ออกกำลังกายสมอง


สมองก็เหมือนร่างกายที่ต้องการการออกกำลังให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ฉับไว โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการทำงานของสมองเสื่อมลงจนอาจเกิดภาวะสมองเสื่อม สูญเสียความทรงจำ หรือเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในประเทศไทยพบว่าเมื่อ 2548 มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสูงถึง 229,100 คน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 450,200 คนในอีก 20 ปีข้างหน้า การออกกำลังสมองหรือ “นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซล์” (Neurobics Exercise) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยได้
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา ทิวชาชาติ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงวิธีการออกกำลังสมองว่าการออกกำลังสมองเปรียบเทียบได้กับการออกกำลังของร่างกาย ที่จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนให้ทำงานเชื่อมโยงกัน เมื่อฝึกออกกำลังสมองบ่อย ๆ สมองจะมีการหลั่งสารมี่เรียกว่า นิวโรโทรฟินส์ (Neurotrophins) ที่เปรียบเหมือน “อาหารสมอง” ที่ทำให้เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “เดนไดรต์” (Dendrite) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาททำงานดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโต และเซลล์สมองแข็งแรง
“เมื่อเซลล์สมองส่วนใหญ่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิด ‘พุทธิปัญญา’ (Cognitive Function) ที่หมายถึงความจำ สมาธิ การรับรู้ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึง ‘การทำงานของสมองระดับสูง’ (Executive Function) คือ การคิด แก้ปัญหา การตัดสินใจและการวางแผนที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพดี แข็งแรง และชะลอความเสื่อม เรียกง่าย ๆ ว่า ‘สมองฟิต’ เหมือนการออกกำลังให้ร่างกายนั่นแหละ ”
สำหรับหลักการของการออกกำลังสมองหรือนิวโรบิกส์ เอ๊กเซอร์ไซส์เกิดจากการกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensory Organs) อันได้แก่ การได้ยิน ได้มองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส รวมไปถึงส่วนสำคัญส่วนที่ 6 คือ ส่วนของ “อารมณ์” (Emotional Sense) ได้ทำงานเชื่อมโยงกันโดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเราเป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม
ยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยชินกับการใช้มือขวาซึ่งเป็นข้างที่ถนัดหยิบจับทุกอย่าง ก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายทำแทน เนื่องจากพฤติกรรมและการรับรู้ต่าง ๆ เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทิกา ทิวชาชาติ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการออกกำลังสมองไม่ยากอย่างที่คิด มาลองทำดูกันนะคะ

ถ้าอยู่บ้านลองทำกิจกรรมเหล่านี้ดู

- ปิดตาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปิดตา อาบน้ำ ปิดตาดูทีวี เพื่อเปลี่ยนความเคยชินในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสเดิม ๆ เช่น เมื่อเราปิดตาดูทีวี แทนที่จะ “มองเห็น” เราก็จะ “ฟัง” และกระตุ้นความคิดว่า เรากำลังดูรายการอะไร หรือพิธีกรซึ่งเป็นเจ้าของเสียงนี้คือใคร

- ปิดไฟในห้องแล้วใช้มือคลำ เพื่อกระตุ้นประสาทในส่วน “สัมผัส” เชื่อมโยงกับความจำว่าสวิตซ์ไฟหรือสิ่งของภายในห้องอยู่ตรงไหน

- สลับกับกิจกรรมที่เคยทำตั้งแต่ตื่นนอน จากที่เคยอาบน้ำก่อนกินข้าว ก็เปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อนอาบน้ำ (แต่จะแปรงฟันก่อนก็ได้) เนื่องจากสมองจะใช้พลังในการทำสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าตอนที่ทำกิจกรรมเดิม ๆซึ่งเคยชิน

ระหว่างเดินทางก็ฝึกสมองได้

- หากเปิดแอร์ระหว่างขับรถทุกวันก็ลองเปิดกระจกขับรถบ้าง แต่ก็ควรเลือกเส้นทางที่มีอากาศบริสุทธิ์หน่อยนะคะ เพื่อเชื่อมโยงประสาท รับกลิ่นและเสียง ภายนอกให้ทำงานประสานกันมากขึ้น

- หากคุณต้องขับรถไปทำงานทุกวันก็ลองเปลี่ยนเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง อาจเป็นเส้นทางที่ ใช้อยู่เดิมบ้าง เส้นทางใหม่ที่ทราบอยู่แล้ว หรือเส้นทางทดลองขับก็ได้ เพราะทั้งวิวทิวทัศน์ กลิ่น และเสียงของเส้นทางใหม่จะช่วยกระตุ้นทั้งสมองชั้นนอกและฮิปโปแคมปัสให้สร้างแผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง

- เปลี่ยนวิธีการเดินทางบ้าง เช่น จากที่เคยขับรถก็อาจนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานแทน 

ทำงานไปด้วยฝึกสมองไปด้วยก็ได้

- เปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของบนโต๊ะทำงานโดยเฉพาะถังขยะ เพราะความเคยชินจากการรู้ว่าจะหยิบจับอะไรตรงไหน ทำให้สมองเราทำงานน้อยลง พิสูจน์ได้จากเมื่อคุณย้ายตำแหน่งถังขยะใสช่วงแรก ๆ คุณก็ยังทิ้งขยะลงที่เดิมซึ่งไม่ลงถังแล้ว นั่นเป็นเพราะสมองเคยชิน

- พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย เพื่อเติมข้อมูลใหม่ ๆ ให้กับสมอง ทั้งการ จำลักษณะใบหน้า เสียงพูดหรืออุปนิสัยส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานคนนั้น

- ชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียงอภิปราย หรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ

ลองฝึกดูนะคะ ค่อย ๆ ทำวันละเล็กวันละน้อย ก็สามารถจะยืดอายุสมองของคุณให้แข็งแรงนานขึ้นค่ะ

พบคำแนะนำดี ๆ จาก ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ได้ในงาน TCELS Day ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2551 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2644-5499 , 08-9203-7321 หรือติดต่อลงทะเบียนที่ www.tcels.or.th ได้ทุกวัน

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ

คำสำคัญ (Tags): #kmanw#kmanw3
หมายเลขบันทึก: 224589เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ครูอ้อยกำลังสนใจฝึกสมองค่ะ  เพราะ  เกิดมานานแล้วค่ะ  อ่านบันทึกของท่านแล้ว ตรงกับความคิดของครูอ้อยหลายข้อ
  • วันหนึ่ง ไฟฟ้าที่โรงเรียนดับ ครูอ้อยไปโรงเรียนแต่เช้ามึด ต้องคลำอยู่ คลำทำงานค่ะ   มองไม่เห็น พยายามนึกคิดค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ

น่ากลังจริงเลยค่ะ

ไม่อยากแก่เลย

ไม่อยากจำใครไม่ได้อ่ะ

การออกกำลังกายสมอง เช่น ลองเปลี่ยนเส้นทาง ลองปิดไฟอาบน้ำ นอกจากจะช่วยทำให้เราใช้สมองแล้ว จอยก็ยังรู้สึกว่า มันสนุกดีนะ เหมือนได้เปลี่ยนบรรยากาศอะไรใหม่ ๆ ให้ตัวเองบ้าง ทำให้ชีวิตมันไม่น่าเบื่อ แต่คุณผู้ชาย-คุณผู้หญิงต่าง ๆ ก็อย่าเปลี่ยนคู่นะคะ ถึงแม้ว่าจะน่าเบื่อ แต่เรื่องบางเรื่องถ้าเราเปลี่ยนมันก็เกิดทุกข์ได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท