"โคลงราชสวัสดิ์ "หรือหลักปฏิบัติราชการ


"โคลงราชสวัสดิ์ "หรือหลักปฏิบัติราชการ

วันนี้สอนวิชา "งานวิจัยและวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา" มีวรรณกรรมในสมัยอยุธยา มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับหลักการปกครอง และเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ในสังคมไทยขณะนี้ จึงนำมาลงใน  blog http://gotoknow.org

"โคลงราชสวัสดิ์ "หรือหลักปฏิบัติราชการ นับเป็นข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในการรับราชการ หรือในการทำงานได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นหลักธรรมที่ใช้สอยสำหรับข้าราชการในราชสำนัก ที่จะพึงปฏิบัติต่อพระราชาโดยตรงแต่ก็ย่อมจะนำมาประยุกต์ใช้กับหัวหน้างาน หรืออาจนำมาเป็นประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติราชการของเราได้ นอกจากนั้นหลักธรรมดังกล่าวนี้ ยังจะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ผู้ปฏิบัติมีเสน่ห์ เป็นที่พอใจรักใคร่แก่ผู้ร่วมงานทั่วไป ทั้งนี้ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้เป็นนักบริหารอยู่ก็ตามหลักการเหล่านี้มีดังนี้ คือ 

 1)เมื่อเข้ารับราชการใหม่ๆยังไม่มีชื่อเสียงและยังไม่มียศศักดิ์ ก็อย่ากล้าจนเกินพอดี และอย่าขลาดกลัวจนเสียงานราชการ

 2)ข้าราชการต้องไม่มักง่าย ไม่เลินเล่อเผลอสติ แต่ต้องมีความระมัดระวังให้ดีอยู่เสมอ ถ้าหัวหน้าทราบความประพฤติ สติปัญญา และความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ย่อมไว้วางใจและเผยความลับให้ทราบด้วย

 3)เมื่อหัวหน้าเรียกใช้ในงานราชการ อย่าหวั่นไหวไปด้วยอำนาจอคติ พึงปฏิบัติงานราชการให้สำเร็จไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดุจตราชูที่อยู่ในระดับเที่ยงตรง 

 4)เมื่อมีราชการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนก็ตามที เมื่อถูกเรียกใช้ พึงปฏิบัติในราชการนั้นๆให้สำเร็จสมประสงค์ ไม่พึงบิดพริ้วหรือหวั่นไหวไปตามอารมณ์

 5)ทางเดินที่เขาตกแต่งไว้เป็นพระราชวิถี แม้ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เดินด้วยก็ไม่ควรเดิน

 6)ไม่พึงใช้ของเสมอพระราชาหรือหัวหน้า ไม่บริโภคให้ทัดเทียมกับพระราชาหรือหัวหน้า พึงปฏิบัติให้ต่ำกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

 7) ไม่พึงใช้กิริยาท่วงทีวาจาอย่างตีเสมอกับพระราชาหรือหัวหน้า ต้องแสดงให้ต่างชั้นลงมา จึงจะชอบด้วยประเพณีนิยม และเป็นการรักษาตนให้พ้นราคีโทษ

 8)เมื่อพระราชาทรงกำลังสำราญอยู่ในหมู่อำมาตย์ มีพระสนมกำนัลเฝ้าแหนอยู่ ราชเสวกไม่พึงแสดงอาการทอดสนิทในพระสนมกำนัล ไม่พึงเป็นคนฟุ้งซ่าน แสดงอาการโอหังอย่างคะนองกาย คะนองวาจา ให้เสียมารยาทของข้าเฝ้า

 9)ไม่พึงเล่นหัวกับพระสนมกำนัล

 10)ไม่ปรึกษาราชการในที่ลับ

 11)ไม่พึงลักลอบเอาพระราชทรัพย์ออกจากพระคลังหลวง(ไม่คอรัปชั่น)

 12)ไม่พึงเห็นแก่หลับนอนจนแสดงอาการให้เห็นเป็นการเกียจคร้าน

 13)ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย

 14)ไม่พึงฆ่าสัตว์ที่ได้รับพระราชทานอภัย(สัตว์ที่ห้ามฆ่า)

 15)ไม่พึงทะนงตนว่าเป็นคนที่พระราชาหรือหัวหน้าโปรดปราน แล้วขึ้นร่วมพระแท่นบัลลังก์ เรื่อพระที่นั่ง หรือรถพระที่นั่ง

 16)ต้องรู้จักที่เฝ้าอันเหมาะสม อย่าให้ห่างหรือชิดเกินไป ต้องอยู่ในที่ซึ่งพระราชาจะทอดพระเนตรเห็นถนัด หรือฟังกระแสพระดำรัสได้โดยง่าย

 17)อย่าชะล่าใจในเมื่อพระราชาทรงกระทำพระองค์เป็นเพื่อน หรือเมื่อหัวหน้ากระทำตนเป็นเพื่อน

 18)เมื่อได้รับการยกย่องเชิดชูก็อย่าทะนงตัวอวดว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตและไม่ควรจ้วงจาบเพ็ดทูลพระราชา หรือเสนองานต่อหัวหน้า ในลักษณะที่เป็นการเย่อหยิ่ง ทะนงตน

 19)แม้ได้รับพระราชทานบรมราชานุญาติให้เข้านอกในได้ ก็ไม่ควรทอดสนิท แต่ควรขอพระบรมราชานุญาติก่อนทุกครั้งไป ให้มีสติดำรงตนเป็นคนรอบคอบเสมอ

 20)เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงยกย่องพระราชโอรส หรือพระราชวงศ์ โดยพระราชทานบ้าน นิคม รัฐ(นครรัฐ) หรือชนบทให้ครอบครอง ก็ควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรด่วนเพ็ดทูลคุณหรือโทษ

 21)เมื่อพระราชาหรือหัวหน้าจะบำเหน็จความชอบแก่ผู้ใด ไม่ควรทูลหรือเสนอขัดตัดลาภของผู้นั้น พึงรอบคอบสอบสวนให้ถ้วนถี่ มีจิตใจอ่อนโยนโอนไปในทางที่เหมาะที่ควร

 22)ข้าราชการต้องเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ได้ ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจของความอยากต้องทำตัวให้เหมือนปลา คือ ทำเป็นไม่มีลิ้น ไม่เจรจาหาเรื่องให้เกิดความขุ่นเคืองแก่หัวหน้าหรือเพื่อนข้าราชการด้วยกัน

 23)ไม่ใช้จ่ายเงินของแผ่นดินไปในทางฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย

 24)ต้องสอดส่องรักษางานราชการให้ดี อย่าให้ผิดระเบียบ ประเพณี และกฎหมายและต้องต่อสู้กับอุปสรรคข้อขัดข้องและเหตุขัดขวางเสมอ

 25)ต้องไม่มัวเมาในสตรีเพราะจะทำให้เสื่อมอำนาจ และเกิดราคีโทษในหน้าที่ราชการ

 26)ไม่ควรพูดมากเกินพอดี แต่ก็ไม่นิ่งเสียเรื่อยไป

 27)เมื่อถึงคราวที่ต้องพูด ให้พูดพอเหมาะพอควร และพูดอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจนและให้นิ่งเมื่อถึงคราวต้องนิ่ง

 28)ข้าราชการต้องอดทน ไม่ฉุนเฉียว ไม่โกรธง่าย และต้องไม่พูดหรือทำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย

 29)ต้องเป็นคนมีความสัตย์จริงต่อคำพูดของตนเสมอ พูดจาให้นิ่มนวลและสุภาพ ไม่ส่อเสียดยุยงให้เกิดความแตกสามัคคีกัน ไม่พึงกล่าวถ้อยคำที่เพ้อเจ่อ เหลวไหล ไร้ประโยชน์

 30)ข้าราชการต้องบำรุงเลี้ยงดูบิดามารดาให้ผาสุก เคารพนบนอบ และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูล

 31)ต้องละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อความผิด ไม่ประพฤติละเมิดศีลธรรมและเป็นมิตรที่ดีในครอบครัว

 32)ต้องมีระเบียบวินัยและมีมารยาทสุภาพงดงามอยู่เสมอ

 33)มีศิลปะในการปฏิบัติราชการให้ดำเนินไปโดยรวดเร็ว และสำเร็จผลดีเสมอ

 34)ต้องฝึกใจฝึกตนให้มั่นอยู่ในความดี มีอัธยาศัยอ่อนโยนไม่ถือตัวอวดดี ไม่หวั่นไหวไปตามโลก

 35)ต้องขยันขันแข็งในหน้าที่ราชการ

 36)ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาดในหน้าที่การงาน

 37)ให้เป็นคนเฉลียวฉลาด รู้จักฐานะอันควรและไม่ควร

 38)ต้องประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพยำเกรงในผู้ใหญ่เหนือตน ประพฤติตนมั่นอยู่ในความดี และมุ่งมั่นทำแต่ความดี

 39)ควรปลีกตนให้ห่างจากบุคคลที่พระราชาหรือประมุขของประเทศอื่นๆส่งมาสืบราชการลับ ให้จงรักภักดีแต่ในเจ้านายและพระราชาของตนเท่านั้น ไม่ฝักใฝ่ในราชสำนักอื่น

 40)ข้าราชการพึงใฝ่ใจเข้าไปหาสมณะและพราหมณ์ผู้ทรงศีล เป็นนักปราชญ์หรือรู้หลักนักปราชญ์ เพื่อรักษาศีล ฟังธรรมบ้าง บำรุงท่านบ้าง ศึกษาถ่ายทอดเอาความรู้จากท่านบ้าง

 41)ข้าราชการไม่ควรลบล้างราชประเพณีในการบริจาคทาน ควรรักษาไว้ให้มั่นคง เมื่อถึงคราวที่จะทรงบริจาคทานก็ไม่ต้องกีดกันประการใดๆทั้งสิ้น

 42)ข้าราชการต้องเป็นคนมีปัญญา มีความรู้ดี ฉลาดเฉลียว และเข้าใจในวิธีการทั่วๆไปได้เป็นอย่างดี รู้จักกาลสมัยที่ควรและไม่ควร

43)ข้าราชการต้องหมั่นขยันในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่เลินเล่อหละหลวม ต้องตรวจตราดูแลให้รอบคอบ ทำงานให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยครบถ้วนด้วยเสมอ

44)ไร่นาและปศุสัตว์ ข้าวในยุ้งฉาง ควรตรวจตราดูอยู่เป็นประจำ ตลอดจนการใช้จ่ายในครอบครัวก็พึงรู้จักกำหนดประมาณ

45)บุตรธิดาหรือพี่น้องที่ประพฤติไม่ดี ทำตนเหมือนคนตายแล้ว มีแต่คอยจะล้างผลาญ ก็ไม่ควรยกย่อง ส่วนทาสกรรมกรและคนใช้ที่ประพฤตดี มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานโดยสม่ำเสมอ ควรยกย่องชมเชยและควรให้ความอุปการะเลี้ยงดูอย่างดี

46)ข้าราชการต้องเป็นผู้มีศีลธรรมประจำตน มีความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ได้ ไม่เข้าข้างคนผิด เป็นคนซื่อตรงจงรักภักดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

47)ข้าราชการต้องรู้จักพระราชนิยม ความนิยมของเจ้านาย ปฏิบัติให้ต้องตามพระราชประสงค์ ไม่ฝ่าฝืนขืนขัดพระราชอัธยาศัยหรืออัธยาศัย

48)เวลาผลัดพระภูษาลงสรงพระสนาน ราชเสวกพึงก้มศรีษะลงชำระพระบาท แม้จะถูกกริ้วกราดจนถึงต้องลงพระอาญาก็ไม่พึงโกรธตอบ

49)ต้องสักการะบูชาพระราชา ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นยอดปราชญ์และเป็นผู้พระราชทานสมบัติอันถึงใจให้ทุกๆอย่าง 

 

หมายเลขบันทึก: 227312เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

"โคลงราชสวัสดิ์"    จักวิวัฒน์พัฒนา

ข้าราชการไทยได้ศึกษา     องค์ราชาชื่นพระหฤทัย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆอย่างนี้ครับ....

  • ตามคนข้างบนมาค่ะ
  • ได้ความรู้ ข้อมูลดี ๆ ค่ะ
  • บุตรธิดาหรือพี่น้องที่ประพฤติไม่ดี ทำตนเหมือนคนตายแล้ว มีแต่คอยจะล้างผลาญ ก็ไม่ควรยกย่อง
  • จริง ๆ ด้วยค่ะ เห็นด้วย
  • และมาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมครูตาลค่ะ

ขอบคุณนายวิโรจน์ พูลสุข ,รัชดาวัลย์ (ครูตาล), คนพลัดถิ่น~natachoei(หน้าตาเฉย)

ีที่่แวะมาอ่าน

ขอบคุณมากๆ ครับ ผม หามานานล่ะ

แต่ เวบอื่นๆ ก็ เหมือนๆ กัน + กับ

ข้อมูลมีนิดเดียว

สวัสดีครับ ?ฤฆธำส2(ผู้อ่าน)

ยินดีที่นำข้อมูลนี้ไปใช้

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

หนูจะต้องเอาไปใช้สอบค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอใ ห้ โ ชคดีใ นการสอบน่ะครับ ดอ กเอื้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท