โครงการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในการจัดการเรียนรู้


เพิ่มคุณธรรมจริยธรรม

เมื่อวานก็ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพอาจารย์ฯ โดยเป็นโครงการแรกที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัยคนใหม่เป็นผู้จัด กิจกรรมก็ได้เชิญอธิการบดีเพื่อทำการบรรยายรวมทั้งบพปะคณาจารย์ในคณะของปีการศึกษาใหม่ เริ่มแรกอธิการได้ถามว่าภาษาที่จะใช้ในการบรรยายครั้งนี้จะเป็นภาษาอะไรดี เพราะดูจากคณาจารย์ของ มอย. แล้วจำนวนคณาจารย์มีหลากหลายรวมถึงอาจารย์จากต่างประเทศด้วย ถามว่าจะใช้ภาษามลายูเข้าใจไหม ปรากฏว่ามีอาจารย์ของเราสามสี่ท่านที่ไม่เข้าใจภาษามลายู (เพราะมาจากภาคใต้ตอนบนและภาคกลาง) บวกอาจารย์ต่างประเทศอีก 3 คน (ที่เข้าร่วมในวันนี้) สุดท้ายต้องใช้ภาษาตรีลีงัว (3 ภาษา) คือจะใช้ภาษาไทย ประมาณ 70 % ภาษามลายู 15% และภาษาอาหรับ 15%

                หลังจากนั้นอธิการบดีได้พูดถึงเกี่ยวกับคอนเซ็ปของศาสนาเรา คือได้พูดถึงวิถีชีวิตของอิสลามว่าไม่สามารถที่จะไปเทียบกับวิถีชีวิตอื่นๆ เพราะคอนเซ็ปของเราสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว นอกจากนั้นก็ได้พูดถึงหัวข้อการบรรยายที่ได้รับมานั้น ทำอย่างไรจะให้คณาจารย์เกิดการพัฒนาและเต็มไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม ท่านกล่าวว่า เราทุกคน(ที่อยู่ที่นี่/ที่เป็นผู้ให้/ที่เป็นครู อาจารย์) ต้องเน้นหนักและจริงจังในเรื่องของ  การอ่านเพราะถ้าเราศึกษาจากธรรมนูญชีวิตของอิสลามแล้ว คำแรกที่ได้ปรากฏหรือคำสั่งแรกที่พระองค์อัลลอฮทรงสั่งให้มนุษย์ทำคือ การอ่าน/จงอ่าน คือจะประทานก่อนที่จะให้คำสั่งอื่นๆ เช่นทำการละหมาดหรือเชื่อในพระเจ้าหรืออื่นๆ แต่ถ้าเราศึกษายิ่งลึกก็จะพบคำสั่งดังกล่าวในอัลกุรอ่านทั้งที่เป็นเอกพจน์และพหูพจน์แค่ 6 ที่ (ในอัลกุรอ่านหนึ่งเล่ม) โดยพบคำที่เป็นเอกพจน์ 3 ที่ และพหูพจน์ 3 ที่  และมีการพูดถึงการอ่านบนโลกนี้ (ดุนยา) 4 ที่ และพูดถึงการอ่านในโลกหน้า (อาคีรัต)2 ที่  ได้พูดถึงการอ่านที่ไม่ได้ระบุเวลา 4 ที่ และที่ระบุอ่านตอนกลางคืน 2 ที่  หรือมีการพูดถึงการอ่านที่ไม่ได้ระบุกรรมมา (ว่าต้องอ่านอะไร) และที่ระบุกรรมว่า (อัลกีตาบ) มา2 ที่ หรือจะได้หมายถึงการอ่านในวันอาคีเราะห์/อาคีรัต

                อายัตดังกล่าวเราสามารถหาได้จาก ซูเราะห์ อัล-อาลัก ในอายัตแรก และอายัตที่ 3 (เป็นการสั่งให้อ่านแต่ไม่มีกรรม) จะมาในรูปของคำว่า อิกเราะอ์ (จงอ่าน) และในซูเราะห์อัลอิสเราะอ์ อายัตที่ 14 ทั้งสามอายัตนี้มาในนามเอกพจน์ ส่วนที่เป็นพหูพจน์จะปรากฏในซูเราะห์อัลมูซัมมิล อายัตที่ 20 จำนวน 2 ที่ และในซูเราะห์อัลฮาเกาะห์ อายัตที่ 19  จะเห็นได้ว่าคำสั่งจงอ่าน/การอ่าน/หรืออ่านนั้นจะมีความหลากหลาย ถ้ามาในรูป จงอ่าน(ตามด้วยกรรม) ก็จะเป็นการอ่านในวันอาคีรัต จะเกี่ยวกับการอ่านสมุดบันทึกการทำดีทำชั่วของแต่ละคน เราต้องทำการอ่านเองว่าเป็นคนที่ประสบผลสำเร็จหรือตรงกันข้าม ได้เข้าสวรรค์หรือตกนรก (ลงกระทะทองแดง) โดยที่เราเองไม่ได้มีการเถียงแล้งกับผลที่ออกมา (ดังนั้นขอพระองค์ได้ชี้ทางนำ/ทางสว่างให้อุมมัตินี้มากๆด้วย)  ในซูเราะห์มูซัมมิลให้ทำการอ่านเฉพาะเวลากลางคืน

                จากความสำคัญดังกล่าว อธิการก็ผลักดันให้พวกเรา(คณาจารย์ทุกคน) อ่านหนังสือและไม่ได้เจาะจงเฉพาะหนังสือบางเล่ม แต่อย่าลืมเหนือหนังสือเล่มอื่นใดนั้น อัลกุรอ่านสำคัญที่สุด (อ่านแล้วได้ทั้งความรู้ใหม่ๆ และได้ทั้งผลบุญ) อายัตอัลกุรอ่านอ่านแล้วได้ผลบุลตามจำนวนตัวอักษรหรือพยัญชนะที่มี พยัญชนะละ 10 คะแนน อีกอย่างถามว่าแล้วเราต้องอ่านกี่เที่ยวหรือกี่หน้าครับ ท่านได้บอกว่าอูลามาอ์ได้ทำการอ่านหลายๆเที่ยว แต่สำหรับเรานี้ (นบีบอกว่า) อย่างน้องวันละ 1 ยุช หรือเดือนหนึ่งก็สามารถคอตัม (จบเล่มครั้งหนึ่ง) (หนึ่งเล่มมีสามสิบยุช)

          ในการอ่านนี้ไม่เจาะจงเฉพาะอัลกุรอ่าน แต่จะเป็นหนังสือความรู้ต่างๆ ที่มีบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือศาสนาและความรู้บนโลกนี้ ท่านก็ได้ยกตัวอย่าง นบีอิบรอเฮม (อ) ที่พยายามอ่านโลกนี้ อ่านดวงอาทิตย์ อ่านดวงจันทร์ อ่านกลางวันกลางคืน เพื่อที่จะหาผู้สร้าง (โลกนี้) หรือผู้บริหาร/จัดการทั้งหมดในสากลโลกนี้ และได้กระชับว่าจงอ่าน จงศึกษานโยบายของผู้นำของแต่ละประเภทด้วยว่าเขามีความฉลาดด้านไหนบ้าง (เราจะได้เก็บมาใช้บ้าง) อีกอย่าง โอบามา (ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐก็น่าสนใจ) น่าไปศึกษาว่าเขามีดีอะไรนะถึงได้ชนะใจคนอเมริกาได้ ความรู้ไม่ปิดกั้นหรอกนะ ยิ่งรู้ยิ่งกว้างไกล

                หรือถ้าพูดถึงการอ่านแล้ว ท่านได้ยกสำนวนของผู้รู้ว่า ........

..........จงอ่านสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณเคยเจอ

................และจงท่องจำสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณเคยอ่าน

........................และจงปฏิบัติ (อามาล) สิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่คุณเคยอ่านและจำมา

                นอกจากนั้น ท่านได้ถามว่าในโลกนี้มีไหมที่มนุษย์เรายอมอยู่กับความอึดอัด? แล้วพวกเราอึดอัดไหม? หรือจำเป็นไหมที่เราต้องหาความอิสระในชีวิต? เราชอบอยู่กับความอิสระหรือ? อิสระพาเราไปไหนกัน? ถ้าเรามีความอึดอัด เราต้องหันมาถามตัวเองแล้วว่า ทำไมถึงอึดอัด? ทำไมถึงเครียด? ในเมื่อเราทุกคนก็ได้อยู่ในรอฮมัต (ความโปรดปรานของอัลลอฮ) ความอึดอัดที่จริงแล้วมันสะท้อนมาจากส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นนัฟซู มารร้าย ซัยตอนหรืออื่นๆ แต่ถ้ารอฮมัตก็จะตรงกันข้ามกับอึดอัด/เครียด ดังนั้นต้องไปคิดไปอ่านอะไรใหม่ๆ แล้ว

เป็นการบ้านนะ (แต่ไม่ต้องส่งให้ตรวจหรอกนะ) หรือไปขยายกับคนรอบข้างด้วยเป็นการดี

วัลลอฮฮู อะลัม

               

 

 

หมายเลขบันทึก: 225601เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท