ตำนานถ้ำหลวงเชียงดาว กับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวไต (ตอนที่๑)


ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ถ้ำหลวงเชียงดาว ศาลเจ้าเมือง

เมื่อเอ่ยถึง ถ้ำหลวงเชียงดาว ชาวไตทั้งหลายน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ถ้ำแห่งนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวไตมาช้านาน เนื่องจากเป็นแหล่งพำนักของ "เจ้าข้อมือเหล็ก"และบริวาร อันประกอบด้วย "เจ้าหน่อคำแหลง" และ"เจ้าไข่คำ" ซึ่งเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ชาวไตอัญเชิญมาสิงสถิตย์ ณ ศาลเจ้าเมืองแทบทุกชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำหรับประวัติความเป็นมาของถ้ำแห่งนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับ ชาวไตและชาวพม่า ในฐานะผู้ค้นพบและบุกเบิกบูรณะจนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วไทย

เมื่อก่อน ดอยหลวงแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า "ดอยเพียงดาว" หรือ "ดอยเปียงดาว" ในภาษาล้านนา เนื่องจากมีความสูงมากจนเสมอดาวนั่นเอง (สูง 2,180 เมตร จากระดับน้ำทะเล) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ดอยอ่างสลุง" พบว่าบนยอดดอยมีอ่างลึกสองแห่ง ในอ่างเต็มไปด้วยป่าหวายและเขือง (คล้ายต้นหมากชาวไตเรียกว่า ต้นจึ้ก) มีหวายยาว 100-150 เมตรเลยทีเดียว เป็นภูเขามีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเขาตั้งโด่เหมือนเจดีย์องค์ใหญ่ดูสวยงามมาก มีเนื้อที่ทั้งหมดวัดโดยรอบ 100 กิโลเมตร ตรงหน้าถ้ำมีบริเวณราบเรียบกว้างขวาง มีแม่น้ำไหลออกจากรูถ้ำแล้วดั้นทะลุออกมาเป็นลำแม่น้ำ

ถ้ำหลวงเชียงดาวอยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันตก 5 กิโลเมตร มีคนค้นพบถ้ำนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2168 ผู้ค้นพบเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งและฆราวาสอีก 1 คน ท่านทั้งสองเป็นผู้มีใจศรัทธาอันแรงกล้าได้เข้าไปช่วยกันสร้างพระพุทธรูปไว้ประจำในถ้ำ 1 องค์ และระฆังใหญ่ 1 ใบ มีน้ำหนัก 200 กิโลกรัม ที่ระฆังได้สลักชื่อเป็นภาษาขอมเพื่อให้คนรุ่นหลังได้อ่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 มีพระภิกษุ 2 รูป รูปหนึ่งมาจากวัดเจดีย์หลวงนามว่า "พระครูสังฆ์" อีกรูปหนึ่งมาจากวัดหอธรรมเชียงใหม่นามว่า "พระมหาหมื่น" (ปราชญ์แห่งล้านนาไทยในภาคพายัพ) ได้มาเที่ยวชมถ้ำหลวงเชียงดาว เมื่อได้อ่านและแปลภาษาขอมที่ระฆังจึงทราบว่า พระครูบาประธรรมปัญโย กับพ่อแสนปีละตำนาน ได้ช่วยกันสร้างไว้เป็นสมบัติของถ้ำหลวง

                                              จบตอนที่ ๑   ก่อนครับ คนอ่านจะได้ไม่เหนื่อย

                                                        อาจารย์เก

 

 

หมายเลขบันทึก: 228161เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2008 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท