นักเรียนเป็นศูนย์กลาง


นักเรียน

นักเรียนเป็นศูนย์กลาง  ความเข้าใจผิดที่ต้องแก้ไข
 



                              รองศาสตร์ตราจารย์  ดร. สุมณฑา  พรหมบุญ  อธิการบดีมหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ
 

                    ข้าพเจ้าได้มีโอกาศพบครูในหลายโรงเรียน ทั้งในเมือง และในชนบทห่างไกล และพบว่า ในขณะนี้ครูหลายคนเข้าใจผิดเรื่องการศึกษาที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ที่น่าเป็นห่วงคือ เป็นความเข้าใจผิดที่ค่อนข้างจะแพร่หลาย ไม่เฉพาะในหมู่ครู แต่ผู้ให้การอบรมครูก็อาจจะเข้าใจผิดด้วย คือเข้าใจว่าการสอนทุกเรื่องจะต้องให้นักเรียนทำกิจกรรม เพื่อค้นหาคำตอบ หรือความรู้ด้วยตนเอง ครูหลายคนก็กังวลว่า หลายเรื่องไม่รู้จะสอนอย่างไร จึงจะเรียกว่า นักเรียนเป็นศูนย์กลาง

               เพื่อให้ความเข้าใจผิดดังกล่าวไม่แพร่หลายไปมากกว่านี้ ขออัญเชิญตอนหนึ่งของพระราชดำรัสของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 ณ จังหวัดสงขลา ซึ่งทรงนิยามเรื่องนี้ไว้อย่างกระชับ และชัดเจนว่าแนวโน้มการศึกษาในทศวรรษหน้าอีกอย่างหนึ่งที่มักจะได้ยินฟัง กันอยู่ทุกวัน คือการศึกษาที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ใน 2-3 วันนี้ ไปที่ไหน ทุกคนก็พูดให้ฟังถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้อธิบายอะไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ไปอบรมด้วย ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องแต่งเอาเอง เข้าใจว่า วิธีการส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ให้นักเรียนหรือ เด็กเป็นศูนย์กลางนี้ เป็นสิ่งที่สอนกันมานานแล้ว

              ตอนที่ข้าพเจ้าเด็ก ๆ ก็เคยได้รับการศึกษาแบบนี้ คือ ครูเอาใจใส่ส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ ด้วยการใส่ สุ จิ  ปุ ลิ และการศึกษา 4 อย่างนี้แหละ (คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา) สถานศึกษาเดี๋ยวนี้ที่ใช้อยู่ก็มีแต่ปัจจุบันสถานศึกษาของเรามีเด็กมาก การศึกษาที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางคงทำลำบากขึ้น ที่สำคัญและควรเน้นกันคือ ต้องส่งเสริมนักเรียนเรื่องการค้นคว้าหาความรู้ (คัดจากหนังสือเรื่องรัตนพินิจ นิทิศการศึกษา รวมปาฐกถาด้านการศึกษาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พ.ศ.2542หน้า100)
               
               พระองค์พระราชทานอรรถาอธิบาย สุ จิ ปุ ลิ และการศึกษา 4 อย่างสรุปได้ดังนี้

               สุ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาจากการฟัง ตีความว่า การฟังคือ การรับสาร หรือสาระทั้งปวงจากสื่อต่าง ๆ มิใช่แต่เฉพาะการฟังทางหูอย่างเดียว

               จิ คือ จินตามยปัญญา ปัญญาจากการคิด คือรู้จักไตร่ตรองหัดใช้เหตุผลวิเคราะห์ช่วยให้เกิดจินตนาการและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ "สุ" มาก่อน จึงจะมี "จิ" ทำให้รู้ว่า "สุ" ไหนถูก "สุ" ไหนผิดด้วย

               ปุ คือ ปุจฉา แปลว่า ถาม จาก สุ และ จิ ต้องมีความปรารถนาคำตอบเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้มีปัญหางงอกเงยยิ่ง ๆขึ้นแนวโน้มทศวรรษหน้า "ปุ" เป็นเรื่องสำคัญ

               ลิ คือ ลิขิต จดบันทึก ต่อมาคำว่า "จด" ก็ขยายเป็นการพิมพ์ การทำฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ (ข้าพเจ้าสรุปเอาเองเพิ่มเติมว่า การจดบันทึก เป็นเครื่องช่วยจำที่สามารถนำไปรวบรวมศึกษา วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ให้เป็นผลงานที่มีประโยชน์ และยังเป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ด้วย)

               ส่วนการศึกษา 4 อย่าง นั้น พระองค์ตรัสเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกด้าน ดังนี้

               พุทธิศึกษา เป็นการศึกษาเนื้อหาความรู้วิชาการที่มีหลายสาขา แต่ละสาขามีวิธีการ สุ จิ ปุ ลิ ต่าง ๆ กันวิทยาการปัจจุบันมีมากมาย จึงทรงแนะว่าให้รู้จริงรู้ลึกเสียอย่างหนึ่ง และรู้พอสมควรหรือรู้รอบอีกหลาย ๆ อย่าง ข้อสำคัญ คือต้องสามารถโยงความรู้เข้าด้วยกันหรือหาว่าความรู้นั้นอยู่ที่ไหน แล้วดึงมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้

               จริยศึกษา คือการสอนใให้มีคุณธรรม คุณธรรมนั้นไม่ใช่เน้นหนักที่ท่องจำ คุณธรรมทางศาสนาที่สำคัญคือการปลูกฝังคุณธรรมในชีวิตประจำวันด้วยการปฏิบัติ

               พลศึกษา รวมถึง สุขศึกษา สุขาภิบาล ความสะอาด การกินที่ถูกต้องตามสุขบัญญัติ การเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเกมกีฬา การงานต่าง ๆ เช่น ถูเรือน ทำสวน ก็นับเป็นพลศึกษาได้ การหัดพลศึกษาก็ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แพงเสมอไป ต้องดูแลทางจิตใจด้วย กายกับจิต ต้องพัฒนาคู่กันไป

               หัตถศึกษา คือ ความสามารถใช้มือประดิษฐ์งานหัตถกรรมหรือผลิตงานชิ้นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับมือก็จะดีช่วยให้มีใจรักศิลปะ มีความเยือกเย็น มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดีต่องาน และเห็นคุณค่าของการทำงาน โดยไม่รังเกียจว่าเป็นงานหนักหรืองานเบา

               ข้าพเจ้าเห็นว่า ที่พระองค์ทรงบรรยายไว้ เป็นสิ่งที่นักการศึกษาไทยทุกคนควรจดจำ และยึดถือเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือการศึกษาที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางควรมุ่ง สุ จิ ปุ ลิ และการศึกษา 4 ด้าน โดยวิธีการที่แตกต่างกันตามเนื้อหาวิชา สถานการณ์และระดับการศึกษา หากแต่ทุกวิธีจะต้องเล็งที่ เป้าหมาย คือ การช่วยให้เด็กสนใจค้นคว้าเพิ่มเติม แก้ปัญหาเก่ง รักการทำงานมีสุขภาพกายและใจที่ดี และเป็นคนดีของครอบครัว และสังคม  ดังนั้นการที่ครูเข้าใจว่า นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หมายความว่า ต้องให้นักเรียนเรียนรู้ โดยการทำการหาคำตอบต่าง ๆด้วยตนเองในทุกเรื่อง และต้องจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ให้เด็กหันหน้าเข้าหากันเสมอไปนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปมากหลายกรณี เช่น การสอนเนื้อหาที่เข้าใจยาก อย่างคณิตศาสตร์ หรือการสอนทักษะใหม่ ๆ ครูต้องพยายามหาวิธีอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ หรือครูจะต้องลงมือแสดงทักษะนั้นให้เป็นตัวอย่างเสียก่อน การที่ครูต้องบอกต้องทำ จึงไม่ใช่การสอนที่ผิดทาง ความเข้าใจผิดนี้ อาจจะทำให้ครูละทิ้งการสอนที่ดี ๆ ที่เคยทำกันมาในอดีตไปเสียหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ครูและเกิดความเสียหายแก่เด็กเป็นอันมาก การทำกิจกรรมเป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้าใจว่า กิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ฝึก สุ จิ ปุ ลิ และให้การศึกษา 4ด้าน มิใช่สักแต่ทำกิจกรรม และไม่จำเป็นต้องคิดหากิจกรรมในทุกเรื่องเสมอไปด้วย
               ปัญหาหลักที่พบในปัจจุบัน คือ การที่ครูสอนด้วยวิธีการบอกเล่าอย่างเดียวแบบ ปูพรม ไปทั้งห้องเรียนที่มีนักเรียนรับได้เร็วช้าต่างกัน บางคนเข้าใจ บางคนไม่เข้าใจครูจึงต้องหาเทคนิควิธีที่จะช่วยคนเข้าใจช้า และส่งเสริมคนเข้าใจเร็ว มิให้เขาเบื่อหน่ายที่จะต้องเรียนในอัตราความเร็วเท่าคนที่ช้า ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ให้เด็กเก่งช่วยครูสอนเด็กอ่อน ให้เด็กเก่งทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม หรือกิจกรรมพิเศษในระหว่างที่ครูช่วยเหลือเด็กอ่อน
               การสอนที่ดี ต้องพยายามเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ตั้งคำถามให้เด็กคิด ฝึกให้เด็กตั้งคำถาม ฝึกสังเกต และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง สิ่งใดที่ชั่งได้ ตวงได้ วัดได้ นับได้ ก็ควรให้เด็กทำ เพื่อฝึกให้เป็นคนที่ละเอียดเที่ยงตรง ไม่คาดเดา การศึกษา 4 ด้านดังกล่าวมาแล้วไม่จำเป็นต้องฝึกทีละด้านเสมอไป แต่สามารถบูรณาการในการสอนแต่ละครั้ง หรือแต่ละเรื่องได้ และ สุ จิ ปุ ลิ ก็ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเท่ากัน หรือเรียงตามลำดับก่อนหลัง ตามนั้นทุกประการเสมอไป สรุปแล้ว คือครูต้องถามตัวเองเสมอว่า นักเรียนมีโอกาสฝึก สุ จิ ปุ ลิ หรือไม่และได้รับการศึกษาครบทั้ง 4 ด้านหรือไม่ สิ่งที่มักจะเข้าใจกันผิด ๆ อีกประการหนึ่ง คือ มักพูดกันว่าการท่องจำแบบนกแก้ว นกขุนทอง เป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงอาจเข้าใจกันว่าต่อไปนี้ ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องจำกันแล้ว ความจริงควรจะกล่าวคือการท่องจำที่นักเรียนไม่เข้าใจความหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าเข้าท่องจำเพียงเพื่อให้สอบได้โดยไม่เข้าใจสาระที่จะจำ การจด และจำยังคงเป็นสาระสำคัญ คือเป็น สุ และ ลิ แต่ถ้าจะให้นักเรียนฉลาดขึ้น ก็ต้องมี จิ และ ปุ ด้วย การท่องจำจึงมีประโยชน์มาก และนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้

               ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกฝ่ายปรารถนาดี อยากจะให้มีปฏิรูปการเรียนการสอน และอยากจะกระตุ้นครูให้ตื่นตัว แต่ในภาคปฏิบัติต้องอย่าทำให้ครูสับสน และระวังอย่าให้หลงทาง เพราะถ้ามัวแต่ยึดรูปแบบ ก็อาจทำให้ครูและเด็ก เอาแต่ทำกิจกรรม รักแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ที่ได้จากการทำกิจกรรม โดยไม่มีแก่นสาร หรือสาระอะไรลงท้าย ครูก็เหนื่อยเปล่า เด็กก็ไม่เก่ง ไม่ดี ไม่มีสุขยิ่งกว่าเก่า


หมายเลขบันทึก: 230721เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2008 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท