ปัจจัยความสำเร็จของตลาดนัดความรู้เครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ นนทบุรี 1 รุ่น 2


         ทีม สคส.  นำโดย ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด, คุณฉันทลักษณ์  อาจหาญ, คุณธวัช  หมัดเต๊ะ  และผู้เขียน  เป็นวิทยากรตลาดนัดความรู้เครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้  เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  เขต 1  รุ่นที่ 2  โดยจัดขึ้น  4  วัน  วันแรก (20 มีนาคม)  เป็นการบรรยาย KM  โดย ดร.ประพนธ์   ให้กับผู้บริหารและครู จำนวนประมาณ  160  คน  ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์  ส่วนที่ 21-23  มีนาคม  เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ  KM  ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโกลเด้น บีช  ชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ   70  คน  ประกอบด้วย  ตัวแทนจากโรงเรียนแกนนำจำนวนโรงเรียนละ  7  คน ตาม  CoP  ทั้งหมด  6  CoPs  (การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา, การใช้ ICT  เพื่อการเรียนรู้, สานสายใยครูและศิษย์, ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยพหุปัญญา, การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียน  และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ)  และตัวแทนจากโรงเรียนเครือข่ายอีก  18  โรงเรียนๆ ละ  1 คน (18  คน)  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่วนงานศึกษานิเทศก์อีกประมาณ 10  คน  
          การจัดตลาดนัดครั้งนี้  ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  บรรยากาศราบรื่น  ผู้เข้าร่วมมีความสนใจและซึมซับรับกระบวนการ KM  ได้ดี   ซึ่ง  สคส.  ได้มีการ  AAR  ภายในหน่วยงาน  และสรุปถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ ได้ดังนี้   คือ   
          1. การเตรียมงานที่ค่อนข้างพร้อมของทีมบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 1  ซึ่งเป็นการลดจุดอ่อนที่ได้รับเป็นบทเรียนจากการจัดในรุ่นแรก มีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนแกนนำก่อน  ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน 
          2.  โรงเรียนแกนนำคัดเลือก “คุณกิจ”  เพื่อเข้าร่วมเล่าเรื่องและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตรงตาม CoP  ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้น และได้เรื่องเล่าดีๆ หลายเรื่อง  
          3. การให้ผู้เข้าร่วมที่ผ่านกระบวนการ KM  ในรุ่นแรกมาแล้ว  ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย”  ประจำกลุ่ม  ทำให้การเล่าเรื่องและกิจกรรมกลุ่มย่อยลื่นไหลเป็นอย่างดี 
          4. ผู้เข้าร่วมค่อนข้างมีความหลากหลาย  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษา  ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน และเกิดความร่วมมือแบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องต่อไป 

          5. การให้มีผู้มาเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างและทดลองถอดประเด็นหรือขุมความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่าตัวอย่าง  ก่อนเริ่มกิจกรรมเล่าเรื่องจริงๆ  ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจและสามารถเล่าเรื่องหรือประสบการณ์ของตนเองตรงตามหัวปลาออกมาได้ดี  รวมทั้งการถอดขุมความรู้จากเรื่องเล่าจึงตรงประเด็นวิธีการ (How)  ที่ทำให้ประสบความสำเร็จของเรื่องเล่านั้นๆได้ดี  บรรยากาศการเล่าเรื่องจึงสนุกสนาน  เร้าใจ
          6. เนื่องจากมี ครูวิมลศรี  ศุษิลวรณ์  ของโรงเรียนเพลินพัฒนา  เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย  ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงเรียนข้ามเขต รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันต่อไปได้
          นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  เขต 1  ในการจัดการจนการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้   แต่งานหลักที่ยิ่งใหญ่เพื่อขยายผลต่อยอดจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ของ  สพท.นบ.  1  คือ  การผลักดันและกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  เขต 1 ต่อไป ตามแผนงานที่ผู้เข้าร่วมได้วางแผนไว้ 
          ส่วน สคส.  จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมของ สพท.นบ.
1  อีกทอดหนึ่งค่ะ

หมายเลขบันทึก: 22662เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท