อาถรรพณ์ วันพระจันทร์เต็มดวง


อาถรรพณ์ วันพระจันทร์เต็มดวง

เมื่อคืนวันที่ 12 ธันวาคม หลายท่านคงได้แหงนหน้าขึ้นดูพระจันทร์บนท้องฟ้า  เนื่องสื่อต่างๆได้ประโคมข่าวว่า คืนนี้พระจันทร์จะเต็มดวงและใหญ่ที่สุด ในรอบ15 ปี เนื่องจากพระจันทร์อยู่ใกล้โลกและ เป็นคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ และมีความเชื่อว่า จะเกิดสิ่งดีๆกับผู้พบเห็น มีการแนะนำว่าให้อาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์จะให้โชคดี  แต่ยังมีความเรื่องอาถรรพณ์ วันพระจันทร์เต็มดวง ที่เชื่อกันมานานแล้ว.... 

พระจันทร์ที่ส่องสว่างยามค่ำคืนมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่และพฤติกรรมของเราจริงหรือ? 

พระจันทร์เป็นดาวบริวารของโลก แต่น่าจะเป็นเพราะเมื่อครองฟ้าเวลารัตติกาล ส่องแสงสว่างนวลกว่าดวงดาวอื่นๆ จึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์มาชั่วกัปชั่วกัลป์ ถึงขนาดได้รับการบูชาจากผู้คนหลายชาติหลายภาษา ไม่ว่าจีน แขก ฝรั่ง ไทย ชาวจีนนับถือพระจันทร์ว่าเป็นที่สถิตอยู่ของเจ้าแม่กวนอิม มีประเพณีไหว้พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญเดือน 8 (ข้างจีน) เมื่อครั้งที่อเมริกันส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ ในปี พ.ศ.2512 ชาวจีนหัวโบราณหลายคนไม่พอใจที่มนุษย์ไปรบกวนเทพเจ้าบนดวงจันทร์ หลายคนถึงกับเลิกไหว้พระจันทร์ไปเลย 


ฝรั่งก็เช่นกัน หลายพวกหลายเผ่าเชื่อในประเพณีเก่าแก่ว่าพระจันทร์มีพลังอาถรรพณ์ ในคืนพระจันทร์เต็มดวงมีพลังยั่วเย้าให้เกิดอารมณ์พิศวาสสิเหน่หา จึงเหมาะแก่การจัดงานรื่นเริง แต่ก็มีความเชื่อที่ค่อนข้างแย่ว่า พลังจากดวงจันทร์จะรุมเร้าให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งวิกลจริต คำว่า Lunacy ที่แปลว่าวิกลจริต ก็มีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า Luna ที่แปลว่า พระจันทร์นั่นเอง 


หลายคนยังเชื่อด้วยว่า แม้กระทั่งสุนัขก็ดุขึ้นและชอบกัดคนในวันพระจันทร์เต็มดวงมากกว่าในวันปกติ 


อิวาน เคลลี จิตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยซัสคัตเซวัน ซัสคาทูน แคนนาดา และนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่ยอมเชื่อว่าพระจันทร์เต็มดวงมีผลสะท้อนต่อพฤติกรรมมนุษย์มากกว่าคืนอื่น เคลลีกล่าวว่าตามความเห็นของเขาเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของคืนวันเพ็ญ ไม่น่าเป็นแก่นสารที่จะนำมาคิดให้ปวดหัว ทั้งยังสรุปว่าจากการทบทวนดู ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่พอรับฟังได้แน่ชัด 


ที่โรงพยาบาลแบรดฟอร์ด รอยัล อินเฟิร์มมารี ประเทศอังกฤษ นายแพทย์ชานชาล บัตตาชาร์ยี และคณะ ได้ตรวจสอบรายงานผู้ป่วยรวม 1,621 ราย ที่รับไว้ในห้องฉุกเฉินระหว่างปี 1997 และ 1999 เนื่องจากถูกสัตว์กัด พบว่าโอกาสที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นมีมากเป็น 2 เท่าหากเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ...เห็นได้ว่ารายงานฉบับนี้ขัดแย้งกับของอิวาน เคลลี 

แต่จากการตรวจสอบของไซมอน แชปแมน ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยสาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในผู้ป่วยที่รับไว้ในช่วง 12 เดือน กลับไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการถูกสุนัขกัดและคืนวันพระจันทร์เต็มดวง แชปแมนรายงานว่า จากการตรวจสอบสถิติผู้ถูกสุนัขกัดในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงถึงขั้นป่วยต้องรับตัวไว้ยังต่ำกว่าในวันอื่นด้วยซ้ำไป เขากล่าวว่า การวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากความใคร่รู้ แต่ก็จนปัญญาที่จะหาคำอธิบายที่น่าฟังว่า เหตุใดคืนพระจันทร์เต็มดวงจึงมีอิทธิพลเหนือสุนัขในอังกฤษมากกว่าออสเตรเลีย 


ความขัดแย้งคล้ายๆ กันนี้ เกิดขึ้นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุเกี่ยวกับความรุนแรง การจับกุม และอัตวิบาตกรรมด้วย 


อีริค ชูดเลอร์ จิตแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่ซีแอตเติล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ตามรายงานที่อ่าน มีความสัมพันธ์อยู่น้อยมากที่จะกล่าวว่า คืนพระจันทร์เต็มดวงมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ 


แต่ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาในรูปใด ผู้คนหลากหลายก็ยังชี้นิ้วโทษพระจันทร์ว่า มีพลังอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ร้ายสารพัด ตั้งแต่วิกลจริต อาชญากรรมร้ายแรงที่หาสาเหตุไม่ได้ อุบัติเหตุทางจราจร ไปจนถึงเรื่องดีๆ เช่น การฉลองต่างๆ และอารมณ์พิศวาส นิยายที่น่ากลัว เช่น มนุษย์หมาป่า เสือสมิง คนครึ่งสัตว์ร้าย ยังต้องมีพระจันทร์เต็มดวงเป็นสิ่งชูรส ..จริงมั้ย? 


ชูดเลอร์อธิบายว่า เหตุผลประการหนึ่งคือ แต่ละคนต่างก็มีรอยพิมพ์ใจเฉพาะตัว เมื่อมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นแล้วบังเอิญเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ก็จะปุโลปุเลเอาพระจันทร์เป็นตัวพลังเบื้องหลังไปเลย 


ปัญหาอีกอย่างขึ้นอยู่กับการติดตามข่าวสารมวลชน โดยเฉพาะพวก Tabloid “เคลลี” เชื่อว่านักข่าวพยายามเจาะลึกเพื่อทำข่าวให้ตื่นเต้นเร้าใจจนผิดจรรยาบรรณของนักข่าวที่ดี และละเลยความจริงที่มีอยู่ นักข่าวประเภทนี้ชอบเก็บข่าวที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพยาบาลมากกว่า 


แง่คิดที่น่าสนใจอีกแง่หนึ่ง เกิดจากผลงานของเกลนน์ วิลสัน นักจิตวิทยาจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งได้ตรวจสอบตำนานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องพระจันทร์เต็มดวงในวรรณกรรมพื้นบ้าน เขาพบว่านิทานพื้นบ้าน ตลอดจนตำนานต่างๆ ล้วนกล่าวถึงพระจันทร์เต็มดวงในแง่ของความรื่นเริงและงานฉลอง เฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ 


วิลสันกล่าวว่า มีเหตุผลดีๆ ที่ทำให้เชื่อว่า บุคลิกของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถึงช่วงพระจันทร์เต็มดวง เรื่องนี้มิใช่เพราะพลังทางดาราศาสตร์ แต่เพราะความสวยงามของพระจันทร์ที่ให้แสงสว่างนวลพอเหมาะพอดี ช่วยทำให้อารมณ์ปลอดโปร่ง โรแมนติก แต่บางรายก็กลายเป็นความก้าวร้าว จนเกิดเรื่องขาดความยั้งคิดทำอะไรไปโดยไม่ทันชั่งใจว่าผิดหรือถูก 


แต่ใครๆ ก็ชอบพระจันทร์เต็มดวง..ไม่ใช่หรือ?

 

หมายเลขบันทึก: 229165เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2008 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

พระจันทร์เต็มดวง..สางเขียวจะออกมา..บรื้ออออออ....กลัว...

อิอิ..มุกขำขำน่ะค่ะ

เมื่อคืน อาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์หรือเปล่าน่ะ มีคนแนะนำว่า ถ้าจะดีต้องแก้อาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์ด้วยน่ะ (ฮา ฮา.....ล้อเล่น)

แหมอ่านแล้ว...ก็ขนลุกเลยนะคะเนี่ยยย....
เอาพระจันทร์ที่บ้านมาฝากต่ะ

ขอให้โชคดีนะคะ....รับรองไม่มีอาถรรพ์หรอกค่ะ

เห็นรูปของมะนาวหวานแล้ว ไม่กลัวอาถรรพ์แล้วครับ

แน่นอนว่า ใครๆก็ต้องชอบคืนพระจันทร์เต็มดวงแน่

มันสวย สว่าง ดูแล้วมีความสุข แต่เรื่องความเชื่อนี้ตัวข้าพเจ้าคิดว่ามันน่าจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า เพราะถ้าเราคิดไปในทางที่ดีมันก็ดี แต่ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ดี แต่เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีดีกว่านะ จะได้สุขใจ

และในเมื่อวันที่ 12 ที่ผ่านมาดวงจันทร์สวยจริงๆค่ะ

นางสาวสิริมา หาญประสพ

แน่นอนว่า ใครๆก็ต้องชอบคืนพระจันทร์เต็มดวงแน่

มันสวย สว่าง ดูแล้วมีความสุข แต่เรื่องความเชื่อนี้ตัวข้าพเจ้าคิดว่ามันน่าจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า เพราะถ้าเราคิดไปในทางที่ดีมันก็ดี แต่ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ดี แต่เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีดีกว่านะ จะได้สุขใจ

และในเมื่อวันที่ 12 ที่ผ่านมาดวงจันทร์สวยจริงๆค่ะ

ครับผม วันที่ ๑๒ พระจันทร์สวยมาก ผมเลยถือโอกาสไหว้พระสวดมนต์ ปรากฎว่าคืนนั้นนอนฝันดีเลยนะ (แต่ขออุบ ไม่บอกว่าฝันเห็นอะไร แต่บอกว่า ฝันดีมากๆๆ)

ขอบคุณ นางสาวสิริมา หาญประสพ ที่มาอ่าน เรื่องนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวครับ

ความคิดเห็นของหนูว่ามันสวยมากด้วยและหนูไม่เคยดูเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท