Liberal Arts Education หลักสูตร "สร้างคน" แบบบูรณาการ "ชีวิต"


ผู้เขียน : วินนี่ เดอะปุ๊ ----> ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เรามักได้ยินคำพูดที่ว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่มีใครแก่เกินจะเรียนรู้ เพราะความรู้อยู่รอบๆ ตัวเรามีทั้งในตำราและนอกตำรา

ยิ่งโลกมีความซับซ้อนและแบนระนาบ กลายเป็นโลกสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

จากความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ที่ว่าเราเรียนไปเพื่อทำงาน ถ้าเรียนไม่ลึกแล้วจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ทำให้เด็กมุ่งสนใจด้านเดียวตั้งแต่ชั้นมัธยม ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ อาจจะค้นพบตัวเองไม่ได้ว่าตัวเองสนใจอะไรกันแน่ จึงทำให้มีคำถามว่าแล้วระบบการศึกษาของไทยที่บังคับให้เด็กเลือกตั้งแต่ชั้นมัธยมเป็นเรื่องที่ดี/ไม่ดีอย่างไร และมีส่วนหรือไม่ที่ทำให้พื้นฐานของเด็กไทยคิดไม่เป็น

ระยะที่ผ่านมามีการพูดถึงการเรียนการสอนแบบ liberal arts education หรือเรียนศิลปศาสตร์มากขึ้น ซึ่งคำว่า "ศิลปศาสตร์" บางคนก็เข้าใจผิดว่าเป็นการเรียนการสอนทางด้านอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์

เพื่อให้เข้าใจการเรียนการสอนแบบนี้ว่าจริงแล้วคนที่เรียน liberal arts ได้อะไรบ้าง ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้หนึ่งเรียนด้านนี้มาและได้รับเชิญให้ไปพูดให้เหล่านักศึกษาและนักการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงหลักและกรอบแนวคิดของการเรียนการสอนแบบ liberal arts ขณะเดียวกันก็มีงานอดิเรกคือการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกๆ ของเพื่อนๆ และคนอื่นๆ เกี่ยวกับแนวทางการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ดร.ชัยวัฒน์แม้จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่ปัจจุบันซึ่งอยู่ในวัยเกษียณอายุแล้ว กลับมีความสุขกับงานทางด้านวรรณกรรม มีงานเขียนที่มีชื่อหลายเล่ม... ใช้ชื่อว่าวินนี่ เดอะปุ๊ และอีกหลายนามปากกาเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับมากมาย

ด้วยการเป็นนักอ่านจนลูกสาวบอกว่า "นั่นพ่ออ่านหรือดมหนังสือกันแน่จ๊ะ ทำไมเร็วจัง" คำว่า "ดมหนังสือ" จึงกลายเป็นศัพท์ประจำบ้าน เพื่ออธิบายถึงวิธีอ่านหนังสืออย่างรวดเร็วของพ่อ ดร.ชัยวัฒน์จึงมีลิ้นชักในสมองมากมายจัดเรียงไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนักเรื่องเบาสามารถเล่าได้อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย นั่นคือความรู้พื้นฐานที่ติดตัวมาจากการเรียน liberal arts ที่บูรณาการได้ในทุกๆ เรื่อง

ดร.ชัยวัฒน์อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า liberal arts education คืออะไร มันสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะให้การศึกษากับคนหรือเปล่า

"liberal arts education" ภาษาไทยคือศิลปศาสตร์ ตามความหมายคือเป็นการสอนให้คนรอบรู้ในหลายสาขาวิชา คนเรียนที่ศิลปศาสตร์ที่จะต้องมีความรู้ ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านมนุษยศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์


"The Association of American Colleges and Universities defines a truly Liberal education as one which "prepares people to live responsible, productive and creative lives in a dramatically changing world". It is an education that fosters a well-grounded intellectual resilience, a disposition towards lifelong learning and an acceptance of responsibility for the consequences of our ideas and actions."


 


พูดกันแค่นี้คนไทยโดยทั่วไปมักจะเข้าใจผิดกันว่า คำว่าศิลปศาสตร์คือมนุษยศาสตร์หรืออักษรศาสตร์กัน แต่ศิลปศาสตร์ที่แท้จริงคือคลุมทั้ง 3 ศาสตร์ และคนจะรอบรู้ทุกแขนงวิชา เพราะฉะนั้นปริญญาศิลปศาสตร์จะเป็น Bachelor of arts แม้แต่คนที่เรียนวิทยาศาสตร์ เช่นเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ก็จะได้ปริญญา BA เหมือนกัน เพียงแต่ไปดูในรายละเอียด จะรู้ว่าใครหนักสาขาด้านไหน

หลัก liberal arts ใน 2 ปีแรก การเรียนยังไม่ต้องแยกสาขาเมเจอร์ จะต้องเรียนกระจายให้ครบทั้ง 3 ด้าน และโดยทั่วไปด้านหนึ่งต้องให้รู้ 2 วิชา หลังจากนั้นปีที่ 3 ค่อยมาเลือกว่าจะเรียนเมเจอร์อะไร เพราะฉะนั้นเริ่มต้นจากกว้างแล้วค่อยไปลึกใน

ปี 3 ปี 4 แต่ว่าลึกในปี 3 ปี 4 ก็ยังมีวิชาให้เลือกเพิ่ม ใครที่ยังสนใจจะรอบรู้วิชาอื่นก็เรียนได้ ไม่เน้นว่าเราเรียนแล้วจะต้องรู้สาขาเดียว

การเรียนแบบนี้ทำให้คนบางคนวิจารณ์ว่าทำคนไม่รู้ลึกพอ แต่จริงๆ ไม่ใช่ มีทั้งกว้างและลึก และโรงเรียนที่สอน liberal arts จะแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปที่เน้นด้านวิชาชีพไปเลย เช่น โรงเรียนที่เข้าไปปั๊บก็แยกสาขาวิชา แบบของไทยเรา เป็นแพทย์ วิศวะ บัญชี ซึ่งมันเป็นทางเลือก การเรียนที่เน้นวิชาชีพก็มุ่งเน้นให้คนเรียนเอาไปทำงานได้ "แต่ liberal arts ไม่ใช่ เรียนแล้วให้คนมีความรู้พอเพียงที่จะไปทำงาน ขณะเดียวกันก็รอบรู้ในสิ่งรอบตัว เป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นคนที่ซาบซึ้ง มีสุนทรียภาพ มีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อไปหากเราจะต้องไปเจอสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากสาขาใดสาขาหนึ่ง เดี๋ยวนี้ของทุกสิ่งทุกอย่างมันข้ามศาสตร์ คาบเกี่ยวกันหมด หากเรามีความรอบรู้ มีพื้นฐาน เราก็มีความเข้าใจมัน สนุกกับมัน และเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต"

และที่ถามว่า เรียน liberal arts แล้วไม่มีความรู้มากพอที่จะทำงาน มันไม่จริง เพราะคนที่ไปทำงานในที่สุดแล้ว มันจะมีการฝึกงาน ไปเรียนรู้จากการทำงาน ความรู้มันเป็นพื้นฐานที่เราจะไปประยุกต์อีกที หากจะรู้ให้ลึกลงไปอีกก็ไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกสาขาต่างๆ ควบคู่กับการทำงานได้ มันมีช่องทางเยอะ

เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่เป็น liberal arts education ของอเมริกา คนที่เรียนที่นี่สามารถไปต่อเป็นหมอ เป็นวิศวะ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย เป็นสาขาวิชาชีพได้หมด เพราะเมืองนอกพวกโรงเรียนวิชาชีพอย่างแพทย์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย จะเป็นปริญญาโท เพราะฉะนั้นคนที่เรียน liberal arts ในปริญญาตรี ไปต่อปริญญาโทได้ และหลายโรงเรียนที่สอน liberal arts จะสอนโปรแกรมเตรียมแพทย์ด้วย โดยเรียน liberal arts กว้างหลายอย่างแต่มีความรู้พอเพียงที่จะไปต่อแพทย์ได้ เป็นต้น

พูดง่ายๆ เป็นการทำให้คนรู้ทั้งกว้างและลึก !!!

ถามว่าเหมาะกับสังคมปัจจุบันไหม เป็นเป้าหมายของการเรียนหนังสือหรือเปล่า เราต้องตั้งคำถามว่าเราจะให้คนเรียนไปเพื่ออะไร ถ้าไปคิดแคบสุดเพื่อทำงาน แน่นอนก็ไปเจาะสาขานั้นสาขานี้ แล้วทำงานอย่างเดียวก็ได้ แต่จะขาดอย่างอื่นอีกเยอะ liberal arts เรียนไปเพื่อให้มีความรู้พอเพียงที่จะทำงาน ขณะเดียวกันให้มีความเข้าใจในสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปในด้านต่างๆ และมีความสุนทรียภาพที่จะซาบซึ้งกับเรื่องต่างๆ ได้

ยิ่งยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ มีการติดต่อกับต่างชาติ และมีของใหม่ๆ มันก็ควรเป็นคนที่ทันสมัย ทันต่อโลก ทันเหตุการณ์ สามารถสื่อสารผ่านทางด้านไอทีได้ ของพวกนี้หากเราไปเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งลึกเพียงอย่างเดียว เราจะขาดเรื่องพวกนี้

จริงๆ ตอนนี้คนไทยอายุยืนมากขึ้น สังคมไทยต้องมองเรื่องนี้ พวกที่เกษียณอายุแล้วจะมีอายุยืนมากขึ้น จะต้องใช้ชีวิตอีก 10-15 ปี ถามว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรเพราะไม่ได้ทำงานแล้ว ตอนนั้นก็ต้องใช้ชีวิตอย่างสมดุลแล้ว คือต้องมีความสุขกับสิ่งรอบตัวได้

ถ้าเรามีความรู้ด้านต่างๆ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี กีฬา วรรณกรรม เป็นสิ่งเราจะหาความสุขใส่ตัวจากสิ่งรอบตัวได้ และเผอิญวัยผมถึงแล้ว และมีเพื่อนฝูงหลายคนตอนนี้ที่สับสนกับชีวิต เพราะไม่เคยเตรียมตัว ไม่เคยมีความสนใจอะไรเลย เพราะเก่งด้านเดียว สนใจด้านเดียว รู้ด้านเดียว ตอนนี้ก็ไม่ต้องใช้ความรู้นั้นทำงานแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ได้เตรียมตัวแบบนี้

liberal arts education เป็นการ

เตรียมตัวให้สามารถเรียนรู้และสนุกกับสิ่งที่รอบตัวเสมอ

และหลักสำคัญของ liberal arts ไม่ใช่เรียนในห้องเรียนเท่านั้น มันควรจะไปเรียนเพื่อที่จะเป็นเชื้อในการไปหาความรู้เพิ่มเติม และเดี๋ยวนี้

โลกเป็น learning society เรามีความรู้

เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ผ่านแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มีเยอะไปหมด

อย่างที่บอกว่าหากเรามีพื้นฐานเข้าใจว่าวรรณกรรมคืออะไร ดนตรีเป็นอย่างไร ศิลปะมันมีความหมายอย่างไง เราก็ใช้เวลายามว่างไปมีความสุขกับของแบบนี้ ชีวิตก็มีความสุข สมดุล เพราะชีวิตคนเราไม่ใช่ทำงานคร่ำเคร่งอย่างเดียว

คำถามว่าเมืองไทยเรา เราเลือกแนวไหน ???

ต้องยอมรับว่าเมืองไทยเลือกในแนวที่จะให้คนมีความเจาะจงด้านด้านหนึ่ง มันเริ่มเจาะจงตั้งแต่การศึกษามัธยม ที่ไปแยกเด็กสายศิลป์กับสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันเร็วมาก จริงๆ แล้วศาสตร์ต่างๆ มันเยอะ ความจริงเด็กยังไม่รู้เลยว่ามันมีศาสตร์อะไร และไม่รู้เลยว่าตัวเองถนัดอะไร/อย่างไร แต่ไปบังคับแยกเป็นศิลป์ เป็นวิทย์ และการเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเลือกคณะเลย เด็กหลายคนอาจจะไปเพราะไม่รู้ว่ามีสาขาอื่นอีกก็ได้

การเรียน liberal arts ใน 2 ปีแรก เปิดให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง มีอะไรๆ ให้ตัวเองรู้จัก มีอะไรให้เรียนรู้ และเลือกในสิ่งที่ถนัดที่สุดได้ แต่ของ

บ้านเราเด็กไม่มีโอกาสอย่างนั้น เพราะเราขีดไว้ตั้งแต่ต้น

มันเริ่มจากแนวคิดที่ว่าเราต้องการให้รู้ลึกเพื่อให้คนไปมีความรู้ ไปมีวิชาชีพ ไปทำงาน ซึ่งผมก็คิดว่ามันจริงส่วนหนึ่ง แต่ว่าการเรียนรู้มันสามารถไปเรียนเพิ่มเติมได้ ไม่ได้เรียนเพื่อทำงานอย่างเดียวเพราะในชีวิตมีสิ่งอื่นที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ เราต้องการให้เด็กมีความสมดุลแต่ไหน

ตอนนี้เมืองไทยหากจะให้กลับไปเรียนแบบ liberal arts คงจะยาก เพราะคนไทยไม่เชื่อถือในเรื่องนี้ คงไปคิดว่าพวก liberal arts มันกว้างไป และไปตีความว่าเป็นมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ ไม่มีความรู้ด้านอื่น ซึ่งผมบอกว่าไม่จริง liberal arts มันเป็นความรู้ด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ด้วย

ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งของไทยให้ความสำคัญกับด้านนี้มากขึ้น ที่มากสุดคือมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะโปรแกรมนานาชาติเป็นโปรแกรม liberal arts เลย

จริงแล้วๆ มันสามารถปรับหลักสูตรให้ใส่วิชาทั่วไปมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เด็กซาบซึ้งความสำคัญวิชาสาขาทั่วไปด้วย บางแห่งวิชาทั่วไปเรียนให้เป็นพิธี ให้ครบหน่วยกิต ถูกบังคับ ไม่ได้ซาบซึ้ง ดังนั่นมันขึ้นอยู่กับวิธีกำหนดเนื้อหาทั่วไปด้วย อาจารย์ที่สอน สอนดี ให้เด็กซาบซึ้งและสนใจไปค้นคว้าต่อนอกห้องเรียน ที่มาผ่านก็มีคนเชิญผมไปพูดเรื่องนี้เยอะ

อย่างอาชีพหมอ เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับคนเยอะ น่าจะต้องมีความเข้าใจสิ่งรอบตัว ความเป็นมนุษย์ ความมีสุนทรียภาพ เพราะว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก สามารถใส่วิชาพวกนี้ไปเสริมวิชาเรียนแพทย์ที่ต้องเรียนเยอะ น่าจะทำได้ หรือคนทำสายนิเทศศาสตร์ คนทำสายสื่อสารมวลชน ต้องสัมผัสกับคน ควรมีความรับรู้ด้านต่างๆ เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้ามศาสตร์ เดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ผสมผสานกันหมด ถ้าเรามีความเข้าใจ นั่นหมายความว่าคนที่มีความเชื่อทางด้านนี้ก็มี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะกำหนดหลักสูตร ต่อมากระตุ้นความคิดนักศึกษาว่า การเรียนหนังสือ เรียนเพื่ออะไร หากคุณสนใจรอบด้านคุณใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุขได้

เมื่อถามว่าการศึกษาของไทยที่ให้เลือกตั้งแต่แรกสะท้อนคุณภาพของเด็กไทยหรือไม่ ดร. ชัยวัฒน์กล่าวว่า ก็มีส่วน แนวคิดของศิลปศาสตร์ ถ้าเราเรียนรู้ทุกสาขาจะสร้างให้คนคิดเป็น คิดในหลายมิติ 1.มิติที่มีเหตุมีผล คือลอจิก 2.คิดในเชิงสร้างสรรค์ วิจารณ์ เห็นอะไรมีความเห็นเพิ่มเติม ตั้งคำถาม 3.คิดในเชิงวิเคราะห์ ใช้หลัก วิทยาศาสตร์มาประกอบ หากรู้ 3 ด้านนี้ เราก็มีพื้นฐานความคิดพวกนี้ และอีกอันจะทำให้เป็นคนสื่อสารได้ดี คือชอบอ่าน เป็นนักคิด สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีและเขียนได้ดี

อย่าลืมว่าการเรียนหลายศาสตร์ทำให้ต้องอ่านเยอะ เขียนเยอะ ซึ่งเดี๋ยวนี้พูดกันว่าเด็กของเราสายวิทย์อาจจะเป็นวิศวกรที่เก่ง เป็นหมอที่เก่ง แต่ถามว่าให้มาทำด้านอื่นได้ไหม เราจะทำเฉพาะด้านได้ หรือให้เด็กไปเรียนสายอักษรศาสตร์ ทำให้เด็กจะกลัวสายวิทยาศาสตร์ ทำให้เขาไม่มีความสามารถในการเชิงวิเคราะห์ ในการเอาหลักวิทยาศาสตร์มาจับ

"ผมถึงบอกว่าผมมีความเชื่อว่าถ้าเราใช้หลักศิลปศาสตร์และทำให้เด็กมีความเข้าใจครบทุกด้าน ถ้าเราคิดเป็นทั้ง 3 มิติ มีเหตุมีผล สร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิจารณ์ เป็นสิ่งที่เราต้องเจอในการทำงาน เราต้องเรียนรู้ เราต้องคิดต่อ เราจะต้องเจอปัญหา หาวิธีแก้ปัญหา เราต้องมีการติดต่อสื่อสาร ของพวกนี้มาประยุกต์ได้ แต่ถ้าทำแล้วมันอยู่ในตัวจะทำให้เราสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้าน"

อย่างที่ผมสรุปว่ามันเป็นเรื่องความเชื่อ แม้แต่คนอเมริกาเองที่วิจารณ์ liberal arts ว่า กว้างมากไป ทำงานไม่ได้ก็มี แต่ผมว่าไม่จริง เพราะเด็กพวกนี้จบมหาวิทยาลัยดีๆ ก็สามารถทำงานได้ เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่จบปริญญาตรี มันเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปเรียนรู้จากการทำงาน ฯลฯ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าเราจะประยุกต์ความรู้ของเราไปใช้ในการทำงานอย่างไร การใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุขกับตัวเองหรือมีสุนทรียภาพของตัวเองอย่างไร

ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าการเรียนต้องเรียนเปิดโอกาสให้เรียนข้ามศาสตร์ได้

ที่บอกว่าโลกมันซับซ้อนขึ้น ต้องการความรู้ต่างๆ มาผสมกัน ข้ามศาสตร์กัน มันมีความสำคัญมากขึ้น และถ้าโรงเรียนที่ทันสมัยจะเปิดโอกาสให้นักเรียนค้นหาเรื่องพวกนี้มากขึ้น จะมีวิชาที่มีลักษณะข้ามศาสตร์ เอาหลายๆ ศาสตร์มาผสมกัน และที่โรงเรียนทันสมัยมากเด็กสามารถออกแบบวิชาเรียนได้ด้วยตนเอง โดยตกลงกับอาจารย์ที่สอนว่าวิชานี้ต้องการเรียนอย่างไร

เพราะการเรียนถ้าเราเรียนเพื่อเอาคะแนนก็อย่างหนึ่ง เรียนเพื่อเอาความรู้ก็อย่างหนึ่ง

ฉะนั้นการเรียนรู้ศิลปศาสตร์นอกจากเรียนหนังสือแล้วยังได้รู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา วรรณกรรม เพื่อซึมซับให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วย

หน้า 29 มติชนออนไลน์

 

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe01040150&day=2007/01/04

หมายเลขบันทึก: 226751เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2008 05:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท