ทอดข้าวสาร : พิธีกรรมสมานฉันท์ชาติ


พิธีกรรมสมานฉันท์ชาติ

                                     ไปพุ่นกินปลา                  มาพี่กินข้าว 

                                                ฮักกันไว้                        ดีกว่าซังกัน

 

                เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่แสนกันดารในสมัยอดีตและสภาพภูมิอากาศที่ร้อนระอุของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทำให้ผู้คนในแถบนี้มีสภาพอารมณ์ปรวนแปร  หงุดหงิดง่าย  ดังนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง   ปราชญ์อีสานในสมัยโบราณจึงได้สร้างขนบความเชื่อขึ้นมากมาย  เหตุเพื่อสานสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาการทะเลาะเบาะแวง  ความระแวงแคลงใจกันและกัน   เราจึงเห็นได้ว่าประเพณีวัฒนธรรมในยุคหลัง ๆ    เป็นการจัดกิจกรรมโดยอาศัยความเป็นส่วนร่วม  ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  แต่เดิมนั้นเราไม่มีศาสนาก็เอาผีสางนางไม้เป็นหลักยึดเพื่อใช้บังคับทางอ้อมให้คนทำตาม   ในกาลต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่บ้านเมือง  ก็ได้มีการนำเอาความศักดิ์สิทธิ์  ปาฏิหาริย์ของศาสนามาเป็นสิ่งล่อ 

            พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลแก่ชาวอีสานเป็นอย่างมาก  ในเมื่อเข้าสู่กาลพรรษาชาวบ้านก็จัดเทียนถวายพระภิกษุสงฆ์ตามศรัทธาและเมื่อใกล้สิ้นกาลพรรษาแล้ว  ชาวบ้านก็จะพร้อมใจกันบริจาคข้าวปลาอาหารแห้งเงินทองเพื่อไปถวายวัดหมู่บ้านอื่น ๆ หรือไปมอบให้แก่หมู่บ้านที่เกิดเหตุภัยธรรมชาติต่าง ๆหรือหมู่บ้านที่ยากจน เรียกว่า  การทอดข้าวสาร    บ้านใดที่รับการทอดข้าวสารแล้วเมื่อตนเองพร้อมหรือมีกำลังทรัพย์ข้าวของก็จะกลับมาทอดบ้านที่มาทอดให้บ้านตนเอง

            คำว่าทอดนั้น  เป็นคำที่แฝงความหมายมากกว่าคำว่าถวาย  เพราะนัยยะจริง ๆ แล้วหมายถึง  การเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มชุมชน  โดยจะมีการขับสวดสรภัญญะอีสานเพื่อเป็นเครื่องเสพงัน(มหรสพ)  โดยบ้านที่ไปทอดนั้นจะนำคณะสรภัญญะหมู่บ้านตนเองไปด้วย   เพื่อไปขับสวดให้หมู่บ้านที่ตนเองไปทอดข้าวสารฟัง  หมู่บ้านที่รับทอดข้าวสารก็จะมีคณะสรภัญญะขับสวดเป็นการต้อนรับเช่นกัน  หาได้เป็นการประชันขันแข่งเพื่อให้เกิดการแพ้ชนะไม่   หากแต่เป็นไปเพื่อความสามัคคีเท่านั้นเอง 

            สถานที่ที่ใช้จัดการทอดข้าวสารนั้นคือ  วัด  อันเป็นกุศโลบายเพื่อให้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้จิตใจผู้ร่วมงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ดังคำกลอนอีสานที่ว่า

 

                                    อันบุญนี่                        ศีลธรรมกุศล

                        บุญบุญนี่สร้างคน                        ประชาชนเมืองบ้าน

                        บุญนี่เป็นบุญตุ้ม                          สามัคคีกลมแก่น

                        ฝังสายจิตแน่นแฟ้น                         แก่นมั่นบ่มีลืม

                        บ้านพุ้นพี้                                  ไปมาหาสู่

                        บ้านเมืองฮ่มอยู่ได้                        เจริญบ้านฮุ่งเฮือง

 

            ถอดความได้ว่า  บุญที่ทำนี้เป็นบุญสร้างคนให้มีความกลมเกลียวเหนียวแน่น  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านไปมาหาสู่กัน  บ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรือง

            เราจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมทอดข้าวสาร   เป็นเพียงกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ปราชญ์โบราณได้สร้างขึ้นอันมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างคนต่อคน   ชุมชนต่อชุมชน   เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงกล่าวได้ว่า การทอดข้าวสาร  จึงเป็นพิธีกรรมเพื่อความสมานฉันท์ชาติโดยแท้จริง

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 230030เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2008 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นความรู้ที่เยี่ยมมากครับ อีสานแห่งสุวรรณภูมิ เคยเป็นดินแดนเก่าแก่ที่ปรากฎหลักฐานและตำนานพระพุทธศาสนามากมาย จนบางคนสันนิฐานว่า "ชมพูทวีป" น่าจะมีขอบเขตครอบคลุมถึงภาคอีสานของไทยก็อาจเป็นได้ คำกล่าวเกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหารในสมัยพุทธกาลในพระไตรปิฏกก็มีในอีสานปัจจุบัน ที่เด็ดที่สุดก็คือ พระพุทธเจ้าฉันข้าวเหนียวนะครับ ไม่ใช่โรตี!!!

เห็นด้วยครับที่ว่าอีสานเป็นดินแดนแห่งพุทธที่แท้จริง ดูจากพระอรหันต์ไทย ส่วนใหญ่เรียนรู้จากครูบาอาจารย์สายอีสานทั้งนั้นเลย

ได้ความรู้ครับ ชอบเรื่องภูมิปัญญามาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท