โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (2)


...ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ข้าวพันธุ์โบราณไม่ยอมให้น้ำท่วมหรอก ต้นข้าวมีความสามารถที่จะปรับตัวเมื่อน้ำท่วม...
โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (1)

อารัมภบท 2 

สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นทำนา

        ท่ามกลางลมฟ้าลมฝนที่โหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วงในเดือนเก้า ปีระกา (เดือนกันยายน ๒๕๔๘) ที่ผ่านมา จนทำให้พื้นที่หลายชุมชนในสุพรรณบุรีมีน้ำมากหลากล้นและท่วมเอ่อเป็นน้ำท่วมทุ่ง

       รวมทั้งชุมชนของนักเรียนชาวนาด้วย ชุมชนที่น้ำท่วมอย่างหนักน่าจะเป็นที่บ้านดอน อู่ทอง ที่มีน้ำเจิ่งหนองไปทั่วบริเวณ ปกติหากเราๆท่านๆมายืนอยู่ริมถนนเส้นอู่ทอง ก็จะเห็นพื้นที่โล่งกว้าง...มองไปเถอะจนสุดลูกหูลูกตาเลย ในฤดูทำนาก็กลายเป็นทุ่งนาเต็มไปด้วยต้นข้าว ในฤดูแล้งทุ่งนาก็พอเห็นต้นข้าวจากผลพวงของการทำนาปรังของชาวนาทั่วไปหลายเจ้า หากแต่ในฤดูน้ำหลาก อาณาบริเวณล้วนกลายเป็นเวิ้งน้ำ

         แต่ยังถือว่าโชคดีที่บริเวณตัวชุมชนน้ำท่วมไม่ถึง อันที่จริงชื่อของบ้านก็บอกแล้วว่าบ้านดอน บรรพบุรุษเลือกตั้งบ้านสร้างเรือนอยู่บนที่ดอนตามชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ คงจะประเมินแล้วว่าอย่างไรเสียเมื่อน้ำหลากมาก็ต้องไหลท่วมไม่ในปีใดก็ในปีหนึ่ง และสำหรับในปีระกานี้ พื้นที่เรือกสวนไร่นาส่วนใหญ่ในที่ลุ่มและใกล้แหล่งน้ำ จึงรับน้ำไปอย่างเต็มๆ

  

ภาพที่ ๑ – ๒ สถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านดอน อู่ทอง

          น้ำท่วมทุ่งท่วมทางจนไม่มีที่จะจร ก็จำต้องเปลี่ยนยานพาหนะจากรถเป็นลงเรือแทน จึงทิ้งรถไว้ที่ริมถนน แล้วลงเรือไม้ หมายว่าจะไปดูนาข้าว

         เมื่อลงเรือแล้ว ก็บอกให้ไม่ได้ว่าตรงไหนเป็นนาของใคร เว้นแต่เล่าให้กันฟังว่าตรงนั้นมีต้นอะไร จะเป็นนาของใคร ส่วนนาของใครที่ไม่มีสัญลักษณ์ธรรมชาติใดๆอยู่ใกล้ๆ ก็จนใจจะเสาะหา เพราะตรงที่ไหนๆก็มีแต่น้ำ ท่วมลึกจนท่วมมิดหัวคนเลยทีเดียว สภาพอย่างนี้ก็มิมีความจำเป็นใดๆที่ต้องเสาะหาต้นข้าวกันแล้ว ข้าวในยุคนี้เป็นพันธุ์ใหม่ๆไม่สามารถลอยคอหนีน้ำได้ ซึ่งไม่

        ซึ่งไม่เหมือนข้าวพันธุ์โบราณที่สามารถลอยคอหนีน้ำได้ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าความให้ฟังว่าข้าวพันธุ์โบราณไม่ยอมให้น้ำท่วมหรอก ต้นข้าวมีความสามารถที่จะปรับตัวเมื่อน้ำท่วม แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้น

         พอดียังพอมีนักเรียนชาวนาที่ยังไหวตัวทันกับธรรมชาติ รีบถือเคียวลุยนาที่น้ำเริ่มหลาก เกี่ยวข้าวเขียวยังมิทันสุก เกี่ยวได้พอประมาณ ไม่มากสักเท่าใด รีบนำรวงข้าวมาตากยังลานกว้าง อาศัยแดดตากข้าว ข้าวที่พอเกี่ยวมาได้คงไม่สามารถหุงกินได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ข้าวเหล่านี้ “พอเป็นอาหารเลี้ยงหมูหมากาไก่ไปตามประสา” พูดแล้วก็หัวเราะเสียงดังให้กับความเหน็ดเหนื่อย...พลางบอกกับตนเองและคนที่ยืนอยู่รอบข้างว่า... “นี่แหละคนเป็นชาวนา” มือพลางเช็ดหยาดเหงื่อที่ไหลอาบแก้ม แล้วมือก็เลื่อนลงมาจับด้ามไม้เพื่อกระจายรวงข้าวแต่ละกองเล็กๆให้ได้กระจายไปทั่วลาน

       แต่ก็ไม่โชคดีกันทุกรายไปหรอก เพราะต้นข้าวหลายนานับพันไร่ได้น้ำท่วม ตั้งแต่เมื่อต้นข้าวกำลังจะออกรวง ท่วมก็คือท่วม ข้าวจมน้ำจึงเสียหายหมด ไม่ได้อะไรกลับคืนมา นี่แหละความเสี่ยงของชาวนากับเรื่องฟ้าฝน...ธรรมชาติ

   

ภาพที่ ๓ – ๔ สถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านดอน อู่ทอง

     นอกจากสภาวะน้ำท่วมที่บ้านดอนแล้ว เมื่อแวะจรมาดูที่วัดดาว บางปลาม้า น้ำก็ท่วมเช่นกัน แต่ไม่หนักหนาสาหัสเท่าบ้านดอน ทว่าได้ชื่อว่าน้ำท่วมแล้ว ก็ย่อมมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อเรือกสวนไร่นาอยู่พอสมควร

     น้ำท่วมที่วัดดาวเป็นการท่วมอย่างปกติตามฤดูกาล ซึ่งในอดีตก็ท่วมอยู่แล้ว ในรอบปีนี้ น้ำท่วมบริเวณที่ลุ่ม ท่วมทุ่งนาข้าวเวิ้งกว้างนับร้อยนับพันไร่ บางบริเวณก็ท่วมต้นข้าวเสียจนมิดเลย บางบริเวณก็ยังพอเห็นยอดเห็นรวงข้าวบ้าง

    ใครพอมีทุนหน่อย ก็ว่าจ้างผู้คนไปเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วม จ้างกันถึงวันละ ๒๐๐ บาทเชียว ก็ยังหาคนเกี่ยวไม่ค่อยจะได้ ข้าวออกรวงสุกเกือบได้ที่ เกี่ยวกันได้ก็นำมาตากไว้ริมขอบถนน ใครเดินทางไปวัดดาวในช่วงที่เกี่ยวข้าวแล้ว อย่างไรเสียก็จะเห็นถนนเป็นถนนข้าว ปกติจะนำข้าวมาตากบนถนน เสมือนเป็นลานตากข้าว เป็นถนนสารพัดประโยชน์

     

ภาพที่ ๕ – ๖ สถานการณ์น้ำท่วมที่วัดดาว บางปลาม้า

   

ภาพที่ ๗ – ๘ ตากข้าวริมขอบถนน วิถีชุมชนกสิกรรมวัดดาว  

     เล่าเรื่องน้ำท่วมไปแล้ว ๒ พื้นที่ ออกจะดูเศร้าสร้อยไปสักเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม แถวๆบ้านหนองแจง ดอนเจดีย์ น้ำไม่ท่วมเลย นักเรียนชาวนายังพูดเปรยๆกันว่า “อยากให้น้ำมาถึงหนองแจงบ้างจังเลย” เป็นที่รู้กันทั่วที่หนองแจงน้ำน้อยและแล้งพอดู

    ที่บ้านหนองแจงจะทำนาปีกัน เป็นนาน้ำฝน ไม่ได้มีคลองชลประทานเหมือนในชุมชนอื่นๆ ในปีนี้...พอมีบ่อน้ำให้เก็บกัก จะได้นำน้ำใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ หากยังพอจำกันได้ (จำกันได้ไหม) ว่าในปีที่ผ่านมา พอเข้าฤดูแล้ง ก็แล้งสมตามฤดู แต่น้ำใจคนที่บ้านหนองแจงบ่เคยแล้งเลย...ซิบอกให้

    ส่วนโรงเรียนชาวนานั้น ย้ายสถานที่จากเดิมนั่งเรียนกันในศาลาวัดก็เปลี่ยนสถานที่ ไปนั่งเรียนกลางทุ่ง ท่ามกลางทุ่งนา สายลม แสงแดด พอลมพัดผ่านมาคราวใด...เย็นสบายกันเชียว แถมหลังคาโรงเรียนยังมุงหญ้าคาอีกด้วย สมกับชื่อโรงเรียนชาวนาจริงๆ

   

ภาพที่ ๙ – ๑๐ สภาพแวดล้อมที่บ้านหนองแจง ดอนเจดีย์

    และส่วนอีกพื้นที่หนึ่ง บ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนั้น ระบบน้ำคลองชลประทานดีเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่ามีน้ำท่วมบ้าง แต่ข้าวไม่ค่อยจะได้รับความเสียหายสักเท่าไหร่ ก็เป็นโชคดีของนักเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ไป

  

ภาพที่ ๑๑ – ๑๒ สภาพแวดล้อมที่บ้านโพธิ์ ลุ่มบัว อำเภอเมือง

     ทราบข่าวมาว่า เมื่อตอนเดือนเก้าฝนเข้านาหนักหน่วง จนน้ำในนาข้าวดำใหม่ๆมีระดับสูงจะท่วมต้นกล้า นักเรียนชาวนาลุ่มบัวนั้นรักข้าวในนามากๆ ลงทุนลงแรงสูบน้ำออกจากนา กลัวต้นกล้าดำใหม่จะเสียหาย เล่นเอากระเป๋าเจ้าของนาฉีก...หมดค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำไปเพียบ นี่แหละหนา...นักเรียนชาวนารักข้าวยิ่งกว่าอะไร

    จากข้อมูลข้างต้น พอจะแสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมท้องถิ่นต่างๆทั้ง ๔ พื้นที่ ล้วนมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ และสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศ เมื่อถึงฤดูฝนก็มีฝนตกจนน้ำหลาก ครั้นถึงฤดูแล้งพื้นดินก็แห้งแตกระแหง เหตุการณ์อย่างนี้เสมือนเป็นการย้ำเตือนเราๆท่านๆว่า วิถีชุมชนกสิกรรมและการดำรงอยู่ของชาวนาไทยยังคงต้องการพึ่งธรรมชาติ และในเมื่อต้องพึ่งพิงฟ้าพึ่งพาฝนแล้ว ก็ต้องคอยปรับตัวกับธรรมชาติ บวกกับการปรับตัวไปตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป...อย่างรู้เท่าทันด้วย

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนชาวนา
หมายเลขบันทึก: 22723เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2006 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท