เกี่ยวกับหลักสูตร


หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชระเบียน (ต่อเนื่อง 2 ปี)

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาในทุกด้าน มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม การเกษตรและเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อนำประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ในอนาคตมีนโยบายในการพัฒนาชนบทตลอดทั้งมีนโยบายพัฒนาการสาธารณสุข  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ดีขึ้น มีสุขภาพดีถ้วนหน้า  อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ  กระทรวงสาธารณสุขซึ่ง รับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายพัฒนาการสาธารณสุข  ได้พยายามดำเนินการในหลายรูปแบบเพื่อให้ นโยบายด้านนี้ประสบผลสำเร็จ
               ในการพัฒนาการสาธารณสุขนั้น นอกจากจะประกอบด้วยศักยภาพของผู้บริหารมีจำนวน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่น และงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอแล้ว เจ้าหน้าที่เวชระเบียนก็มี บทบาทสำคัญมากที่จะช่วยให้การดำเนินงานการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จสูงสุด ทั้งนี้ เพราะงานเวชระเบียนเป็นสื่อกลางในการติดต่อประสานงาน ระหว่างแพทย์กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นเครื่องมือใน การวางแผนและดำเนินงานการรักษาผู้ป่วย เป็นหลักฐาน เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และประเมินผล คุณภาพของการรักษา ที่โรงพยาบาลได้บริการแก่ผู้ป่วย เป็นหลักฐานอ้างอิงทางกฎหมายสำหรับผู้ป่วย แพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล  ทั้งใช้เพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่เวชระเบียนที่ได้รับการศึกษา และฝึกฝนเฉพาะด้านนี้ โดยตรงในระดับปริญญายังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ต้องการของหน่วยงานทาง         การแพทย์และสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน
               มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงบทบาทของงานเวชระเบียนเป็นอย่างดี ประกอบกับ   มีความถนัดและมีความพร้อมที่จะผลิตบุคลากรทางด้านนี้ จึงได้เสนอทบวงมหาวิทยาลัยและได้รับ  การพิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) แล้ว   นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็พร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานทางด้านเวชระเบียนและเวชสถิติ ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้เสนอเปิดการเรียนการสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชระเบียน (ต่อเนื่อง 2 ปี) ขึ้น 

โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติและความสามารถดังต่อไปนี้
         1   เพื่อให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาการเกี่ยวกับเวชระเบียนเพิ่มขึ้น และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
         2   เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการวางแผนงาน ติดตามประเมินผล วิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับเวชระเบียน
         3   เพื่อให้มีเจตคติและจรรยาบรรณที่ดีต่อการทำงานด้านเวชระเบียน
         4   เพื่อให้มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองและใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงต่อไป
         หลักสูตรได้ผลิตบัณฑิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2548  รวมบัณฑิตที่จบการศึกษาไปแล้ว 14 รุ่น  จำนวน  489 คน 
         โดยหลักสูตรที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประเทศชาติ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัคร
          ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้

1. สำเร็จประกาศนียบัตรเวชระเบียน (เวชสถิติ) เทียบเท่าอนุปริญญา
2. สำเร็จอนุปริญญาหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาอื่น ๆ และต้องมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับ เวชระเบียน ไม่น้อยกว่า 2 ปี ในกรณีที่ไม่ได้ศึกษาวิชาพื้นฐาน จุลชีววิทยา และพยาธิวิทยา มาก่อน ผู้เข้าศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนในวิชาดังกล่าวเพิ่มเติม

ชื่อหลักสูตร       หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชระเบียน
                          Bachelor  of  Science  Program  in  Medical  Record
ชื่อปริญญา        วิทยาศาสตรบัณฑิต   (เวชระเบียน)
                          Bachelor  of  Science  (Medical  Record)
(ชื่อย่อ)            วท.บ.  (เวชระเบียน)
                          B.Sc. (Medical  Record)

รายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม เช่นรายวิชา คำบรรยายรายวิชา เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22563เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2006 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท