มีนิสิตแพทย์เป็นนางสาวไทย...มันผิดตรงไหน


ประกวดนางงาม หรือประกวดนางฉลาด

ความเห็นของสังคมจากข่าวนิสิตแพทย์จุฬาฯ ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย ดูจะแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายหลายพวก มีทั้งพวกที่ชื่นชม และพวกที่เห็นตรงกันข้าม

ประเด็นที่อยากจะบันทึกไว้นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ความสวยมากหรือ สวยน้อยกว่ารองอันดับหนึ่ง แต่อยากจะให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับประเด็น ปฏิกริยาของสังคม (จากความเห็นในกระทู้ต่างๆ) ที่มีต่อนางสาวไทยที่เป็นนิสิตแพทย์

ประเด็นแรก ผมเห็นว่า สังคมของเรามองวิชาชีพแพทย์ว่า มีหน้าที่เฉพาะ และอยากเก็บหมอ เอาไว้รักษาคนไทย มากกว่าทำอย่างอื่น เมื่อได้เห็นหมอออกมาทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ก็มักจะได้รับคำค่อนขอดว่า ทำไมทำงานที่ตัวเองควรจะทำ ไม่ใช่แค่ในวงการนางงาม หรือวงการบันเทิง แต่หมายรวมไปถึงวงการการเมืองด้วย

ลองคิดดูเล่นๆ ว่าความรู้สึกของคนในสังคมจะเหมือนกันไหม ถ้านางสาวไทยเป็นนิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ในวิชาชีพอื่นๆ เช่น มีนักศึกษานิติศาสตร์ เป็นนางงาม, มีนิสิตสถาปัตย์ เป็นนางสาวไทย, มีนักศึกษาวิศวะฯ เป็นมิสทีน, มีนักศึกษาพยาบาล เป็นมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ฯลฯ ผมว่าคำตอบคือ ไม่เหมือนกัน

สังคมดูจะสนใจ "ความเป็นหมอ" มากกว่า ความเป็นวิชาชีพอื่นๆ แม้ว่าวิชาชีพอื่นๆ อย่าง วิศวกร, สถาปนิก หรือแม้แต่พยาบาล เขาก็สำคัญในการช่วยเหลือ และรักษาชีวิตคนมากพอๆ กับหมอเหมือนกัน แต่ทำไม ความเป็นหมอถึงสะกิดใจผู้คนได้มากกว่า

อยากอ้างถึงบทความของ อ.หมอประเวศ วะสี เมื่อหลายปีก่อน ท่านมองว่า ในสังคมไทยนั้น พระ ครู และหมอ มีสถานะพิเศษ ที่แยกออกไปจากกลุ่มคนอื่นๆ

ลองเอามาเทียบกับสถานการณ์การประกวดนางงามดูก็เห็นจริงตามที่ท่านเขียน ผมเชื่อว่า ถ้ามีนิสิตครุศาสตร์ ได้เป็นนางสาวไทย สังคมคงมองด้วยความรู้สึกที่ต่างไปจากวิชาชีพอื่นๆ เช่นกัน

ในสายตาของผู้วิพากษ์ในเวปบอร์ด นางสาวไทยคนใหม่นี้ "ความเป็นนักศึกษาแพทย์" เป็นทุนประเภทหนึ่งที่ยกระดับเธอให้ต่างจากคนอื่นๆ แค่นั้นยังไม่พอ เธอเป็น นิสิตแพทย์+จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นทุนทางสังคมสองเด้งที่หนุนให้เธอได้ตำแหน่ง ไม่ใช่เพราะความงามของเธอ

ผมชอบที่เขาเขียนว่า "นี่มันประกวดนางงามนะยะ ไม่ใช่ประกวดนางฉลาด"

หากจะเทียบเคียงการประกวดนางสาวไทยกับการแข่งขันอย่างอื่นๆ ผมเห็นว่ามันน่าจะใกล้เคียงกับการแข่งยิมนาสติกลีลา มากที่สุด กล่าวคือ ผู้เข้าแข่งต้องมีการฝึกฝนการแสดงออกทางร่างกาย สีหน้า ท่วงท่า ให้เข้ากับเกณฑ์การให้คะแนนของกรรมการซึ่งเป็นคน ไม่ใช่เครื่องมือวัด ไม่ใช่เครื่องจักร การประกวดนางสาวไทย ก็เหมือนเกมส์การแข่งขัน มีกติกาของมัน คนเข้าประกวดก็ต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตาม สตรีที่สวย ฉลาด และแสนดีที่สุดในประเทศ ไม่มีทางได้เป็นนางสาวไทย หากไม่ได้ปฏิบัติตามไวยากรณ์ของการประกวด ไวยากรณ์ของการประกวดนี้ ดึงดูดสตรีที่มีรสนิยมแบบหนึ่งเข้ามาสู่การประกวด เวทีแล้วเวทีเล่า จนกว่าจะทรุดโทรมลงตามกาล ในขณะที่อีกหลายกลุ่มที่ไม่มีรสนิยมแบบนี้ ก็ไม่มีความรู้สึกรู้สาอะไรกับการประกวดนางงาม

หากมองในแง่นี้ รสนิยมของสตรีคนหนึ่ง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการที่เธอจะเป็นนิสิตแพทย์ หรือไม่เป็น เธอจะจุฬาฯ หรือไม่จุฬาฯ ถ้าเรามีนักศึกษาแพทย์เป็นนักกีฬาเหรียญทองยิมนาสติก เราจะเดือดร้อนอะไรไหมครับ

 

ผมอยู่ที่ออสเตรเลียได้สองสามปีแล้ว สังเกตได้ว่าการประกวดนางงามออสเตรเลีย ไม่เคยเป็นข่าวใหญ่เลย ผมเชื่อว่า คนที่นี่มองการประกวดว่าเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มที่มีรสนิยมในแบบนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เป็นตัวแทนของชาติ กลุ่มสุภาพสตรีที่ชอบประกวดนางงาม ในสายตาของสังคมนั้นมองเขาเป็นกลุ่มเฉพาะ เหมือนๆ กับกลุ่มที่ชอบเต้นลีลาศบอลรูม, กลุ่มที่ชอบประกวดเพาะกาย, กลุ่มชอบขี่มอเตอร์ไซค์ชอบเปอร์, เหมือนกับกลุ่มชอบสะสมของเล่นโบราณ ฯลฯ

คนออสเตรเลียมองว่า นางสาวออสเตรเลีย ไม่ใช่ตัวแทนของสตรีออสเตรเลียทั้งชาติ ไปประกวดนางงามจักรวาล (ขณะที่คำประกาศในการประกวดนางสาวไทยทุกปีคือ "ขอเชิญมาประกวด เพื่อเป็นตัวแทนสาวไทยไปเวทีนางงามจักรวาล") แต่เป็นตัวแทนของ "สตรี ที่มีรสนิยมแบบหนึ่ง" ซึ่งไม่ใช่สตรีออสเตรเลียทั้งหมด ผมว่าหากสังคมเราปรับวิธีคิดบ้าง คงจะตัดปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีของชาติไปเยอะทีเดียว เพราะนางสาวไทย จริงๆ แล้วก็ ไม่ใช่ตัวแทนของสาวไทย ไม่ใช่ผู้หญิงที่สวย ฉลาด และแสนดี ที่สุดในประเทศสยาม

 

 

หมายเลขบันทึก: 227203เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่  คุณหมอเบิร์ด (จำปี พ. ศ.  ไม่ได้) ซึ่งจบแพทย์ขอนแก่น  เป็นคุณหมอเต็มตัวแล้ว

เข้าประกวด  ได้รับการคัดเลือก

รู้สึกว่า ปีนั้น  กระแสวิพากษ์  จะแรงกว่านี้  ด้วยนะค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม  เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า  เป็นความชอบส่วนบุคคลค่ะ 

แต่บางครั้งก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยหรือเปล่า

สวัสดีครับ พี่กระติก

ขอบพระคุณที่กรุณาให้ความเห็นนะครับ

ประเด็นเรื่อง "เหมาะสม" ก็น่าสนใจครับ

หมอก็คน นักเรียนแพทย์ก็คน

อยากจะเป็นนางงามมันผิดตรงไหนเนาะ?

ก็หน้าตาใช้ได้ ตอบคำถามฉลาด

จะไม่ให้เป็นนางงามเพราะว่าเป็นนิสิตแพทย์ เด๋วสังคมวิจารณ์อีก

ก็ไม่ควร

ถ้างั้นต้องห้ามตั้งแต่สมัครเลยห้ามนิสิตแพทย์, นิสิตครู, ฯลฯ

หรือถ้าจะประกวดนางงาม

ก็มายืน ๆ ไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องตอบคำถาม ดูหน้าตารูปร่างก็พอ

===

เขียน comment ซะร้อนฉ่า จริง ๆ เห็นด้วยกับคุณหมอครับ สังคมไทยเดี๋ยวนี้แปลก ๆ งง ๆ ชักกล :>

ยินดีที่ได้รู้จักคุณหมอครับ

กระบวนการความคิดของคนในสังคมไทย ถือเป็น สังคมเฉพาะ ซึ่งบ่มวิธีคิด ระเบียบปฎิบัติกันมานานแสนนาน น่าจะเรียกว่า "พลวัตทางสังคม" ได้

หลายคนหาและใส่ "กรอบคิด" หลายคนถอด "กรอบคิด" จึงคิดได้ดังนั้น และจึงคิดต่าง

ขอบคุณครับ :)

ความสวย..สวยแล้วก็ต้องเหมาะสมถึงจะได้ชื่อว่าสวยจริงๆ

มีนิสิตแพทย์เป็นนางสาวไทย...มันผิดตรงไหน นั่นนะสิ..ผิดด้วยหรือ

สวัสดีครับคุณ AjKae, คุณ Wasawat, และคุณอรุณรัตน์,

ขอบพระคุณที่กรุณาให้ความเห็นนะครับ

หากจะคุยกันเรื่อง "ความเหมาะสม" กันต่อ ก็คุยได้ยาวครับ

"พฤติกรรมที่เหมาะสม" นี่แปลกนะครับ คือมันเป็นพฤติกรรมที่ไม่ผิดกฎ ระเบียบ แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ

เพราะถ้าทำแล้วจะดูไม่งาม ที่สำคัญคือ ความเหมาะสมนี้ สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น บางกลุ่มทำได้ ไม่แปลก และเหมาะสมดี

พ่อของผมเคยเล่าให้ฟังว่า ในธรรมเนียมปฏิบัติของคนที่ทำงานเป็นผู้พิพากษานั้น การซ้อนท้ายจักรยานยนต์ ถือว่าเป็นการกระทำที่ "ไม่เหมาะสม"

หมอ กับครู ดูเหมือนจะถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวอย่างด้านศีลธรรม และความคงเส้นคงวา ให้กับคนรอบข้างครับ พูดง่ายๆ เราไม่คุ้นชินกับ หมอ และครู ที่ดูแปลก หรือมีพฤติกรรมที่คนที่มีรสนิยมพิเศษเฉพาะกลุ่มอื่นๆ เขาทำกัน

หากจะไล่ดูจริงๆ มีเยอะนะครับ

เช่น เราไม่คาดหวังให้หมอหรือครู สักลายตามร่างกาย, เจาะจมูก, ไว้หนวดเครายาว, ย้อมผมเป็นสีแปลกๆ, ตีไก่, เล่นพระเครื่อง, สูบบุหรี่ ดื่มสุรา, ขายประกัน, ขายผลิตภัณฑ์ MLM แม้แต่การเข้าร่วมประกวดนางงาม ฯลฯ

ผมมองว่า "ความเหมาะสม" นี้เปลี่ยนไปตามกาล และค่านิยมของสังคมครับ

พฤติกรรมของนักการเมืองที่ในบ้านเราเห็นว่าไม่แปลกประหลาดอะไร เป็นที่ยอมรับ เห็นกันทุกวัน กลับเป็นพฤติกรรมที่ต่ำช้า และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งหากมาปฏิบัติในสังคมตะวันตก

ในขณะที่นิสิตแพทย์ประกวดนางงาม ในสังคมตะวันตกอาจเห็นว่า ไม่แปลกอะไร แต่บ้านเราเห็นว่า ไม่เหมาะสม

ประเด็นที่ผมพยายามจะบอก ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมหรือ ไม่เหมาะสมที่นิสิตแพทย์จะเป็นนางสาวไทย

แต่ผมพยายามจะบอกว่า เก็บเรื่องการประกวดนางสาวไทยให้คนที่อยู่ในวงการนี้เขาสนุกกันของเขาไป อย่าไปไปให้คุณค่ากับการประกวดนางสาวไทยมาก จนเหมือนกับว่ามันคือกิจกรรมสำคัญของชาติ อยากให้มองมันเป็นแค่กิจกรรมการแข่งขันประเภทหนึ่ง ที่มีให้ดูกันปีละครั้ง มีคนแพ้ มีคนชนะ เพียงแต่คนชนะนั้นมีสิทธิชนะได้ครั้งเดียว กลับมาแข่งใหม่ปีหน้าไม่ได้

ย้อนกลับมาเรื่อง หมอ กับ ครู อีก คราวนี้เป็นเรื่องนินทาหมอ กับครูครับ

ว่ากัน ว่า กลุ่มคนที่พูดยากที่สุด สอนยากที่สุด หัวดื้อที่สุด เปลี่ยนแปลง และยอมรับอะไรยากที่สุด มีสามกลุ่ม

กลุ่มแรกคือ ครู

ยากขึ้นมาอีก คือ หมอ

และยากทีสุด ดื้อที่สุด คือ ครูหมอ

ชอบกลุ่มคนหัวดื้อครับ อิ อิ ... เห็นจะจริงแท้แล้วล่ะครับ

ขอบคุณครับ :)

ยากทีสุด ดื้อที่สุด คือ ครูหมอ อิอิชอบจังเลย

แต่วงการครูบอกว่าพูดยากที่สุดหัวดื้อที่สุดก็คือครูของครู(ศึกษานิเทศก์) ฮา...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท