระยาชมพูเอกราช  เป็นกษัตริย์ครองเมืองเชตุพน  มีพระมเหสีทรงพระนามว่า  สุวรรณภุมมาราชเทวี   ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอย่างสุขสงบ  มีโอรส   พระองค์  ได้แก่  นิลลกุมาร  พินทกุมาร  และสุวรรณจักรกุมาร  ก่อนที่จะได้จุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในเมืองมนุษย์นั้น  สุวรรณจักรกุมารเป็นเทวดาอยู่สวรรค์  พระอินทร์ได้อาราธนาให้จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อสร้างบารมีและโปรดสัตว์โลก  ในครั้งนั้นบรรดาเทวดาและนางฟ้าจุติลงมาเกิดเพื่อเป็นบริวารจำนวนมาก

                            เมื่อสุวรรณจักรกุมารเติบใหญ่อายุได้   ปี   ก็ได้สั่งสอนหลักธรรมการปฏิบัติตนแก่ท้าวพระยาเมืองขึ้นทั้งหลาย  ท้าวพระยาเหล่านั้นก็ยกย่องและนับถือสุวรรณจักรกุมารยิ่งนัก  เมื่ออายุครบ  ๑๖  ปี  พระบิดาจะหาราชธิดาเจ้าเมืองขึ้นทั้งหลายมาให้เลือกเป็นชายาแต่สุวรรณจักรกุมารคิดว่า  หากรับราชธิดาเมืองใดเมืองหนึ่งแล้ว  เมืองอื่น ๆ จะน้อยใจที่ไม่เลือกราชธิดาตนเองพลอยทำให้เกิดความบาดหมางกันเสียเปล่า  จึงคิดจะหาชายาที่เป็นคนแคว้นอื่นแทน

                            กล่าวถึงพระยาวัวอุสุภราช  อันพำนักที่เชิงภูเขาพระสุเมรุในป่าหิมพานต์มีบริวารจำนวน  แปดหมื่นตัว  พระยาวัวอุสุภราชเป็นวัวขนาดใหญ่มีกายสีขาวเป็นวัวที่มีตบะและศีลธรรม  บรรดาเทวดามักจะมาขอฟังธรรมเทศนาเป็นประจำ  กาลครั้งหนึ่งพระยาวัวคิดอยากจะเข้าไปดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในเมืองจึงคัดเลือก  เอาบริวารที่แข็งแรงมีกำลังมากกว่าวัวธรรมดาถึงสี่พันเท่า  จำนวน   ตัว   เข้าสู่เมืองราชคฤห์โดยมีเทวดาปิดบังร่างพระยาวัวและบริวารเพื่อไม่ให้มนุษย์เห็นด้วยเกรงว่าจะเกิดการตื่นตระหนกและทำร้ายพระยาวัว

                            เมื่อพระยาวัวและบริวารเข้าสู่เมืองราชคฤห์ได้ดูความเป็นอยู่ของคนแล้ว  เทวดาที่รักษาพระยาวัวจึงเผยให้คนเห็นรอยเท้าของพระยาวัว  ชาวเมืองเห็นรอยเท้าดังนั้นก็ใคร่อยากเห็นตัวของพระยาวัวเทวดาจึงเผยร่างพระยาวัวให้ชาวเมืองเห็นครู่หนึ่งแล้วปิดบังเสีย  จากนั้นพระยาวัวและบริวารจึงออกจากเมืองไปจนถึงสวนมะม่วงท้ายเมืองแล้วจึงเคี้ยวกินผลมะม่วงสุกที่อยู่ต้นน้ำในสวนนางเขมาวดี  ส่วนนางเขมาวดีก็อาบน้ำอยู่ที่ท้ายน้ำในสวนตนเอง  มะม่วงสุกผลหนึ่งเผอิญหลุดจากปากพระยาวัวลอยตามน้ำลงมาจนถึงบริเวณที่นางเขมาวดีอาบน้ำนางจึงคว้าเอามารับประทาน 

                            ต่อมานางเกิดตั้งครรภ์เพราะอำนาจของผลมะม่วงที่หลุดจากปากพระยาวัวและให้กำเนิดบุตรสาวผู้หนึ่งตั้งชื่อว่านางอุมมาทนิต  เมื่อนางอุมทนิตเติบใหญ่ก็เข้าไปเล่นกับชาวเมืองและล่วงรู้ว่าบิดาตนเป็นวัวจึงขออนุญาตแม่ไปหาพ่อบิดาในป่าหิมพานต์จนพบแล้วอยู่ดูแลปรณนิบัติบิดาและวัวทั้งหลายในฝูงด้วยการชำระล้างที่อยู่ให้สะอาดทุกวันและตกแต่งที่อยู่ได้ดอกไม้ของหอมส่วนตนเองนั้นขึ้นไปอยู่บนยอดเสาแก้วที่เทวดาเนรมิตให้  วัวทุกตัวซาบซึ้งในน้ำใจของนางจึงยอมถอดเขาออกเพื่อสร้างเป็นปราสาทให้นางอยู่  โดยพระอินทร์เป็นผู้นำเขาวัวไปสร้างเป็นปราสาทเรียกว่า  ปราสาทเขาคำ

                            กล่าวถึงสุวรรณจักรกุมารได้ขออนุญาตจากพระบิดาไปเที่ยวป่าหิมพานต์แล้ว  จึงนำเหล่าทหารเข้าไปล่ากวางในป่าหิมพานต์  ต่อมามีเทวดาตนหนึ่งแปลงกายเป็นกวางทองมาหลอกล่อให้พลัดหลงจากเหล่าทหารแล้วเข้ามาสู่ปราสาทเขาคำ  สุวรรณจักรกุมาได้พบกับนางอุมมาทนิตและได้สนทนาจนถูกอกถูกใจกันจึงอยู่ร่วมกัน  สุวรรณจักรกุมารอยู่ในป่าได้   เดือน  จึงชวนนางอุมมาทนิตออกจากป่าพระอินทร์จึงเนรมิตให้ปราสาทเขาคำลอยไปตั้งที่หน้าเมืองเชตุพน  พระอินทร์ได้นำพระยาชมพูเอกราชเข้าไปในปราสาทเขาคำเพื่อพบกับสุวรรณจักรกุมาร  พระยาชมพูเอกราชดีใจมากที่สุวรรณจักรกุมารกลับมาอย่างปลอดภัยจึงยกบ้านเมืองให้ครองแทนตนเองแล้วเฉลิมพระนามว่า  พระยาสุวรรณจักรเอกราช

                            พระยาสุวรรณจักรเอกราชได้เฉือนเอาเนื้อเลือดและควักดวงตาให้ทานแก่ผู้มาขอเพื่อหวังผลทานนำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารในภายหน้า  ด้วยผลบุญจึงทำให้มีรูปโฉมที่งดงามยิ่งกว่าเดิมและมีดวงตาที่สามารถมองเห็นได้ไกลพันโยชน์  พระยาสุวรรณจักรเอกราชมีราชโอรสและราชธิดา   พระองค์  คือ  สุวรรณคันธะกุมารและนางสาขานีกุมารี  เมื่อถึงกาลสมควรแล้วจึงสละราชสมบัติให้

สุวรรณคันธะกุมารแล้วอบรมสั่งสอนด้วยหลักธรรมต่าง ๆ มากมาย  จากนั้นพระยาสุวรรณจักรเอกราชและพระนางเขมาวดีก็ผนวชเป็นฤาษี  บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ตามโบราณราชประเพณี จวบจนสิ้นอายุขัยก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์

                            ฝ่ายพระยาสุวรรณคันธะปกครองบ้านเมืองสืบต่อจากพระยาสุวรรณจักรเอกราช  เมื่อถึงกาลอันควรแล้วก็สละราชสมบัติให้โอรสสืบราชบัลลังก์แล้วเข้าป่าผนวชเป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรเช่นกันกับพระยาสุวรรณจักรเอกราชจวบจนสิ้นอายุขัยจึงได้ไปเกิดบนสวรรค์เช่นกัน

สุวรรณจักรกุมารสำนวนวัดบ้านท่าตูมได้คัดลอกจากเมื่อ พุทธศักราช  ๒๔๔๙  ปีมะเมีย  อัฏฐศก  จุลศักราช  ๑๒๖๘   รัตนโกสินทร์ศักราช  ๑๒๕  

คำสำคัญ (Tags): #วรรณกรรมอีสาน
หมายเลขบันทึก: 231203เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นางชุมภูนุษย์ ธรรมวัติ

ขอบคุณมากนะคะ ขออนุญาตนำมาสอนนักเรียนนะคะ เพื่อเพิ่มความรู้

ยินดีครับ

เล่าให้ฟังหน่อยนะครับว่าเป็นอย่างไรบ้างครับเมื่อสอนแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท