Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

นางใบ๋ ลุงอ่อง : คนไร้สัญชาติแห่งแม่อาย ซึ่งป่วยเป็นโรคตา


กรณีศึกษาในงานวิจัย Health4Stateless ซึ่งทำในช่วง พ.ศ.๒๕๕๐ - ๒๕๕๑

โรงพยาบาลสวนดอกไม่ยอมให้นางใบ๋ ลุงอ๋อง คนไร้สัญชาติแห่งอำเภอแม่อาย ออกจากโรงพยาบาล เพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล : ข้อคิดจากเรื่องเก่าที่เล่าใหม่กันเรื่อยๆ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

---------------------------------------------------------------              

เมื่อวานนี้ (๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑) บุญ พงษ์มา ทนายความตีนเปล่าแห่งคลินิคแม่อาย และผู้ช่วยนักวิจัยของเราโทรมารายงานว่า หนึ่งในกรณีศึกษาของเรา "นางใบ๋  ลุงอ่อง" ป่วยไปขอรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสวนดอก เมื่อตรวจรักษาแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะขอเก็บค่ารักษาพยาบาล แต่นางใบ๋ไม่มี โรงพยาบาลเลยไม่ยอมให้ออกจากโรงพยาบาล นางใบ๋จึงโทรหาครอบครัวที่แม่อายเพื่อขอความช่วยเหลือ และครอบครัวได้โทรมาร้องขอความช่วยเหลือจากบุญ

นางใบ๋เป็นคนอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านร่มไทยหมู่ ๑๔  อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แม่ของนางใบ๋  มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่คลินิคแม่อาย ด้วยว่า นางใบ๋ประสบความไร้รัฐและความไร้สัญชาติ

ปัญหาสุขภาพของนางใบ๋ ก็คือ ตอนนี้ นางใบ๋ ลุงอ่องได้ไปรักษาตาอยู่ที่โรงพยาบาลสวนดอก  ชั้น ๙ แผนกตา  วิธีการรักษา  ก็คือ การเอายาหยอดตา การให้กินยา และการเย็บที่หนังตา เมื่อการรักษาพยาบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โรงพยาบาลสวนดอกบอกให้นางใบ๋กลับบ้านได้ แต่นางใบ๋จะต้องเอาเงินไปจ่ายค่ารักษาก่อน  

นางใบ๋ไม่มีเงิน   ทางโรงพยาบาลจึงให้นางใบ๋มานอนที่เตียงเสริม และยังออกจากโรงพยาบาลไม่ได้จนกว่าจะจัดการหนี้ค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลได้ก่อน

แล้วทำไมนางใบ๋ไม่มีเงิน ? คำตอบ ก็เพราะนางใบ๋ยากจน

แล้วทำไมไม่ใช้บัตรทอง ? คำตอบ ก็เพราะนางใบ๋ไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่อาจใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพ

แล้วนางใบ๋จะทำอย่างไรต่อไป ? คำตอบ ก็คือ นางใบ๋ก็คงต้อไปทำสัญญารับสภาพหนี้ค่าใช้จ่ายนี้กับโรงพยาบาล และนำเงินมาจ่ายเมื่อมีความสามารถที่จะจ่ายได้ และหากนางใบ๋ยังไม่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ โรงพยาบาลจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้เอง

แล้วโรงพยาบาลจะทำอย่างไร ? คำตอบ ก็คือ โรงพยาบาลควรจะต้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เงินสงเคราะห์ดังกล่าว หรือพยายามก่อตั้ง กองทุนชุมชนเพื่อสุขภาพ ซึ่งหลายที่ก็ทำกัน อาทิ โรงพยาบาลระนอง โรงพยาบาลสังขละบุรีในยุคหนึ่ง แต่ที่โรงพยาบาลต้องไม่ทำ ก็คือ การปฏิเสธที่จะรักษาพยาบาล

ถึงเวลาแล้วมังนะที่อาจารย์ชลฤทัยจะต้องสอนให้บุญเจรจากับโรงพยาบาลในเรื่องนี้ และถึงเวลาแล้วที่ อ.แหววและทีมวิจัย Health4Stateless ของ อ.ดรุณีจะต้องช่วย สวปก. ที่จะพัฒนา องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย

บุญฝากเบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายสงเคราะห์ของโรงพยาบาลสวนดอกไว้ค่ะ ๐๕๓-๙๔๕๖๕๙ และ ๐๕๓-๙๔๕๖๕๐  ทีมวิจัยควรจะต้องหาใครไปสัมภาษณ์ฝ่ายนี้แล้วค่ะ

เราตอบโจทย์วิจัยของเราแล้วว่า รัฐไทยควรมีระบบคิดเกี่ยวกับหลักประกันสำหรับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย การปฏิเสธสิทธินี้โดยสิ้นเชิง คงมิใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งในแง่มนุษยธรรมและกฎหมายที่ผูกพันรัฐไทย รัฐไทยควรจะยอมรับให้หลักประกันสุขภาพแก่มนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวบน

แต่การยอมรับที่จะให้หลักประกันสุขภาพในน้ำหนักเดียวกับคนสัญชาติไทยซึ่งอาศัยอยู่จริงในประเทศไทยที่กำลังดำเนินอยู่ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะความรับผิดชอบทางสังคมที่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ บางคน ก็อาจยังไม่เท่ากับคนสัญชาติไทยซึ่งอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย เราคงต้องคิดให้ออกถึง ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรับผิดชอบทางสังคมและคุณภาพของหลักประกันสุขภาพ

เอาใจช่วยพวกเราด้วย

หมายเลขบันทึก: 227580เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท