มอบรางวัลผู้บริหารเงินทุนดีเด่น


มอบรางวัลผู้บริหารเงินทุนดีเด่น ประจำปี 2551

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ติดตามการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนหมุนเวียน และมอบรางวัลผู้บริหารเงินทุนดีเด่น ประจำปี 2551 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ณ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร

                                นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง
ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนราชการต่างๆ 95 ทุน และมีทรัพย์สินประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท โดย ร.ต.หญิงระนองรักษ์  สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้กรมบัญชีกลางพยายามผลักดันและหามาตรการเพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ สามารถบริหารงานของทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่รัฐได้สนับสนุนในเบื้องต้น หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีก็จะทำให้เงินที่ลงไปสูญเปล่าไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด แต่หากหน่วยงานใดสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ก็ควรมีการให้รางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจ สร้างความภาคภูมิใจและขวัญกำลังใจให้กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของทุนหมุนเวียนที่มีผลงานดีเด่น ตลอดจนเพื่อจูงใจและผลักดันให้ทุนหมุนเวียนต่างๆ พัฒนาการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนและผู้รับบริการของทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานต่อไป เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชน เป็นต้น

นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการติดตามประเมินผลได้มีการนำระบบการติดตามประเมินผล
ตามหลักการ
Balanced Scorecard : BSC และการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI)  มาใช้ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลมากำหนดระบบประเมินผลและติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียน รวมทั้งเสนอผลการประเมินผลต่อคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงาน
ทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาทุกปี และแจ้งผลการประเมินให้ส่วนราชการทราบ เพื่อจะได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น
ในปี 2551 เป็นปีแรก มีเงินทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบประเมินผล จำนวน 67 ทุน โดยเกณฑ์การประเมินฯ จะพิจารณาจากผลการดำเนินงานในภาพรวมดีกว่าเป้าหมาย ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ที่สามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย สอดคล้องและรองรับนโยบายหลักของกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งแบ่งการพิจารณารางวัลเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น และรางวัลการพัฒนาดีเด่น ซึ่งมีทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลในวันนี้ทั้งหมด 12 ทุน โดยทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น 3 ทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  และกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี  ส่วนทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลชมเชย 3 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม   สำหรับรางวัลการพัฒนาดีเด่นมีทุนที่ได้รับรางวัล 3 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน  เงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชน และเงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง   และได้รับรางวัลชมเชย 3 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนโรงงานในอารักษ์ เงินทุนหมุนเวียนค่าธรรมเนียมผ่านทาง และเงินทุนหมุนเวียนโรงงานเภสัชกรรมทหาร   และภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผลงานของตัวแทนของทุนหมุนเวียน รวมทั้งเชิญผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่กำกับดูแลการดำเนินงาน
ทุนหมุนเวียนต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ประมาณ 700 คน

หมายเลขบันทึก: 228085เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2008 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท