เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ : วันนี้ที่เงียบงันฉันคิดถึงเธอ


มันอาจจะดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระในบางครั้งที่พูดคำว่า “คิดถึง” บ่อยเกินไป

เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ : วันนี้ที่เงียบงันฉันคิดถึงเธอ

          หลังจากงานวันพ่อผ่านไปเพียงชั่วข้ามคืน รู้สึกว่าวันนี้ที่เมืองกรุงอันกว้างใหญ่แห่งนี้จะเงียบงันลงผิดปรกติ ไร้เสียงการสนทนาจอแจดังที่เคยมี ปราศจากเสียงของผู้นำการประท้วงเหมือนดังเคยที่เราชินเสียแล้ว เลยกลายเป็นว่าความเหงาและวังเวงเข้ามาแทนที่เสียได้แล้ว  คงจะพอประทังได้ก็แต่เพียงเสียงรถยนต์ที่ยังคงแว่วผ่านโสตประสาทอยู่เป็นระยะ

          เรานั่งเล่นอยู่ภายในบริเวณกระทรวงศึกษาธิการทั้งๆที่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ผู้คนก็คงพักผ่อนกันสบายอยู่บ้านเสียหมด  คงไว้แต่หน้าที่อันไม่เคยได้หยุดพักทั้งกลางวันและกลางคืนอย่าง “ผู้รักษาความปลอดภัย” ซึ่งตอนนี้ก็คงจะผ่อนคลายความตรึงเครียดลงได้บ้างกับความสงบของบ้านเมืองที่เป็นอยู่  และแล้ว ความคิดหนึ่งที่เราเคยประสบมาเป็นประจำก็บังเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ  ภาพของคนหลายคนที่เคยร่วมชตาชีวิตด้วยกันมาวิ่งพล่านเข้ามาในความรู้สึก ที่กำลังเลื่อนลอยไป จากกลุ่มบุคคลที่เข้ามารวมตัวกันโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุรู้ได้แต่เพียงว่าเรามาเพื่อที่จะทำ และสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นร่วมกันเท่านั้น

          จากความร่วมมือกลับกลายเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้น  กิน  นอน และทำหลายๆอย่างร่วมกันมาไม่กี่ครั้ง สามารถสร้างความประทับใจและความดึงดูดให้เราติดบ่วงแห่งความผูกพันได้อย่างดิ้นไม่หลุด ภาพของวันเก่าๆที่เราเคยสนุกสนานวิ่งเข้ามาในมโนสำนึกของความรู้สึกอย่างไม่ขาดสาย  ทำให้เราเองอดทนที่จะหวนคิดกลับไปถามตนเองไม่ได้ว่า “ครั้งแรกของพวกเราที่เจอกันคือที่ไหน?” มันเนิ่นนานมากพอหรือที่เราจะหลงลืมความก่อเกิดของเราได้  และคงจะหาคำตอบไม่ได้แน่สำหรับเวลานี้ว่า  ยาวนานแค่ไหนแล้วกับคำว่า “กลุ่มไหล” 

          ครั้งหนึ่งบอสสของเราเคยให้คำถามมาว่า “ทำไมต้องเป็นไหล?” คำถามนี้เราเองก็ยังคิดหาคำตอบมาจนทุกวันนี้เหมือนกัน  วาทกรรมของคำว่า “ไหล” ถ้าจำไม่ผิดน้องเราเองเป็นคนเสนอขึ้นมาท่ามกลางที่ประชุมเพียงห้า-หกคน วันนั้นในห้องประชุมเล็ก ที่เราได้พบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งที่สามหรือสี่ไม่แน่ใจ  ภายใต้การขับเคลื่อนของบอสสเองที่อยากจะให้เรามีกลุ่มเป็นทางการบ้าง หลังจากที่พวกเรากระโจนลงจากเวทีนักกิจกรรมแบบมีสังกัดมาร่วมวิถีแบบอิสระอย่างเต็มตัว  แต่ที่มานี้น่าจะมีต้นกำเนิดจากลักษณะส่วนตัวที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่มเราว่า “ทำอะไรก็ได้ เป็นอะไรก็ได้และเมื่อไหร่ก็ได้” นั่นแหล่ะจึงได้ชื่อว่าทำไมต้องชื่อว่า “ไหล”  แล้วอีกคำถามที่มีมาว่า “ไหลมีสองทางทั้งไหลไปและไหลกลับเราจะเป็นไหลไหน?” อันนี้อันที่จริงแล้วการไหลบางคนมองว่าเราจะลืมตัวหรือป่าว  ไหลไปแล้วไม่หันมามองดูสิ่งข้างหลังบ้างหรือ เพราะวิสัยของการไหลย่อมไม่ย้อนกลับคืน แต่ลองมองอีกแง่สิเล่าว่า น้ำไม่ไหลคืนแต่น้ำละเหยเป็นไอไปตกเป็นต้นน้ำเสมอใช่หรือไม่ แล้วก็ไหลลงสู่พื้นเสมอเป็นวัฏจักร แล้วทำไมเราต้องไหลกลับล่ะ เพราะสิ่งที่เราไหลผ่านมาย่อมที่จะทำให้เราหันกลับไประเหยเป็นน้ำให้ต้นน้ำอยู่แล้ว  อย่าว่าแต่การไหลเลย เพียงแค่การทำอะไรสักอย่างดังเช่นชีวิตความเป็นอยู่ของเราเคยหวนกลับไปแก้ไขมันได้หรือไม่?  คำตอบที่ได้ก็คงเป็นว่า “ไม่” อยู่ดี  แล้วทำไมล่ะ!! เราจะไหลกลับคืนไปได้ แต่ว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนสภาพกลับไปได้นั่นแหล่ะคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า “ไหลไม่ไหลกลับแต่ไหลจะหวนกลับแน่นอน”

          แล้วอีกคำถามหนึ่งที่เสียดแทงมากที่สุดเท่าที่กลุ่มเราตั้งมาก็คือ “ไหลคืออะไร?” อันนี้ไม่ได้น้อยใจที่เขาไม่รู้จักกลุ่มเราหรอกนะ  เพราะก็เชื่ออยู่นัยๆว่า กลุ่มเราก็น่าจะเป็นที่รู้จักบ้างในวงการกิจกรรม  แต่ที่น้อยใจมากนั้นก็เพราะทำไมคนเราถึงต้องมองว่าทุกสิ่งต้องเลิศลอยเท่านั้นถึงจะมีค่า เราน่าจะรู้อยู่แกใจตัวเองแล้วล่ะว่า “ไหล เป็นคำกริยา” แสดงถึงอาการเคลื่อนที่ไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น น้ำไหล โคลนไหล  แล้วการไหลไปนั้นสังเกตไหมล่ะว่า มันทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น ไม่มีน้ำสายไหน ไหลไปคนละทิศ หรือตรงข้ามกันเลย แล้วอันนี้ก็คำตอบของ “ไหล” แต่อีกอย่างหนึ่งที่คนพื้นบ้านเราอันก่อกำเนิดมาจากเหง้ากอของคนอีสานเองไม่น่าจะหลงลืมตนเองก็คือภาษา ที่ใช้แทนสิ่งต่างๆ อันเราน่าจะภูมิใจว่าภาษาอีสานนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาษาในโลกที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน  พ่อแม่ปู่ย่าเราเรียกพืชชนิดหนึ่งว่า “ไหล” เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั้งบนบกและในน้ำ มีประโยชน์ในการใช้ทำเครื่องใช้สอย ทอเป็นเสื่อ สาดให้เรานั่งอยู่นั่นแหล่ะ  อย่าเข้าใจผิดกับต้นกก เพราะต้นกกนั้นอยู่ในน้ำได้ แต่เวลาขาดน้ำก็จะขาดความสมบูรณ์จนไม่สามารถใช้งานได้กลายเป็นวัชพืช แต่ไหลแม้ในน้ำก็งอกงาม บนบกก็งอกงามได้ ดังนั้นความหมายของต้นไหล จึงเป็นต้นไม้เล็กๆที่คนมักมองข้ามความสำคัญทั้งๆที่มันเรียบง่ายและให้ประโยชน์มากกว่าเพียงชื่อของมันมากหลายเท่าตัว

          โปรดอย่าสงสัยว่าทำไม?  จึงได้หวนกลับมาเขียนบทความนี้อีกครั้งหลังจากที่เคยเขียนไว้เป็นประวัติของกลุ่มแล้วครั้งหนึ่ง โปรดจงเข้าใจว่าเราเขียนบทนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เราหวนรำลึกถึงกลุ่มผองเพื่อนที่เราเคยอยู่ร่วมกันอย่างชิดใกล้กันมา แต่บัดนี้เราพลัดพรากพวกเธอมาแสนไกลจากความรู้สึก  เราเหงาและคิดถึงเธอมากมายนัก มันอาจจะดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระในบางครั้งที่พูดคำว่า “คิดถึง” บ่อยเกินไป แต่ว่านี่คือความบริสุทธิ์ใจที่เราจะขอบอกพวกเธอแบบ”เก๋ๆ”ว่า เราคิดถึงพวกเธอมาก และยังมากที่สุดเป็นทวคูณขึ้นเมื่อเราต้องนั่งอยู่เฉยๆอันเป็นสิ่งที่เราฝืนตัวเองมาก เพราะว่าเมื่อก่อนอย่างน้อยเราก็ต้องหาอะไรสักอย่างทำแก้เหงา ใช่ไหม?

หมายเลขบันทึก: 230178เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2008 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

* มาส่งความสุขปีใหม่ค่ะ

P

ขอขอบคุณมากมายครับ
ส่งความสุ๘นี้ให้คุณครูด้วยนะคับ

สวัสดีปีใหม่...สุขกาย สุขใจ อย่าเจ็บและอย่าจนครับผม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท