เทคนิคช่วยลูกเรียนรู้คำศัพท์


พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูกและเป็นแบบอย่างด้านภาษาของลูก

                พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูกและเป็นแบบอย่างด้านภาษาของลูก เด็กๆจะใช้ภาษาโดยมีพื้นฐานมาจากการได้ยินจากพ่อแม่ พ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการได้ยินของลูก  เขาจะใช้คำที่เขาได้ยินถ้าพ่อแม่ส่งเสริม....

                พ่อแม่อาจจะเริ่มจากดูว่าคำที่ตนเองใช้คืออะไรและใช้คำนั้นอย่างไร เด็กที่ได้ยินคำนั้นซ้ำๆก็จะเลียนแบบ และถ้าเขาพูดอย่างนั้น ต่อไปเขาก็จะเขียนอย่างนั้น

                ในบ้าน....พ่อแม่ควรหาเวลาปิดทีวีและพูดคุยกันในครอบครัว สถานที่ที่ดีที่สุดคือที่โต๊ะรับประทานอาหารเย็น มันเป็นช่วงเวลาเพียงเล็กน้อยที่ครอบครัวทั้งหมดจะได้อยู่ด้วยกัน หรือในอีกความหมายหนึ่งคือเป็นช่วงเวลาที่ผู้พูดจะเข้าถึงผู้ฟังได้ (เพราะถ้าพูดช่วงเวลาอื่นอาจไม่มีคนฟัง หรืออาจอยู่กันไม่ครบเช่นช่วงเวลานี้) โดยการตั้งกฎ เช่น ไม่กินไป วิ่งไป และทุกคนมีบางเรื่องที่จะนำมาพูดคุยกันระหว่างและหลังรับประทานอาหารเย็น ฟังไป เล่าไป พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างที่เกิดขึ้นในละแวกบ้าน เพื่อนบ้าน (ไม่ใช่ นินทาชาวบ้าน) โรงเรียน เหตุการณ์สำคัญที่กำลังจะมาถึง เช่น วันเกิดของสมาชิกในครอบครัว คุยถึงแผนการและการตัดสินใจของครอบครัว รวมทั้งเรื่องอื่นๆอีกมากมาย สารพัดที่จะหยิบมาพูดคุยกันได้ แต่อย่าลืมว่า การสนทนาควรจะสนุกสนานและผ่อนคลาย

                ถ้าลูกเริ่มเรียนการสะกดคำที่โรงเรียน ให้จดคำเหล่านั้นไว้ที่ประตูตู้เย็นและนำคำเหล่านั้นมาสนทนากับลูก กระตุ้นให้เขาใช้คำเหล่านั้นในการพูดโต้ตอบ

                หากมีเครื่องบันทึกเทป (หรือ เครื่องเล่น MP ต่างๆที่บันทึกเสียงได้) ให้บันทึกคำต่างๆไว้ พูดคำศัพท์เหล่านั้น ให้คำนิยามและนำมาพูดเป็นประโยค เลือกคำที่เด็กสนใจ ที่ดีกว่านั้นก็คือ การให้เด็กได้มีโอกาสบันทึกเสียงของตัวเขาเอง ส่งเสริมให้เด็กใช้การบันทึกเสียงอย่างสม่ำเสมอซึ่งนอกจากคำศัพท์แล้วเขาสามารถฝึกการสะกดลงบนเทปได้ด้วย (วิธีนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หรือแอลดีด้านการอ่านและการสะกดคำด้วย)

                คำประจำสัปดาห์ เป็นกิจกรรมเหมือนเกมของครอบครัว สมาชิกผลัดกันเลือกคำในแต่ละสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น สัปดาห์แรกแม่เป็นผู้เขียนคำศัพท์ลงบนการ์ดและติดไว้ที่ประตูตู้เย็น สมาชิกทุกคนต้องใช้คำนั้นให้มากที่สุดในสัปดาห์นั้น สัปดาห์ต่อไปก็ถึงคราวของพ่อและเด็กๆต่อไปเรื่อยๆจนวนกลับมาที่แม่อีกครั้ง

                เกมยี่สิบคำถาม  เป็นเกมที่ส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญคือการให้ความหมายขงคำ สมาชิกคนหนึ่งคิดถึงของบางสิ่งบางอย่างซึ่งคนอื่นจะต้องเดาโดยการถามไม่เกินยี่สิบคำถาม

คำถามแรกๆมักจะขึ้นต้นว่า มันเป็นสัตว์ผักหรือสิ่งของ ซึ่งครอบคลุมทุกสิ่งที่เด็กคิดว่าจะเป็นไปได้ จากนั้นคำถามแต่ละคำถามจะทำให้คำตอบที่จะเป็นไปได้แคบเข้าและบอกถึงความน่าจะเป็นของสิ่งนั้น โดยมีเทคนิคว่า....หลังจากคำถามแรกแล้ว คำถามต่อๆมาควรจะถามเพื่อให้ตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ การใช้คำถามต่างนั้นมีคุณค่าอยู่ที่การให้เหตุผลเพิ่มเติมที่เด็กแสดงออกมา พ่อแม่สามารถแสดงให้เด็กดูได้ จากคำถามที่กว้างๆ ไปจนถึงคำถามที่แยกความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น เด็กจะเรียนรู้ที่จะถามคำถาม เช่น สิ่งนี้อยู่ในซีกโลกเหนือใช่หรือไม่  สิ่งนี้อยู่ในประเทศทางตะวันออกใช่หรือไม่ สิ่งนี้อยู่ในประเทศไทยใช่หรือไม่ สิ่งนี้อยู่บนพื้นดินใช่หรือไม่และไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่พัฒนาเฉพาะคำศัพท์แต่จะพัฒนาความรู้ด้านภูมิศาสตร์ของเด็กอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 226531เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2008 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท