ในฐานะของผู้ดูแลบอร์ด กับงาน HA Forum


รู้สึกดีที่ได้เห็นความร่วมมือ ร่วมใจในการทำงานของทีมธาตุพนม เห็นความร่วมมือระหว่างสมาชิกในเครือข่ายฯ เห็นผลงานที่เกิดจากกิจกรรมที่เครือข่ายจัดขึ้น

       ตอนที่ดิฉันได้รับมอบหมายให้จัดนิทรรศการในงาน 7th National Forum วันที่ 14-17 มีนาคม 2549 นั้น ดิฉันรู้สึกกลุ้มใจมาก เนื่องจากมีเวลาในการเตรียมงานเพียงอาทิยต์เดียว เพราะทาง พรพ.แจ้งเราเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 49 ว่ามีบูธให้ ในขณะที่วันที่ 3-4 มี.ค. ดิฉันต้องเตรียมงานสำหรับกิจกรรม "แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลผู้เป็นเบาหวาน" ระหว่างผู้เข้าโครงการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง รพ.ศิริราช กับ รพ.เทพธารินทร์ที่จัดขึ้นในวันที่ 6-7 มี.ค. ถ้าหักลบกันจริงๆ แล้ว มีเวลาเตรียมนิทรรศการเพียง 4 วันเท่านั้น แต่ทีมงานก็ตั้งใจเตรียมนิทรรศการเต็มที่ค่ะ

ก่อนวันงาน HA Forum (เตรียมงาน)

        โจทย์ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ คือ ผลการดำเนินงานของเครือข่ายจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่สัมพันธ์กับกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ดร.วัลลา ตันตโยทัยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ Theme นี้ก่อนท่านเดินทางไป รพร.ธาตุพนม (วันที่ 8 มี.ค.) ดิฉันจึงเริ่มดำเนินการดังนี้

         1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ดูแลงานของ พรพ. เพื่อขอแผนที่ รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดของบูธ และอุปกรณ์ที่ทาง พรพ.เตรียมให้

        2. ติดต่อ คุณจิราวรรณ เศลารักษ์ (คุณน้ำ) ประชาสัมพันธ์สาวสวยจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เพื่อขอยืมโปสเตอร์ของเครือข่ายฯ (เนื้อหากล่าวถึงความเป็นมา และกิจกรรมของเครือข่าย) ซึ่งคุณน้ำบอกว่าจะนำมาให้ที่งาน

        3. ติดต่อ ดร.วัลลา ตันตโยทัย (ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ รพร. ธาตุพนม) เพื่อให้ท่านพิจารณาว่าจะเลือกนำอุปกรณ์ชิ้นใดของ รพร.ธาตุพนมมาแสดงในนิทรรศการ

        4. ติดต่อ คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ เพื่อขอยืมโปสเตอร์เกี่ยวกับงานที่เกิดจากกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" มาแสดง ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

        5. เริ่มผลิตโปสเตอร์ย่อยและอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีแนวคิดดังนี้

            -  เนื่องจากไม่เห็นขนาดโต๊ะ การผลิตสื่อจึงต้องคิดแบบยืดหยุ่น คือสามารถนำมาจัดแบบตั้งโต๊ะ หรือประยุกต์มาติดบอร์ดได้

            - เนื่องจากไม่มีระบบอินเตอร์เน็ต จึงจัดทำ blog เป็นไฟล์ power point ให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูหน้าตา เนื้อหาแทนการดูจากอินเตอร์เน็ต และผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แบบตั้งโต๊ะ สำหรับผู้ชมที่ไม่อยากยืนอ่านจากในคอมพิวเตอร์

            - คัดเลือกเรื่องเล่าของสมาชิกนำไปแสดง โดยเลือกเรื่องที่เป็นกิจกรรมตัวอย่างสำหรับประยุกต์ในการทำงานได้

            - เตรียมกระดาษสีต่างๆ ไป หากต้องมีการตกแต่งบอร์ดเพิ่มเติม

            - จัดเตรียมโบรชัวร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การดำเนินงานของเครือข่าย และการดูแลเท้า สำหรับมอบให้ผู้เข้าชมบูธ (จะได้มีของติดไม้ติดมือกลับไป)

วันงาน

   

        ดร.วัลลา ตันตโยทัย, คุณอาฬสา หุตะเจริญ และดิฉันไปถึงอิมแพค เมืองทองธานีเวลาเกือบ 12.00 น. เราไม่มีรถเข็นจึงต้องทยอยขนของไปที่บูธ (อยู่ห้องประชุม 5 ชั้น 2) เมื่อถึงบูธเราได้พบกับทีมของ รพร. ธาตุพนม และได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะจัดนิทรรศการที่บูธเราอย่างไรดี (เพราะบูธอื่นที่มาก่อนหน้าเรา จัดได้สวยมาก) เราตกลงกันว่าจะแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรก (ตรงกลาง 3 บอร์ด) เป็นส่วนของเครือข่าย โซนที่สอง (ซ้ายมือ 3 บอร์ด) ทีม รพร.ธาตุพนมรับดำเนินการ โซนสุดท้าย (ขวามือ 2 บอร์ด) สำหรับโปสเตอร์แสดงผลงานของ รพ.พุทธชินราช และ รพ. เทพธารินทร์ (ชมรายละเอียดได้ที่ HA National Forum (๑)) พอจัดเสร็จปรากฏว่าทุกบอร์ดในบูธของเราก็ได้เป็น theme เดียวกันจริงๆ

        เรารอโต๊ะสำหรับโชว์ผลงานที่ทาง พรพ.เคยแจ้งว่าจะนำมาให้อยู่นาน ยังไม่เห็นวี่แวว ดร.วัลลา มองไปเห็นโต๊ะที่ว่างเปล่าวางทิ้งไว้อยู่ตัวหนึ่ง จึงชวนคุณอาฬสาไปนำเอามาวางไว้ที่บูธทันที เราเริ่มจัดโต๊โดยใช้ผ้าคลุมที่ทาง รพร. ธาตุพนมเตรียมมา วางรองเท้า อุปกรณ์การทำ Vacuum dressing โบร์ชัวร์ blog แบบตั้งโต๊ะ ปรากฎว่าเป็นไปตามคาด โต๊ะที่เราได้วางของไม่พอ ดิฉันจึงไม่ได้นำคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแสดงด้วย

   

         การนำเสนอนิทรรศการเริ่มวันแรกคือวันที่ 15 มี.ค. มีผู้ดูแลและให้คำแนะนำประจำบูธ ได้แก่ ดร.วัลลา ตันตโยทัย, คุณเอนก ทนงหาญและทีมงานของ รพร.ธาตุพนม (ที่สับกันมาช่วยดูแลบูธ) ส่วนขาประจำที่ต้องอยู่ที่บูธทั้ง 3 วัน มีดิฉัน กับคุณพเยาว์ ปิยะไพร นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่อง Podoscope นอกจากนั้นยังมีคุณธัญญลักษณ์ เกียรติชื่น ตัวแทนจากบริษัท Johnson & Johnson นำเครื่องตรวจนำตาลในเลือดชนิดเจาะปลายนิ้วมาแนะนำ และคุณธเนต จาก Miracle Arch นำเครื่อง i-step มาแสดงที่บูธด้วย ทำให้มีผู้เข้าชมบูธของเราไม่ขาดสาย เพราะแต่ละคนก็มีความกระตือรือร้น และมีเทคนิคในการนำเสนอที่เก่งกาจ ทั้งผู้เข้าชมยังได้ทดลองเจาะตรวจหานำตาลในเลือด วัดแรงกดของเท้าด้วยเครื่อง i-step และ podoscope อีกด้วย ที่สำคัญโบรชัวร์ที่เรานำไปหมดเกลี้ยง แถมมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอซื้อเครื่อง podoscope และรองเท้าจากคุณพเยาว์ อีกแหนะ

สิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้

        1. เกิดแนวคิดในการจัดนิทรรศการคราวต่อไป และมีโอกาสได้เยี่ยมชมผลงานของบูธอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์

        2. ได้ความรู้ ได้แลกเปลี่ยนกับผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการมากมาย ทำให้ดิฉันต้องนำกลับไปพิจารณาตัวเองในเรื่องของความรู้ที่จะให้กับผู้ที่มาแลกเปลี่ยน ดิฉันคิดว่าคนที่จะอยู่ที่บอร์ดไม่ใช่จะมาทำหน้าที่เฝ้าบอร์ดเฉยๆ ต้องมีความรู้ที่สามารถตอบข้อซักถามของผู้ชมได้ด้วย เช่น มีคนมาถามดิฉันเรื่อง Podoscop (ตอนนั้นคุณพเยาว์ ไม่อยู่) ดิฉันก็ตอบได้คร่าวๆ ว่าเป็นเครื่องมือวัดแรงกดของเท้า ทำให้รู้ว่าเท้าของเราเป็นแบบไหน แต่พอเขาถามดิฉันลงไปลึกๆ ว่าเท้าแบบนี้จะมีปัญหาอย่างไรต่อไป ดิฉันไม่สามารถตอบได้ จึงเก็บคำถามมาสอบถามเพิ่มเติมจากคุณพเยาว์ที่ร่วมดูแลบูธภายหลัง และกลับมาถามเพิ่มเติมจากคุณยอดขวัญ หัวหน้านักกายภาพคนเก่งที่ รพ.เทพธารินทร์ของเรา ดิฉันมั่นใจว่าหากใครมาถามดิฉันในคราวต่อไป ก็สามารถให้ความกระจ่างได้ในระดับหนึ่ง

        3. ได้มีโอกาสคุยกับคุณเอนก และเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะผลิต CD ไปออกบูธด้วย และคิดว่าการแจก CD หรือแผ่นพับบางอย่างน่าจะเก็บเงินบริจาค (เล็กน้อย) แลกกับการนำไปจัดทำ CD หรือแผ่นพับดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ในคราวต่อไป นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มคุณค่า และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการจัดทำอีกด้วย (Idea นี้ได้จากโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ทำ CD เกี่ยวกับ Competency จำหน่ายในราคา 20 บาท)

        4. คิดว่าการจัดในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีผู้ชมให้ความสนใจกับทุกอุปกรณ์ที่นำมาแสดง ทำให้เครือข่ายฯ เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น และมีผู้สนใจลงชื่อมาร่วมงานตลาดนัดความรู้ที่จะจัดขึ้นด้วย

        5. รู้สึกดีที่ได้เห็นความร่วมมือ ร่วมใจในการทำงานของทีมธาตุพนม เห็นความร่วมมือระหว่างสมาชิกในเครือข่ายฯ เห็นผลงานที่เกิดจากกิจกรรมที่เครือข่ายจัดขึ้น

ข้อเสนอแนะ (ขอนิดหนึ่งในฐานะผู้ที่ต้องอยู่ประจำบูธ)

        ถ้าหน่วยงานไหนจะจัดนิทรรศการ และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมจำนวนมาก ดิฉันคิดว่าการดูแลผู้อยู่ประจำบูธก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องมาเฝ้าบูธคนเดียว ดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่ได้รับประทานอาหารว่างเลย เนื่องจากต้องเฝ้าบูธตลอด หรือถ้าจะไปก็ต้องรอเพื่อนมาเปลี่ยน คนที่ไปตอนหลังก็ไม่ได้รับอาหารว่าง (หมดพอดี) ดังนั้นถ้าจะอำนวยความสะดวกตรงนี้ได้ Organizer ก็จัดอาหารว่างมาให้ผู้ที่เฝ้าบูธ คิดว่าน่าจะดีกว่าค่ะ (เพราะอย่างไรคุณก็มีรายชื่อผู้ประจำบูธแล้วแลกกับคูปองที่เตรียมไว้) เป็นการอำนวยความสะดวกเพียงเล็กๆ น้อยๆ เองค่ะ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มแรง และกำลังใจว่าเราไม่ถูกทอดทิ้ง

เล่าโดย: สุภาพรรณ ตันติภาสวศิน

 

คำสำคัญ (Tags): #ha#national#forum
หมายเลขบันทึก: 22828เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2006 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท