เส้นทางเมี่ยง-ชา "ศรีนาป่าน-ตาแวน" ตอนที่ ๒


ชาวบ้านศรีนาป่านนอกจากจะใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ แล้ว ยังยึดมั่นในฮีตฮอยเดิม ยึดถือเอาความเชื่อ และศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประเพณี ความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับเมี่ยง

                ชาวบ้านศรีนาป่านนอกจากจะใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ แล้ว ยังยึดมั่นในฮีตฮอยเดิม ยึดถือเอาความเชื่อ และศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สืบทอดมาเป็นประเพณีวัฒนธรรมจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวโยงกับเมี่ยงซึ่งมีหลากหลายความเชื่อ เช่น

                . การเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยง : ชาวบ้านมีความเชื่อและศรัทธาว่าเจ้าหลวงป่าเมี่ยง คือผู้นำหมู่บ้านแต่ครั้งโบราณ และเป็นบุคคลแรกที่นำชาวบ้านแป๋งเมืองอยู่ที่นี่ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ดังจะปรากฏให้เห็นว่าสมบัติของเจ้าหลวงป่าเมี่ยงหลายชิ้นที่เป็นมรดกตกทอด เช่น มีผืนนา เจ้าหลวง มีหอก ดาบ โอ่ง ไห ฆ้อง ซึ่งปัจจุบันมรดก หรือสิ่งของมีค่าเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่บ้านนายตา  ปันลูน สำหรับการเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงนั้น จะทำพิธีกันในวันขึ้น ๑๑ ค่ำหรือ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ (วันใดวันหนึ่งเท่านั้น) ของเดือนเก้าเหนือ (เดือนสิงหาคม) โดยจะทำพิธี แก้มน้ำลงนา คนในหมู่บ้านจะบริจาคเงินหลังคาละ ๕ บาท เพื่อนำไปซื้อไก่ จำนวน ๘ คู่ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้อื่นๆ ที่ใช้ในพิธีกรรมดังกล่าว โดยจะมีการทำพิธีกรรมรวม ๒ จุด คือ

                - หอ (ศาล) ใต้ : จะตั้งอยู่ที่บ้านศรีนาป่าน ที่บ้านนายบุญถม  นาอินทร์ เรียกว่า หอเจ้าตนปู่

                - หอ (ศาล) เจ้าหลวงป่าเมี่ยง : ตั้งอยู่ในบริเวณชายป่า ซึ่งเป็นศาลจำลอง ที่ตั้งศาลจริงอยู่ที่นาก้างบอกไฟ (นาที่ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่จุดบั้งไฟ) บ้านตาแวน หมู่ ๔ ก่อนจะเซ่นไหว้จะมีการให้สัญญาณ เริ่มพิธีกรรมทั้ง   หอพร้อมกัน เรียกว่า การลั่นอะม๊อก  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอน้ำ ขอฝน และความเป็นสิริมงคล ในฤดูกาลเพาะปลูกให้ปราศจากโรค และแมลงที่จะเข้ามารบกวน ในการทำพิธีกรรมนี้ คนในหมู่บ้านงดทำงานต่างๆ ต้องอยู่ภายในหมู่บ้านตลอดเวลา ๑ วัน เรียกว่า อยู่ก๋ำ

                . พิธีกรรมหล่อเมี่ยง : คือการนำเมี่ยงที่นึ่งแล้วไปเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยง หลังคาเรือนละ ๕ กำ (กำ=มัด) ชาวบ้านให้เหตุผลว่าการทำเมี่ยง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่มาเซ่นไหว้เจ้าหลวงจะทำให้เมี่ยงมีผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเมี่ยงที่ทุกคนนำไปบริจาคนั้น นำไปหมักรวมกัน และแบ่งปันกันกินในชุมชนต่อไป

                . การเลี้ยงผีขุนน้ำ : เพื่อทำพิธีขอน้ำ ขอฝนในฤดูกาลเพาะปลูก และให้อยู่เย็นเป็นสุขในการเซ่นไหว้นั้น จะต้องใช้ตุ่น (หมูดิน ๑ คู่) โดยมอบหมายให้นายตา  ปันลูน ผู้ดูแลพื้นที่นาของเจ้าหลวง เป็นผู้ไปหาตัวตุ่นมาเซ่นไหว้ และทำพิธีใต้ต้นตะแบกใหญ่) ซึ่งจะทำพิธีกันในวันแก้มน้ำลงนา

                . การแก้มข้าวใหม่ : เป็นพิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว คือ ประมาณเดือน พฤศจิกายน โดยที่ทุกครอบครัวจะเอารวงข้าวระยะพลับพลึงมาบริจาคเพื่อตำเป็นข้าวเม่า แล้วนำข้าวเม่าที่สุกแล้วมาใส่กระทงใบตอง เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนเหตุผลในการทำพิธีนี้ได้สัมภาษณ์นายบุญถม นาอินทร์ ซึ่งเป็นบ้านที่ตั้งของหอตนปู่ว่า การทำพิธีกรรมแก้มข้าวใหม่นี้ทำเพื่อแสดงความขอบคุณต่อเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ที่ทำให้ผลผลิตข้าวไม่มีโรคและแมลงรบกวน และนายเขี่ยง  มะโนวรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าปีไหนเกิดวิกฤตจากภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง แมลงระบาด ชาวบ้านก็จะบนบานบวงสรวง ขอให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ผลผลิตดี โดยจะใช้สัตว์ใหญ่ คือควายตัวผู้สีดำ เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ไอ้หลังเลื้อม การบวงสรวงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นประมาณ ๔ ครั้ง/ปี โดยจะเซ่นไหว้เดือนมีนาคม ของเซ่นไหว้ทุกอย่างหลังจากเสร็จพิธีกรรมแล้ว ชาวบ้านก็ขออนุญาตนำเครื่องเซ่นไหว้มาแบ่งปันกันกิน และถือว่าเป็นสิริมงคลที่ได้กินของเหลือกินเหลือใช้จากเจ้าหลวง

                . การสะเดาะเคราะห์ (การส่งเคราะห์บ้าน) : เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าการเคารพบรรพบุรุษจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านคือ ศรีนาป่าน-ตาแวน ร่วมกันนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น น้ำอบ น้ำหอม ธูปเทียน ดอกไม้ มารดน้ำดำหัวเจ้าหลวงป่าเมี่ยง ทุกวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี โดยจะนำเอาเสื้อผ้าของเจ้าหลวงมาสักการบูชา

                . การสักการะพระเจ้าทองทิพย์ : ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณวัดช้างซึ่งเป็นบริเวณป่าพิธีกรรม จะทำพิธีกรรมทุกวันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี โดยนายเดช  วงค์คำ จะต้องเป็นผู้ไปเอาน้ำจากวังฆ้อง ตั้งแต่เช้ามืด (ไปก่อนกามาก่อนไก่) จะตักใส่กระบอกไม้ไผ่มาประมาณ ๖ กระบอก และชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ บริเวณจอมปลวกที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทองทิพย์ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นจอมปลวก และก้อนอิฐเก่าๆ อยู่ในบริเวณนั้น แสดงให้เห็นถึงที่มาของความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านป่าเมี่ยงที่มีต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณจวบจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนชาวบ้านป่าเมี่ยงจะยังคงถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ เหล่านี้  จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้พิธีกรรม และความเชื่อเหล่านี้ยังคงอยู่คู่กับชาวบ้านตราบนานเท่านาน

                . บริวารเจ้าหลวงป่าเมี่ยง : ความเชื่อที่สืบทอดกันมาที่ว่าเจ้าหลวงป่าเมี่ยงนั้น เป็นผู้นำชุมชนที่มีบุญบารมี และมีบริวารห้อมล้อม ดังนั้นถ้ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับเจ้าหลวงป่าเมี่ยงครั้งใด บุคคลที่ได้รับการสืบทอดเป็นบริวารที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องทำหน้าที่ของตนเอง จะให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ ซึ่งบริวารของเจ้าหลวงป่าเมี่ยงนั้นมี ๓ บริวารดังนี้

                - ช่างฆ้อง : คือ นายเดช  วงค์คำ  ทำหน้าที่ สื่อสารกับเจ้าหลวงป่าเมี่ยง (เป็นข้าวจ้ำ)

                - ช่างสับ : คือ นายจำนงค์  ยาสมุทร ทำหน้าที่ ฆ่าสัตว์ที่นำมาบวงสรวง

                - ช่างเสพ : คือ นายบุญอยู่  สายยนต์  นายจำนงค์  ยาสมุทร  นายผาย  นันไชย ทำหน้าที่  ขับกล่อมโดยการซอ เวลาก่อน และหลัง ลงทรง และจะมีทาสผู้รับใช้ คือ นางวันดี  ปันลูน ทำหน้าที่ ล้างเท้าคนลงทรง

                นอกจากนั้นยังมีตำนาน ปางบุญปางบาป เป็นเรื่องเล่าที่มาจากต้นไฮ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางเดินเที่ยวชมสวนเกษตรป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ลูกหลานบ้านศรีนาป่านมักจะเล่าตำนานนี้ให้กับคนที่เข้าไปศึกษาเส้นทางป่าเมี่ยงได้รับฟังกันอยู่เป็นประจำ

                มีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง รอบลำต้นจะมีต้นไฮเกาะอยู่  ต้นไฮนี้จะเลี้ยงตัวเองโดยอาศัยต้นไม้ใหญ่ในการหาอาหารมาเลี้ยงลำต้น เมื่อเวลาผ่านไปต้นไฮเริ่มเติบใหญ่ขึ้นมา ก็จะเริ่มรัดต้นไม้ที่ตัวเองเกาะอาศัยอยู่จนต้นไม้ต้นนั้นแห้งตายไปในที่สุด ส่วนต้นไฮก็จะผลิดอกออกผลให้เป็นอาหารสำหรับสัตว์น้อยใหญ่ที่อยู่ในป่าให้ได้มาเก็บกินต่อไป จึงเรียกตำนานนี้ว่า ปางบุญปางบาป หรือ ลูกแก่ แม่ตาย โดยเปรียบต้นไฮ เป็นลูก และต้นไม้ที่ต้นไฮไปเกาะอยู่ เป็นแม่

                 ปางบุญ คือหลังจากที่ต้นไม้แม่ตายแล้ว ต้นไฮจะออกลูกออกผลให้กับสัตว์อื่นได้มาเก็บกินเพื่อทำคุณไถ่โทษให้กับตัวเองที่ฆ่าแม่ตาย

                ปางบาป คือ ต้นไฮได้อาศัยต้นไม้แม่หากิน พอต้นไฮเติบโตขึ้นมาก็รัดต้นไม้ที่เกาะอาศัยอยู่ตายเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

                ตำนาน ปางบุญปางบาป นี้อีกนัยหนึ่งของการเล่า บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่าของบ้านศรีนาป่าน ที่มีทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ และสัตว์ที่พึ่งพิงอิงอาศัยกันและกัน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ขอขอบพระคุณ

แกนนำศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลเรืองทุกท่าน และเอกสารบทเรียน "วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน คน น้ำ ป่า"  ที่ให้ข้อมูล

 

หมายเลขบันทึก: 228610เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท