รับลมหนาวที่ลาวเหนือ (๖) เรื่องราวขากลับจากเมืองสิงคืนสู่หงสา


บทสุดท้ายของบันทึกการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ สำหรับทริปเมืองสิงแล้วครับ ตั้งใจจะจบบันทึกท่องเที่ยวลาวเหนือที่เมืองสิง แต่คิดว่ายังคงมีข้อมูลในเที่ยวกลับที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง จึงขอต่ออีกหนึ่งบันทึกเป็นตอนจบของชุดนี้

ผมได้เล่าถึงการเดินทางเที่ยวไป โดยเรือเหมาจากท่าซ่วงไปปากแบง แล้วต่อรถโดยสารประจำทางจากปากแบงไปอุดมไซ และต่อไปหลวงน้ำทาไปแล้ว ที่หลวงน้ำทาผมวางแผนว่าจะใช้รถเช่าเพราะมีเวลาน้อย และอยากไปหลายที่ บางที่ที่อยากไปก็ไม่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยว เช่นสวนยางพาราเป็นต้น  หากไม่มีรถใช้คงไปไม่ทั่วถึงภายในสองวันเป็นแน่ รถเช่าที่หลวงน้ำทาหายากมาก ติดต่อไปเขาแจ้งมาว่าต้องไปเอารถมาจากแขวงบ่อแก้วและราคาสูงมาก จึงต้องอาศัยการติดต่อผ่านมิตรสหายของอ้ายน้องที่ทำงานร่วมกันที่หงสา ผมแจ้งไปว่ารถอะไรก็ได้ ก็ติดต่อสอบถามผ่านกันหลายทอดหลายต่อ จนมาได้รถกะบะของอ้ายคำม้าว เช่ารถจากหลวงน้ำทาไปเมืองสิงและตีกลับมาส่งที่ปากแบงภายในสองวัน เรื่องราคาไม่รู้จะเรียกจะให้กันอย่างไรเพราะ เสี่ยวเฮาขอให้มาพาอาจานเที่ยว แล้วอาจานจะใจดำไปต่อรองเขาได้อย่างไรละทีนี้ เลยจ่ายไปสองล้านกีบ (แปดพันบาท)

อ้ายคำม้าวเป็นชาวเผ่า พูน้อย มาจากแขวงพงสาลี ปัจจุบันเป็นลัดทะกอน (ข้าราชการ) แผนกสาธารณสุขแขวงหลวงน้ำทา ลางานมาพาผมเที่ยวนี่ก็ออกจะเกรงใจอยู่ อ้ายเพิ่นบอกว่าขับรถยังไม่แข็งเพิ่งซื้อรถมาได้เดือนกว่าๆ เลยชวนเสี่ยวฮักมาช่วยขับอีกคน (ลืมถามชื่อ เรียกแต่อ้ายๆ) เป็นทหารยศนายร้อยอยู่ค่ายทหารแขวง เป็นคนลาวลุ่มมาจากวังเวียง อ้ายท่านนี้บอกว่าความจริงลาพักงานมาเกี่ยวข้าวพอดีเสี่ยวฮักมาชวนเลยถือโอกาสมาเยี่ยมญาติที่เมืองฮุนตอนขามาส่งผมที่ปากแบงด้วย เวียกงานเกี่ยวข้าวมอบให้ภรรยาที่เป็นอาจารย์สอนที่ โรงเรียนฝึกสร้างครู เกณฑ์เอานักเรียนมาช่วยงานแทน ได้ท่านหมอท่านนายร้อยมาพาเที่ยวรู้สึกเหมือนเป็นแขกวีไอพี แถมที่เก๊ะหน้ารถมีปืนพกเรียบร้อย

อ้ายคำม้าว เป็นคนขยันนอกจากทำงานประจำที่แผนกสาธารณสุขแล้ว วันหยุดก็ออกไปรักษาคนป่วยในเขตชนบทห่างไกลเป็นรายได้เสริม และยังมีสวนยางพาราอีกเกือบสิบเฮกตาร์ ถามถึงลูกๆอ้ายเล่าว่ามีลูกกับเมียนี้สี่คน กับเมียเก่าสองคน คุยกันเรื่องของเผ่าพูน้อย อ้ายคำม้าวเปิดเพลงภาษาพูน้อยให้ฟัง สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินอย่างผมแล้ว ภาษาพูน้อยฟังอย่างไรก็เหมือนภาษาจีนปนภาษาม้ง แต่อ้ายเพิ่นยืนยันว่าไม่เหมือน ภาษาพูน้อยไม่เหมือนภาษาใดในโลก แถมพี่อ้ายนายร้อยยังเล่าเสริมว่าในระยะต่อสู้ระยะปลดปล่อย ฝ่ายลาวระบอบใหม่มักให้ชาวพูน้อยทำงานด้านสื่อสาร โดยให้ส่งข่าวหรือโทรศัพท์หากันเป็นภาษาพูน้อย เพราะปิดลับได้ดีไม่มีใครฟังออก ผมได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของภาษาประจำเผ่าอีกครั้งหนึ่ง  ผมว่าภาษาพื้นถิ่นภาษาชนเผ่าอย่างไรก็ควรต้องอนุรักษ์ไว้ เหมือนกับที่ได้เคยคุยกับพี่น้องชาวโซ่ดงหลวงไว้ ว่าหากต่อไปไม่มีใครรู้จักภาษาโซ่ ภูมิปัญญาความรู้เรื่องสมุนไพรของชาวไทบรูใครจะสืบทอดได้ ผูใดจะทราบได้ว่าต้นนั้นต้นนี้ในภาษาโซ่คือต้นอะไร อีกหน่อยเวลาเลี้ยงผีปู่ตาคงต้องหาเทปอัดเสียงภาษาโซ่ไปเปิดเชิญพ่อปู่มากิน เพราะไม่มีคนคุยกับท่านรู้เรื่องแล้ว ไม่ได้พูดเล่นนะครับของจริงก็เคยพบมาแล้วในบางหมู่บ้านชาวโซ่แถบสกลฯ

 

เราออกจากเมืองสิงราวแปดโมงเช้า ถึงหลวงน้ำทาเก้าโมงครึ่ง แวะทำงานหน่อยหนึ่งไปติดต่อพ่อเฒ่าลาวมา เรื่องเชิญท่านมาบรรยายวิธีการปลูกยางพาราที่หงสา ออกจากหลวงน้ำทาสิบโมงเช้ากว่าๆ ผ่านเส้นทางขรุขระสูงชันกลับคืนมาทางอุดมไซ ระหว่างทางผ่านหมู่บ้านชาวลาวเทิง ลาวสูงหลายหมู่บ้าน แวะชมสินค้าที่พี่น้องลาวเทิงนำมาวางขายข้างทาง แม่บ้านและเด็กๆ เอาหนอนไม้ไผ่ แตงยักษ์ ฟักทอง ฟักเขียว หน่อไม้ มาขาย หนอนไม้ไผ่หน้าตาเหมือนรถด่วนบ้านเรา ส่วนแตงยักษ์เป็นชนิดเดียวกับที่คุณกบข้ามสีทันดรเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ชื่อแตง apple cucumber น่าจะมียีนทนหนาว เลยเหมาซื้อมาหลายลูกๆละกิโลกว่าๆ กะจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกแถวภูพาน

มาถึงอุดมไซเกือบบ่ายสองโมง กินผัดเต้าหู้ขาวใส่มะเขือเทศแสนอร่อย แล้วรีบเดินทางต่อมาปากแบง ถึงปากแบงเลยห้าโมงครึ่งเล็กน้อย อ้ายคำม้าวรีบลากลับบอกว่าจะไปแวะกินข้าวบ้านหมู่ที่เมืองฮุนแล้ว รีบตีรถยาวกลับหลวงน้ำทาตีสองตีสามน่าจะถึงบ้าน วันรุ่งขึ้นต้องไปประชุมที่หลวงพระบางเป็นงานโครงการฝรั่งได้อัตรากิน(เบี้ยเลี้ยง)วันละสามสิบยูเอสขาดไม่ได้ มิตรภาพระหว่างคนเดินทางกับเจ้าถิ่นผูกพันหอมหวานไม่น้อย ผมเห็นความสำคัญของเพื่อนของเสี่ยว นี่ถ้าไม่ได้พรรคพวกติดต่อให้คงไม่ได้รับความสะดวกเช่นนี้

 

ที่ปากแบงผมพักที่สิลิลักวิลล่า ราคาห้องคืนละ ๔๐๐บาทในห้องเตรียมเทียนไขไว้ให้มีป้ายประกาศว่าจะปิดเครื่องปั่นไฟสี่ทุ่ม ปากแบงเป็นเมืองแวะพักแรมจึงคึกคักเฉพาะช่วงเย็นที่เรือเทียบท่า นักเดินทางเดินหาบ้านพักกันขวักไขว่ เดินหาอาหารเย็นทาน จนถึงสี่ทุ่มไฟดับก็เงียบสนิท ช่วงเช้าผมตื่นไปเดินตลาดสด เห็นมีปลา มีสัตว์ป่า และผักพื้นบ้านวางขายหลายชนิด

ถือโอกาสเดินแวะไปกินอาหารเช้าแบบยุโรป ตามประสาคนที่จะใกล้กลับคืนสู่ป่าเมืองหงสา แล้วเดินไปขึ้นเรือโดยสารล่องน้ำโขงมาท่าซ่วง เรือเที่ยวล่องวันนี้มีสองลำมีนักเดินทางลำละกว่าแปดสิบคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเสียร้อยละเก้าสิบ ความมาแตกว่าผมเป็นคนไทยตอนเกือบสุดท้ายของการเดินทางเพราะดันไปถามจ่ายค่าโดยสารเรือกับนายท่า ถ้าเป็นคนลาวเขาจะไปจ่ายโดยตรงกับเจ้าของเรือ เลยต้องจ่ายค่าโดยสารในราคาคนต่างชาติ เรือใช้เวลาขาล่องประมาณชั่วโมงครึ่งก็พาผมมาถึงท่าซ่วง รถโครงการมารอรับกลับหงสาตามนัดหมาย ได้เวลากลับไปทำงานเสียทีครับ หมดเวลาเที่ยวแล้ว

สวัสดีครับ  

 

 

หมายเลขบันทึก: 224321เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

ภาพสวย บรรยากาศดี เรื่องเล่าติดตาม

แล้วก็น่าตามติดไปเที่ยวด้วยครับผม

ขอบคุณครับ


Sak Yai

อยากลองกินเจ้าตัวที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ คงจะอร่อย

สวัสดีครับคุณ Pompier สวัสดีครับ kru-sci

ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาทักทาย

ลาวเหนือน่าเที่ยวครับ โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นอย่างนี้ แต่การเดินทางอาจมีปัญหาบ้างครับ การต่อรถจากที่หนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งรถมักจะจำเป็นไม่มีวิ่งในตอนบ่าย ต้องค้างคืนเสียทีหนึ่งก่อน ผมเห็นมีรถบัสที่ทำเป็นเตียงนอนสองชั้นเหมือนรถไฟตู้นอนบ้านเรา วิ่งระหว่างเวียงจันทน์คุนหมิง น่าสนใจทีเดียวครับ

ภาษาท้องถิ่นเรียกตัวที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ว่า ด้วงไม้ไผ่ครับเป็นของหายาก เวลาหาต้องเอาหูแนบลำไม้ไผ่อ่อนๆจะได้ยินเสียงดัง เพราะจะอยู่กันเต็มปล้องไม้ไผ่ รสชาดเหมือนรถด่วนหรือตัวไหมทอดครับ แต่ออกจะมันกว่า

สวัสดีครับ  เป-ลี่-ยน

  • เห็นภาพชนบทแล้วชอบมากครับ
  • มันสะท้อนถึงความรัก ความจริงใจ
  • ของเผ่าพันธ์ เทือกเขา เหล่ากอ
  • ไม่เหมือน..กรุงเทพราตรี
  • ประเทศไทย...อะไรก็ไม่รู้
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท