ฉบับที่ (๑๘) ค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง


พึ่งตนเอง

ฉบับที่ ๑๘

 

กานต์วลีที่เฝ้ารอ

            วันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ  ยามค่ำคืนที่แสนสงบ ในหมู่บ้านชนบท สังคมเล็ก ๆ ที่แสนอบอุ่นของบ้านทุ่ง พวกเราจะมารวมกันที่โบสถ์เพื่อสวดมนต์ไหว้พระและฟังธรรม ผมจะมาที่วัดแห่งนี้เสมอ กานต์วลี มาค้นหาเพื่อหวังค้นพบจิตใจของตัวเอง

            ธรรมะที่ผมได้รับฟังในวันนี้ช่างเหมือนกับหลักปฏิบัติตนตามแนวทาง แห่งเศรษฐกิจพอเพียง หรืออาจจะเรียกว่าค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะได้

   พระท่าน ขึ้นต้นเทศนาด้วยภาษาบาลีที่ว่า อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ  ตนแลเป็นที่พึ่งของตน  จริงสิ กานต์วลี การที่เราสามารถทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเองได้นั้น เป็นคุณสมบัติประการแรก ที่เราทุกคนควรจะต้องกระทำให้ได้  การพึ่งพาคนอื่นนั้น ทำให้เราขาดอิสระทางความคิด เราไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ในทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั้น  ท่านมุ่งหวังให้เรา รู้หลักพึ่งพาตนเองก่อน  ใช้ความรู้ความสามารถของเราเองก่อนในการแก้ปัญหา

            Self-Sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้  ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น  อยู่ได้ด้วยตนเอง บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า  ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล  ใครจะมายืนบนขา  คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธแต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง   หมายความว่า  สองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน..”

            กานต์วลี นี่เป็นพระราชดำรัส ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งพระองค์ทรงตรัสให้เราควรจะต้องพึ่งตนเองก่อน ดังนั้นผมคิดว่า การพึ่งตนเองให้ได้ นั้น เป็นค่านิยมทางเศรษฐกิจพอเพียงอันดับต้นที่เราจะต้องทำให้ได้

            การรู้จักพอหรือการรู้จักประมาณตน เป็นข้อคิดข้อที่สอง ที่ผมตระหนัก และค้นพบในวันนั้น    กานต์วลี การที่เราสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น  ก็คือการพอนั้นเอง  เราสามารถที่จะพออยู่ พอมีและพอกิน  สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง  การทำสิ่งใดเราควรจะต้องรู้จักประมาณตนว่าเรามีความสามารถอย่างไร ต้องตรวจสอบศักยภาพของตนเองก่อน ต้องรู้จักหักห้ามความโลภ ต้องรู้จักพอ

            “..ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา  จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะใหเมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามี ความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็ยอดยิ่งยวดนี้ได้..”

และ “...แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง  ถ้าแต่ละคน พอมีพอกินก็  ใช้ได้ ยิ่งถ้าประเทศ พอมีพอกิน ก็ยิ่งดี   มีความหมายกว้างออกไปอีกไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน  มีความหมายว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือยไม่หรูหราก็ได้  แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติคือ คำว่าพอก็เพียงพอเพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด  อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”

            กานต์วลี ทุกค่ำคืนที่ผมแหงนหน้าเพื่อมองดวงจันทร์เต็มดวงอยู่นั้น  ผมรู้สึกอยู่เสมอว่ากานต์อยู่เคียงข้างผม เพราะดวงจันทร์ที่ผมเฝ้ามองอยู่นั้นเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวกันที่กานต์ชอบมอง ความพอเพียงของผมนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่กานต์ หัวใจของผมพอใจเพียงกานต์เท่านั้น ถึงแม้ว่าผมมีความประมาณตน แต่ในบางสิ่งก็คงจะไม่ไกลเกิน  ถ้าหากกานต์รับรู้ความรู้สึกของผมที่ฝากไปกับจันทร์เพ็ญในค่ำคืนนี้

 

            ค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงข้อถัดมา ซึ่งเป็นเงื่อนไขของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ ความรู้  การหาความรู้และใช้ความรู้ในการทำงาน  กานต์มีคำกล่าวว่า นกไม่มีขน คนไม่มีความรู้ ไม่สามารถขึ้นสู่ที่สูงได้   การจะทำกิจการงานใด จะต้องรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวัง รอบรู้อย่างรอบด้าน รอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและระมัดระวังในขั้นตอนการปฏิบัติงาน

            “...ความรู้นั้นเป็นหลักของการงาน  ผู้ที่จะทำงานอย่างใดจำต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนเป็นเบื้องต้น  ส่วนความคิดเป็นเครื่องช่วยความรู้ คือ ช่วยให้ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง เช่น จะใช้อย่างไร ที่ไหน  เมื่อใด เมื่อมีความรู้สำหรับงาน มีความคิดสำหรับพิจารณาใช้ความรู้ให้ถูกต้องแล้ว  ย่อมทำงานได้ผลสมบูรณ์ดี  ยากที่จะผิดพลาด ความรู้กับความคิดจึงไม่ควรแยกจากกัน..”

            พระท่านจบพระเทศนา ด้วยพระบาลี ที่ว่า  สุขา  สงฺฆสฺส  สามคฺคี  สามัคคีของหมู่  ให้เกิดสุข   กานต์วลี ผมจะให้ข้อนี้เป็นค่านิยมทางเศรษฐกิจพอเพียงข้อที่สี่ ที่ผมจะนำไปประพฤติและปฏิบัติ ความสามัคคีและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  กานต์ยังจำทฤษฎีใหม่ ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน   สังคมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้หรือไม่   ขั้นที่สองของทฤษฎีใหม่  ที่เริ่มให้เหเกษตรกรรวมกลุ่มกันพัฒนางานในแต่ละด้าน ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นด้านผลผลิต  ด้านการตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ  การศึกษา และขั้นที่สาม การติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุนจากธนาคาร บริษัทเอกชนต่าง ๆ มาช่วยกันลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต

            “...ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะว่า ตามที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้ว่า  แต่ละคนจะตั้ง  อยู่ใน ความสามัคคี   ช่วยร่วมแรงกัน  เพื่อปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ต่ออะไร ตอนนี้ก็ต้องบอกว่า  เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อชาติบ้านเมือง เชื่อว่าท่านทั้งหลายก็มีความปรารถนาดีโดยแท้

-ไม่ใช่ดีบ้างไม่ดีบ้าง-ว่าตั้งใจที่จะเข้าหากัน ร่วมแรงกันปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ.”

            กานต์วลี  เหล่านี้คือค่านิยมที่ผมคิดจะปฏิบัติ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

            ๑. พึ่งตนเอง                ๒. การรู้จักพอ การประมาณตน         

             ๓. ความรู้  การหาความรู้และใช้ความรู้ในการทำงาน ด้วยสติที่รอบคอบ ระมัดระวัง

            ๔.  ความสามัคคีและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

            กานต์  ค่ำคืนนี้ผมจะเฝ้ามองจันทร์  จนหายลับไปกับแสงแห่งอรุณ     ผมคิดถึงกานต์

                                                                                                              อภิษฐา                      

 

หมายเลขบันทึก: 226167เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2008 05:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท