ฝันถึง"โรงเรียนที่มีชีวิต"ในบ้านเรา


ตีพิมพ์ในวารสาร "สานปฎิรูป" ปีที่ 6 ฉบับที่ 70 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 80-81
      ไปดูงานการศึกษาที่กรุงปักกิ่งเที่ยวนี้ ทำให้ผมเกิดความข้องใจว่า ทำไมคุณภาพการศึกษาของบ้านเราจึงยังไม่ค่อยไปถึงไหน ทั้งๆที่เรามีนักการศึกษาที่เก่งๆ จบด๊อกเตอร์จากเมืองนอก ไปดูงานการศึกษามาทั่วโลก เทคนิค นวัตกรรมทางการศึกษาอะไรที่ดีจากประเทศต่างๆที่พัฒนาแล้วเราก็สรรหามาใช้กันจนหมด ผู้บริหาร ครูอาจารย์ของเราก็มีวุฒิไม่น้อยกว่าปริญญาตรี มีจบปริญญาโท ปริญญาเอกก็มากมาย ที่สำคัญคือเรามีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ก้าวหน้าไว้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาด้วย
        เมื่อดูระบบบริหารการศึกษาตลอดจนเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศจีนก็พบว่า ไม่ต่างจากของเรามากเลย หลายเรื่องเราก้าวหน้ากว่าเขาเสียด้วยซ้ำ แต่ทำไมเขาจึงพัฒนาการศึกษาดูเป็นรูปธรรมกว่าของเรา
      ผมถาม รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เป็นหัวหน้าคณะศึกษาดูงาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีน ท่านตอบสั้นๆว่า
                    “เหมือนคนทำกับลิงทำนั่นแหละ”     ผมก็ยังงง ท่านจึงขยายความว่า
      “เมื่อจีนรับนวัตกรรมใดเข้ามา เขารู้จักประยุกต์ให้สอดคล้องกับของเขา ของเดิมที่ดีเขาก็รักษาไว้ และทำอย่างเอาจริงเอาจังอย่างคนทำ ที่สำคัญคือเขามีวินัย แต่ของเราตั้งท่าวางฟอร์มดี พอถึงเวลาทำกลับทำเล่นๆ จับจด ไม่จริงจัง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนลิงทำ เราจะเก่งแต่การทำด้านกายภาพ เอาแต่สร้างภาพ อวดว่าตัวเองทันสมัย แต่ข้างในกลวง”  ผมจึงถึงบางอ้อ
      ผมได้ไปดูโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาที่กรุงปักกิ่งมาสองแห่ง ดูช่างเป็นโรงเรียนที่มีชีวิตจริงๆ ดูด้านกายภาพของโรงเรียนเขาก็ธรรมดาๆ เขาเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยมากกว่า แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากคือการทำหน้าที่ของสถานศึกษาที่มุ่งสอนคนลงไปถึงหัวจิตหัวใจ ไม่ใช่เพียงแค่เปลือกนอก เริ่มจากการกำหนดปรัชญาการจัดการศึกษาที่เขาถือว่าเป็นศูนย์รวมของจิตใจทุกคน เขาก็กำหนดสั้นๆแต่กินใจ มีคนแปลให้ฟังว่า
                       “เอาใจรักของครูสู่หัวใจของเด็ก”

      ครูทุกคนจะต้องมีอุดมการณ์นี้ในหัวใจ เขาจะติดปรัชญานี้ไว้ทุกหนแห่ง มีรูปปั้นของครูที่แสดงความเอื้ออาทรต่อนักเรียนไว้เตือนใจ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าครูมีใจที่รักและดูแลนักเรียน อะไรๆก็ดีเอง ไม่ต้องมีนโยบายที่ยืดยาวจนลานตาเหมือนของเรา

       อีกโรงเรียนหนึ่งเขามีปรัชญาที่เขียนเป็นวลี 3 วลี แปลความเป็นภาษาไทยและอังกฤษได้ว่า
          “มีหัวใจและจิตใจเป็นหนึ่ง (Be of one heart and one mind)
           มีความระมัดระวังและรอบคอบ (Be cautious and conscientious)
           ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและสร้างสรรค์ (Be realistic and creative)”

       การปฏิบัติตนของครูที่นั่นก็เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ จะมีระบบการกวดขันด้านจรรยาบรรณความประพฤติ โรงเรียนจะมีการประเมินคุณภาพครูของเขาทุกปี จนเกิดเป็นวินัยในตนเอง ซึ่งก็ดูเขาไม่เครียดกัน ขณะเดียวกันก็มีระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูง จึงทำให้วิชาชีพครูของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง

     แทบทุกอณูในโรงเรียนที่ผมไปดูจะเป็น แหล่งเรียนรู้ ที่มีความหมาย ไม่ได้ทำไว้เพื่อเป็นสิ่งประดับ เช่น ตามกำแพงจะมีรูปแกะสลักเรื่องราวของคนที่ทำความดี รูปบุคคลสำคัญในสาขาต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ เรื่องราวในวรรณคดี เรื่องราวในบทเรียน เป็นต้น เขาจะใช้รูปเหล่านั้นเป็นสื่อให้เด็กไปค้นคว้าแล้วนำมาเล่าพูดคุยกัน เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่นๆที่มีความหมายอีกมากมาย

    การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านก็ไม่ได้ทำกับนักเรียนเท่านั้น ครูก็ต้องมีนิสัยรักการอ่านด้วย เขามีห้องสมุดทั้งของครูและนักเรียนให้ค้นคว้า กิจกรรมต่างๆในโรงเรียนก็ทำอย่างจริงจังและทำอย่างมีชีวิต การแสดงออกของนักเรียนด้านขับร้องและดนตรีไม่ว่าจะเป็นลีลาท่าทาง สายตา และเสียงที่เปล่งออกมา ล้วนบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นในตนเองที่ยอดเยี่ยม

       ครูของเขาจะเคารพกติกา รู้บทบาทหน้าที่ ทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ มีความสุขกับผลสำเร็จของงาน งานหลักของครูคือการสอนและการทำสื่ออุปกรณ์เพื่อการเรียนการสอนของตนเอง ไม่มีงานอื่นล้นมือเหมือนครูไทย นอกจากนั้นเขาจะช่วยกันดูแลโรงเรียนให้สะอาด ร่มรื่น โดยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

     หน่วยงานกลางทางการศึกษาของเขาเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้สถานศึกษาแล้วเขาก็จะไม่มายุ่งในรายละเอียด แต่จะคอยสนับสนุนติดตามดูผลและชื่นชมในความสำเร็จ หันมามองการจัดการศึกษาบ้านเราบ้าง แม้จะปฏิรูปการศึกษาปรับโครงสร้างให้เล็กลง และชูนโยบายกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติที่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็ยังไม่วายที่จะมีใบสั่ง นโยบายเฉพาะกิจและแนวปฏิบัติที่หยุมหยิมส่งมาให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการและรายงานมิได้ขาด ดูช่างห่วงใยผู้ปฏิบัติเสียเหลือล้น แต่งบประมาณกลับตกหล่นระหว่างทาง ไปไม่ค่อยถึงโรงเรียน ถ้าผู้บริหารโรงเรียนคนใดจัดกระบวนทัพไม่เป็น คอยวิ่งตามกระแสนโยบายเฉพาะกิจเพื่อรักษาสถานภาพของตนไม่ให้เดือดร้อน ก็จะพลอยให้ครูต้องทำงานหัวไม่วางหางไม่เว้นกันทั้งโรงเรียน ครูเก่ง ครูดีที่ตั้งใจสอนเด็ก ก็จะถูกดึงออกจากห้องสอนมาทำงานโครงการสนองนโยบายเฉพาะกิจที่มาจากหน่วยเหนือ ครูเลยไม่แน่ใจว่างานหลักของตนคืออะไร

       ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งมีนักเรียน 100 กว่าคน มีครู 8 คน พอกระทรวงประกาศให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดแนวบริหารหลักสูตรให้มีการตั้งกรรมการชุดต่างๆในโรงเรียน ผู้บริหารก็ตั้งกรรมการบริหารงานวิชาการและอนุกรรมการตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มซึ่งชื่อกรรมการก็ซ้ำๆกันใน 8 คนนั่นแหละ แล้วก็ทำหลักสูตรกันตามแนวทางและรูปแบบที่ทางกรมวิชาการทำตัวอย่างไว้ให้ ก็สามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จนได้เอกสารครบถ้วนตามที่กระทรวงกำหนด ก็พอดีถึงเวลาเปิดภาคเรียน จึงยังไม่ได้ทำแผนการจัดการเรียนรู้(แผนการสอน)เพราะหมดแรงเสียก่อน ในที่สุดก็ยังคงสอนเหมือนเดิมที่เคยสอน แต่มีเอกสารหลักสูตรพอจะอวดใครได้ว่าไม่ล้าหลัง

    ผมเห็นแล้วก็อดขำไม่ได้ที่ผู้บริหารโรงเรียนช่างว่านอนสอนง่าย ซื่อสัตย์ต่อนโยบายจนไม่ได้ดูความเป็นจริงและแก่นแท้ของการจัดการศึกษา อาศัยที่คุ้นเคยกันจึงเสนอแนะให้ตั้งหลักใหม่ โดยเริ่มจากการดูสภาพปัญหาของโรงเรียนที่แท้จริง ซึ่งทราบว่าปัญหาใหญ่คือ นักเรียนอ่านหนังสือไม่ค่อยจะออกและคิดเลขไม่ค่อยจะเป็น จึงแนะนำว่าให้มุ่งเน้นสอนเรื่องนี้ให้จริงจังก่อน เมื่อฐานดีแล้วจึงค่อยขยับไปสู่รายละเอียดในกลุ่มสาระต่างๆอย่างครบถ้วนต่อไป ก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำตามหรือไม่ เพราะดูเขายังกังวลว่าเมื่อมีคนมาตรวจมาประเมินถ้าไม่มีเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนด เขาจะตำหนิว่าไม่สนองนโยบาย แล้วภัยจะมาถึงตัว

        มีตัวอย่างอีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นช่องว่างของการสื่อสารการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่ทำอย่างปูพรมและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง   ผมเองก็รู้สึกอึดอัดใจ ก็ได้แต่ฝันไปว่า สักวันถ้าผมได้เป็นผู้บริหารโรงเรียนสักแห่ง ผมอยากจะพัฒนาโรงเรียนของผมให้เป็น โรงเรียนที่มีชีวิต ไม่ใช่โรงเรียนที่ตายแล้ว(School is dead) เหมือนที่ Everett Reimer เคยเขียนไว้ ซึ่งผมได้ให้นิยามของคำว่าโรงเรียนที่มีชีวิตไว้ว่า น่าจะมีหน้าตา 6 ประการคือ 
       1.มีการทบทวนเป้าหมายการจัดการศึกษาให้มีความชัดเจน (จะเรียกว่าวิสัยทัศน์หรือปรัชญาหรือเป้าหมายก็ได้เลือกเอาเสียอย่างอย่าให้เปรอะ) อาจจะคล้ายกับโรงเรียนในปักกิ่งที่ผมไปดูงานมา หรือพิจารณากันตามที่เห็นสมควร แต่ต้องเป็นข้อความที่สั้น มีความหมายที่กินใจ มองเห็นภาพอนาคตที่แจ่มชัด ซึ่งมุ่งสานใยรักของครูสู่ศิษย์ ประเด็นสำคัญคือต้องให้ทุกคน(รวมทั้งกรรมการสถานศึกษาและชุมชน)มาช่วยกันคิดช่วยกันฝัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของความคิดร่วมกันจนตกลงปลงใจกันว่า “นี่แหละใช่เลย”  โดยผมมีความเชื่อว่า ถ้าเราสามารถรวมใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีจุดหมายเป็นหนึ่งเดียว แล้วปักธงไว้ สร้างบรรยากาศจูงใจให้ทุกคนมุ่งมั่นพยายามไปสู่ธงนั้นร่วมกัน  ย่อมมีพลังฟันฝ่าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง แม้จะเสียเวลาบ้างก็ต้องยอม เพราะเรื่องนี้มีความลึกซึ้งและมีพลานุภาพที่สูงมาก
      2.มีการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวม ที่ไม่แยกส่วน มีความยืดหยุ่น แต่มีประสิทธิภาพ โดยใช้มาตรฐานคุณภาพและตัวชี้วัดคุณภาพในระบบประกันคุณภาพภายในเป็นแกนหลัก ซึ่งปรับให้สอดรับกับเป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียน มีการวางแผนพัฒนาที่สอดรับกัน บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง บุคลากรทุกคนจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามมาตรฐานดังกล่าว โดยแต่ละคนจะมีมาตรฐานการปฏิบัติงานของตนเอง เพื่อประกันคุณภาพการทำงานของตนและฝึกฝนความมีวินัย งานทุกอย่างตามนโยบายไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตร หรือโครงการ กิจกรรมใดใด ก็จะต้องจัดเข้ากลุ่มมาตรฐานคุณภาพทั้งหมด การบริหารงานจึงไม่กระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก
    3.มีกติการ่วมกันว่าจะทำอะไรก็ตามจะต้องทำให้เป็นชีวิตจริง  เราจะไม่ทำเพื่อสร้างภาพ หรือทำอะไรที่เยิ่นเย้อ แต่จะมุ่งประโยชน์ตามเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยจะมีกรอบแนวคิดหลักร่วมกัน แล้วเปิดโอกาสให้แต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานในรายละเอียดเอง ตามสภาพปัจจัยความพร้อมที่มีอยู่ โดยรักษาวินัย ภายใต้หลักการ “เขียนในสิ่งที่จะทำจริง ทำในสิ่งที่เขียนจริง และมีการปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง” โดยเชื่อว่าถ้าทุกคนปฏิบัติเช่นนี้ ก็คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือวิจัยและพัฒนาตามวงจร PDCAในชีวิตจริงนั่นเอง โดยจะเริ่มใช้หลักการนี้ในเรื่อง การจัดทำแผนกลยุทธ์ของโรงเรียน และ การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้(แผนการสอน)ของครูแต่ละคนเป็นเบื้องต้นก่อน
   4.มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกรอบให้ครูทุกคนถือเป็นภารกิจหลักที่จะบูรณาการความเป็นวิชาชีพครูไว้ในเรื่องนี้ โดยจัดให้ครูแต่ละคนรับผิดชอบดูแลนักเรียนตามจำนวนที่เหมาะสม โดยครูแต่ละคนต้องหาวิธีรู้จักเด็กที่รับผิดชอบเป็นรายบุคคลอย่างดี และมีใจช่วยเหลือเขาตามข้อมูลและสภาพของปัญหาที่พบ ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเรียนด้วยความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรต่อเขาอย่างจริงใจ
   5. จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาทุกอณูให้เป็นแหล่งความรู้และมีความหมาย ให้เป็นครูที่พูดไม่ได้ แล้วใช้เป็นสื่อการสอนในทุกโอกาส ที่ไม่เน้นความหรูหราโอ่อ่าด้านกายภาพ แต่มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม และเกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ที่มาจากการมีส่วนร่วมจัดตกแต่ง และดูแลรักษาของทุกคน
  6.มีระบบการพัฒนาครู ดูแลการทำงานและดูแลด้านสวัสดิการครูที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยการพัฒนาครูจะต้องรู้สาเหตุของปัญหาซึ่งเริ่มจากทำอย่างไรให้ครูมีความรู้ที่แน่นในกลุ่มสาระที่ตนเองสอนเสียก่อน ถ้าเขาขาดความมั่นใจในเนื้อหาสาระเรื่องใด ก็หาวิธีเพิ่มพูนให้เขาอย่างเหมาะสม เพราะผมเชื่อว่า “ ถ้าครูแน่นในเนื้อหา ลีลาและความมั่นใจในการสอนก็จะมาเอง”ซึ่งเรื่องลีลาและวิธีสอนนั้นเป็นความต้องการจำเป็นลำดับถัดไปที่จะต้องพัฒนาเช่นกันนอกจากนี้ยังต้องพยายามให้ครูได้ทำหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่คือ  “การสอน” ไม่ใช่  “ งานธุรการหรืองาน บริการ” เพราะเชื่อว่าถ้าเราลดความเปรอะในการบริหารภายในโรงเรียน หรือส่วนกลางลดความหยุมหยิมในนโยบายเฉพาะกิจลงไป โดยกระจายอำนาจให้สถานศึกษาอย่างแท้จริง เราก็สามารถบริหารจัดการให้ครูทำหน้าที่ตามวิชาชีพของตนเองได้ และงบประมาณที่มีหรือที่ได้รับจัดสรรมา เราก็จะพยายามใช้เพื่อดูแลการจัดการศึกษาและดูแลด้านสวัสดิการของครูอย่างเต็มที่
        ความฝันของผมจะเป็นจริงไปไม่ได้ถ้าไม่มี เงื่อนไขความสำเร็จต่อไปนี้เกิดขึ้น กล่าวคือ ส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้สถานศึกษาอย่างแท้จริง ให้ผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ได้ใช้ความชำนาญการและประสบการณ์ของเขาอย่างมีอิสระเต็มที่ ส่วนกลางจะมีแต่กรอบนโยบาย มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ และสนับสนุนส่งเสริมด้านทรัพยากรเพื่อการทำงานและเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรให้ถึงโรงเรียนโดยตรงอย่างเพียงพอ โดยจะต้องไม่เข้าไปยุ่งในรายละเอียดและห่วงใยไปทุกเรื่อง แต่จะคอยติดตามดูผลลัพธ์ของการปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อชื่นชมความสำเร็จและกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงพัฒนา ไม่ใช่เพื่อจับผิด โดยไม่ตรวจกันถี่ยิบและไปกันหลายคณะจนโรงเรียนรู้สึกว่าขาดอิสรภาพในการทำงาน และโรงเรียนก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ มีข้อมูลการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพที่ต่อเนื่องและชัดเจน ไม่ใช่ถือว่า  “โรงเรียนข้าใครอย่าแตะ”
      นอกจากนี้ส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องชลอวิสัยทัศน์ที่พุ่งกระฉูดให้ลดลงบ้าง ถึงจะมีความเป็นสากลแต่ก็ต้องหันกลับไปดูครูโบราณที่พร่ำสอนเรามา ทำให้เราคิดเลขเก่ง อ่านหนังสือแตกฉาน แน่นในความรู้ อบรมพร่ำสอนด้านคุณธรรมจริยธรรม และประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้เราซึมซับจนเป็นนิสัย เมื่อเราเติบใหญ่จึงมีภูมิคุ้มกันมาจนทุกวันนี้ ถึงอย่างไรก็ตามการสอนที่เน้นเนื้อหายังมีความสำคัญ แม้แต่นักการศึกษาที่ชื่อบลูม (Bloom) ยังกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผล เฉพาะในด้านพุทธิพิสัย(Cognitive Domain) ไว้ว่า ต้องมี 6 ลำดับขั้นตอนคือ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า จะเห็นได้ว่า ความจำในเนื้อหาเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การเรียนรู้ขั้นสูงขึ้น เพราะถ้านักเรียนไม่แน่นในเนื้อหาความรู้ จะมีลีลาในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าได้อย่างไร ก็จะใช้แต่สามัญสำนึกหรือเรียนรู้อย่างเป็ดเท่านั้น เพียงแต่ว่าอย่าสอนแค่ให้จำในเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น ต้องพัฒนาความรู้ของเขาให้สูงขึ้นด้วย

ใครจะช่วยสร้างเงื่อนไขความสำเร็จและดลบันดาลให้ฝันของผมเป็นจริงได้บ้างหนอ.

------------------------------------------------------------
                               ธเนศ ขำเกิด   [email protected]
หมายเลขบันทึก: 23118เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขจิต ฝอยทอง( khajit's blog)
  • การศึกษาบ้านเรา ผู้บริหารตามคำสั่งนักการเมืองมากเกินไป หลายคนไร้วิสัยทัศน์ในด้านการศึกษา
  • ครูที่ตั้งใจจริงเลยไปอยู่มหาวิทยาลัยกันหมด เพราะโรงเรียนมี กฏ ระเบียบ งานตามสั่งของกระทรวงมากเกิน
  • ที่เบื่อๆก็ลาออกไปเลย(ผมเป็นต้น) จะคิดทำอะไรใหม่ที่ประโยน์ต่อนักเรียน ผู้บริหารไม่อนุญาต มีแต่ห่วงเรื่องการเงิน ไม่พัฒนาทางด้านวิชาการ
  • สำนักงานเขตต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยมากกว่าที่จะตรวจสอบครูอย่างเดียว
  • ผมหวังว่าการนำความคิดของ Bloomมาใช้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียน อยากเห็นครูที่จัดการสอนที่ทำให้นักเรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม
  • ผมหวังมากเกินไปหรือเปล่าครับ

    ขอให้ความฝันของอาจารย์เป็นจริงเร็วๆนะครับ  ผมว่าคนไทยโชคร้ายที่สบายมานาน  ถ้าได้ธรรมชาติที่โหดๆช่วยเป็นครูอย่างญี่ปุ่น  อะไรๆก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่อีกเยอะ  เรื่องฝันๆ เพ้อๆจะลดลงอีกมากที่เดียว

บทความข้างต้นนี้ ครูไทยทุกๆ ท่านน่าจะได้มีโอกาสได้อ่าน นะครับ.. และอีกประการ สถาบันที่ผลิตครู ในรุ่นต่ิอๆ ไป ก็น่าจะให้ นักศึกษาของท่านได้อ่านบทความนี้ด้วย..

ความเป็นจริงในสังคมไทยเราวันนี้ คนเรียนจบสายครู แต่ไม่มีวิญญาณความเป็นครูก็มีอยู่ ที่มีวิญญาณความเป็นครูอยูู่เพียบพร้อมก็ขาดเวทีในการแสดงออก ตามโรงเรียน ครูยังคงขาดแคลนอยู่อีกมาก แต่ไม่มีตำแหน่งที่จะเปิดรับ เพราะขาดงบประมาณที่จะเอามาจัดจ้าง รายได้ก็แค่เดือนชนเดือนจะเหลือเก็บก็แสนยาก.. ใจต้องมาก่อนเสมอ..

เห็นด้วยกับบทความของอาจารย์ค่ะ
แต่อีกแรงหนึ่งที่จะร่วมสร้างโรงเรียนมีชีวิต
แม้จะเป็นแรงน้อยๆ แต่ก็จะพยายามค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท