Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๐)_๒


       ด้านโรงพยาบาลชุมแสง ระบุว่าหลังจากมาเรียนรู้กับสสจ. นครสวรรค์เรื่องการจัดการความรู้แล้ว    จึงได้นำทักษะการจัดการความรู้ไปถ่ายทอดให้หัวหน้างานทุกหน่วยงานรับทราบร่วมกัน นำการจัดการ  ความรู้ไปแทรกอยู่กับทุกหน่วยงาน  และยอมรับว่าในอดีต (PCT) ของโรงพยาบาลอ่อนแอมาก แต่ปรากฎว่าหลังจากมีการจัดระบบใหม่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และได้นำการจัดการความรู้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยครบ วงจรกระทั่งถึงระดับชุมชน ปรากฎว่าสามารถลดปัญหาการเจ็บป่วยซ้ำซ้อนได้มาก และยังใช้เทคนิคการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ร่วมกับเวทีคุณภาพของโรงพยาบาลชุมแสง ซึ่งทำให้ทักษะการเป็นคุณอำนวยของ       หัวหน้าทุกคนดีขึ้น สามารถเชื่อมโยงความรู้และการปฏิบัติงานให้มีความเข้าใจ เชื่อมโยงกันได้หมด เมื่อก่อนเราทำ HA ,HPH ไม่มีความสุข แต่เมื่อมีการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) เข้ามาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงระบบงานคุณภาพพวกเราก็มีความสุขมากขึ้น
         โรงพยาบาลหนองบัว  หลังจากที่ได้อบรมแนวทางการจัดการความรู้จากจังหวัดแล้ว คุณอำนวยจึงได้นำแนวคิดการจัดการความรู้มาถ่ายทอดให้กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันโดย    เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเป็นวิทยากรกันเอง สำหรับเรื่องเบาหวานนั้น โรงพยาบาลหนองบัวได้นำเทคนิคการเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและง่ายต่อการสืบค้น เปรียบเทียบเพื่อการรักษาที่แม่นยำ มีการพัฒนาระบบฐาน    ข้อมูลผู้ป่วย  ประวัติครอบครัวด้วยคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญได้นำแบบอย่างที่ดีของโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เริ่มมีการตรวจภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานจากผู้ป่วยรายใหม่ได้ โดยไม่ต้องรอคำสั่งแพทย์
         โรงพยาบาลโกรกพระ     ซึ่งช่วงที่ สสจ.นครสวรรค์     นำกระบวนการจัดการความรู้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ อยู่นั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ รพ.โกรกพระ ดำเนินโครงการร่วมมือร่วมใจพิชิตโรคเบาหวาน   จึงได้นำการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในโครงการฯ  โดยได้ให้ผู้ป่วยเบาหวานและญาติที่มีประสบการณ์การดูแลตัวเองได้ดีมาเล่าว่าทำอย่างไร ระดับน้ำตาลจึงลด ทำอย่างไรแผลเรื้อรังจึงหายโดยไม่ต้องตัดขา ซึ่งได้      คลังความรู้มาจำนวนมาก จึงได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำตัวอย่างที่ดีไปปฏิบัติจริง และจะนัดพบกันอีกทุกๆ       1 เดือน
         โรงพยาบาลแม่วงก์   ซึ่งในระยะเริ่มต้นโครงการเครือข่ายการเรียนรู้จ.นครสวรรค์นั้น เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแม่วงก์ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการใหม่ แต่ก็ได้มาเรียนรู้เรื่องการนำการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โดยยอมรับว่าในช่วงแรกได้นำคลังความรู้จากเรื่องเล่าไปทดลองปฏิบัติจริงในโรงพยาบาล แต่พบปัญหาว่า ผู้ป่วยไม่ยอมรับ และไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากผู้นำความรู้ไปใช้ไม่ได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ จึงเปรียบเสมือนกันบังคับใช้ และไม่ยอมรับวิธีการ ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดการเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ความรู้ที่ได้ต้องนำมาปรับใช้ และต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย
          โรงพยาบาลตาคลี  ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่าย จ.นครสวรรค์มาใช้ 9 ประเด็นคือ 1.การจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลก ให้ผู้ป่วยเบาหวานมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และให้รางวัลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีตลอดทั้งปี 2. ผู้ป่วยที่มีปัญหา Hypoglycemia /Hyperglycemia จัดกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้  3.จัดกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยทีมสหสาขาที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน ในชุมชน รวบรวมความรู้ที่ได้เป็นคลังความรู้ 4.วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานทุกรายที่นอนโรงพยาบาล 5.จัดเจ้าหน้าที่ที่เป็นเบาหวานให้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ป่วย 6. จัดทำ Flow chart การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่แผนกผู้ป่วยนอก     ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน และแผนกผู้ป่วยใน 7.ทบทวน CCCTHER โดยสหสาขาวิชาชีพ และครอบครัวของ       ผู้ป่วย 8.รวบรวมคลังความรู้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่นวารสาร ตำรา 9. กำหนดเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องติดตามดูแลรักษาที่บ้าน
         นอกจากนี้รพ.ตาคลียังได้นำแนวทางการจัดการความรู้ลงสู่ศูนย์สุขภาพชุมชน ในอ.ตาคลีจำนวน 15 แห่ง ในเรื่องการให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์ ในกรณีที่ระดับน้ำตาลมากกว่า 180 mg/di ติดต่อกันเกิด 2 ครั้งให้ส่งพบแพทย์ที่โรงพยาบาล  2.ส่งผู้ป่วยเบาหวานตรวจสุขภาพที่รพ.ปีละ 1 ครั้ง         3.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลกร่วมกัน รพ.ตาคลี ทั้งนี้ให้ผอ.ศูนย์สุขภาพมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วย

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
         สำหรับการทำกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลทั้ง 15 แห่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำกลุ่มผู้ป่วยในระดับจังหวัด แต่ละโรงพยาบาลก็ได้มีการนำไปใช้และปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นตามความเหมาะสม ซึ่งโครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้สู่สังคม จะยกตัวอย่างวิธีการทำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโรงพยาบาล 2 แห่งคือ โรงพยาบาลตาคลี และโรงพยาบาลพยุหะคีรี
         กรณีโรงพยาบาลตาคลีทุกเช้าวันพุธ และวันพฤหัสบดี จะมีการทำคลินิคผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการบริการประมาณวันละ 100 คน แต่ละวันผู้ป่วยจะเริ่มตรวจเลือดตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น.ซึ่งระหว่างการรอผลเลือดนี้ ผู้ป่วยก็จะต่อคิวกันชั่งน้ำหนัก และวัดความดัน จากนั้นนักกายภาพบำบัดก็จะมาสาธิต การออกกำลังให้ผู้ป่วยโดยจะไม่เพียงแต่จะเน้นที่ท่าทางเท่านั้น แต่จะพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความสุข และยิ้มแย้มระหว่างการทำกายภาพบำบัด เสร็จสิ้นกระบวนการนี้ ผลเลือดก็ออกพอดี ซึ่งพยาบาลจะเรียกผู้ที่มีผลเลือดสูงในระดับอันตรายและสูงขึ้นกว่าเดิมมาทำกระบวนการกลุ่ม
         โดยให้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการดูแลตนเองและการควบคุมน้ำตาล กับผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี ซึ่งบางครั้งไม่สะดวกก็จะหาญาติผู้ป่วย หรือ ญาติของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่มีการดูแลตัวเองได้ดีมาเป็นผู้ให้ความรู้ ซึ่งบรรยากาศการแลกเปลี่ยนตรงนี้ ผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี ก็จะเล่าว่าตนมีพฤติกรรมในการทานอาหารอย่างไร ทานยาอย่างไร ทำไมระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นแล้วก็ช่วยกันวิเคราะห์กัน และช่วยกันหาทางออก ซึ่งไม่เฉพาะผู้ที่ดูแลตัวเองได้ดีเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ความรู้ แต่ระหว่างกระบวนการกลุ่มพบว่าผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลสูงและควบคุมไม่ดี ก็สามารถมีข้อคิด และวิธีการดีๆ พร้อมทั้งช่วยวิเคระห์ความรู้ในกลุ่มได้ ซึ่งหลังจากเสร็จกระบวนการนี้ พยาบาล เภสัช นักโภชนาการและนักกายภาพบำบัด ก็จะสรุปเป็นความรู้ให้ผู้ป่วยฟังเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง
         ส่วนโรงพยาบาลพยุหะคีรี "คลินิกเบาหวาน" ทุกวันพฤหัส และ ศุกร์  เวลาประมาณ  07.00 น.  คนไข้จะตรวจเลือด วัดความดัน ประมาณ 100 คน (โดยมีการทำทะเบียนติดตามผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัด ด้วย)  ระหว่างรอผลเลือดและความดัน จะมีนักกายภาพบำบัด นำออกกายบริหาร  รำไม้กระบอง  (แล้วแต่คนไข้สมัครใจ) พร้อมจัดข้าวต้มและน้ำสมุนไพรให้ทานตอนเช้า เป็นการบอกทางอ้อมเรื่องการดูแลสุขภาพ   เมื่อผลเลือดออก แล้วพยาบาล ก็จะเลือกให้คนไข้ที่ผลตรวจน้ำตาลลดลง หรือมีสุขภาพดีขึ้น มาเล่าให้เพื่อนๆ คนไข้ รายอื่นๆ ฟังว่ามีการปฏิบัติบัติตัวอย่างไร จากนั้นพยาบาล จะคอยสรุปความรู้หรือตีความจากเรื่องเล่าเป็นความรู้ที่คนไข้สามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนบรรยากาศมีความสนุกสนานเป็นกันเอง
         อีกกลุ่มซึ่งเป็นผู้ป่วยใหม่ ที่มีระดับน้ำตาลสูงขึ้น หรือลดลง พยาบาลจะขานชื่อให้มาทำกลุ่มย่อย  (Group therapy)  คนที่ถูกคัดเลือกแล้วจะออกไปรวมกลุ่มนั่งล้อมวงเล็กๆ ที่ลานออกกำลังกายอีกที   มีพยาบาลทำกลุ่มเบาหวาน มาเป็น "คุณอำนวย" กลุ่ม คอยกระตุ้นให้คนที่มีสุขภาพดีขึ้นเล่าว่าทำอย่างไร แล้วสรุปให้กลุ่มฟังอีกที  นอกจากนี้ยังคอยถามถึงเรื่องทั่วไป เกี่ยวกับชีวิตและครอบครัว เป็นเหมือนทำ "จิตบำบัด" ด้วย บางคนเล่าไปก็ลุกขึ้นมาออกท่าทางบริหารร่างกายให้ดู กิจกรรมนี้เมื่อทำหลายๆครั้งซ้ำๆ หรือนานเข้า ผู้ป่วยจะเกิดความคุ้นเคย เริ่มยอมเล่าความจริงที่บางคนปกปิด เช่น ทานอาหารหวาน ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารมากถึง 5 มื้อ ก็เริ่มกล้าพูดมากขึ้น
         นอกจากนี้ผู้ป่วยในกลุ่มจะไปคุยต่อที่ ทีมคัดกรองผู้ป่วย ทีมมีประมาณ 5 คน รับผิดชอบ 8 หมู่บ้าน  ลงไปคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่โดยมีอาสาสมัครหมู่บ้านช่วย  จะแบ่งทีมไปคราวละ 2-3 คน เพื่อคัดกรองผู้ป่วย ผู้เสี่ยง เบาหวาน, ความดัน, มะเร็งเต้านม ตามหมู่บ้านก่อนแล้วค่อยคัดผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยงมาตรวจอีกครั้งที่ รพ.  ซึ่งทีมคัดกรองทั้งหมดเมื่อลงไปทำงาน ก็จะกลับมาเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ปัญหา และเทคนิคการแก้ให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ไปด้วยฟัง เป็นการถ่ายทอดความรู้ไปด้วย  นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมสัญจร กับ อสม. ทุกวันที่ 20 ของเดือน (ให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแก้ปัญหากัน) ความสำเร็จที่ทีมได้ คือ รพ. สามารถคัดกรองผู้ป่วย ได้เปอร์เซ็นตสูงเกิน 90 % ในหลายๆ โรค ซึ่งถือว่าเป็น Best Practice ให้ รพ. อื่นได้ดี
         จะเห็นได้ว่าเครือข่ายโรงพยาบาลนครสวรรค์ มีการเรียนรู้ถึง 2 ชั้นชั่นที่ 1 คือการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู ชั้นที่ 2 คือเรียนรู้จากงาน และนับได้ว่าเครือข่ายการเรียนรู้ 15 โรงพยาบาลจ.นครสวรรค์นี้ มีความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายกับ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ผ่านคุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ ซึ่งเป็น ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HKM) ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สคส. ได้นำประสบการณ์ตรงไปถ่ายทอดวิธีทำการจัดการความรู้ให้แก่เครือข่ายการจัดการความรู้นครสวรรค์ และที่สำคัญเครือข่ายนครสวรรค์เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เรียนรู้เร็ว อาศัยวิทยากรจากภายนอกเครือข่ายแนะนำ เรื่องการจัดการความรู้เพียง 3 ครั้ง ก็สามารถขับเคลื่อนเอง เป็นวิทยากรเอง และนำการจัดการความรู้ไปใช้ได้จริงทั้งเครือข่ายภายใต้บริบทที่เหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล เห็นถึงความแตกต่าง และหลากหลายของการนำความรู้ไปปรับใช้อย่างเข้าใจ

นางคชาภรณ์  เจียนิวัตต์
-หัวหน้างานพัฒนาบุคคลากร และการสาธารณสุขมูลฐาน จ.นครสวรรค์
-หัวหน้าโครงการการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ จ.นครสวรรค์
สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์  ถนนพหลโยธิน ต.นครสวรรค์ตก  อ.เมือง จ.นครสวรรค์  60000
โทร.056-232-001-6 ต่อ 114-115: mail Kacha_p
[email protected]
E :mail [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22697เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท